ไทยเบฟสร้างสถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล หนุนรายได้ให้ชุมชน

ไทยเบฟส่งมอบโครงการต้นแบบ “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” นำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนกุฎีจีน กทม., วัดมหาวัน จ.ลำพูน และโรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) เผยว่า บริษัทในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ คัดแยกและการนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่

โดยได้ผสานความร่วมมือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ส่งมอบ “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” ซึ่งเป็นสถานีต้นแบบของการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะสู่การรีไซเคิลที่เป็นการต่อยอดลงมือปฏิบัติจริง สร้างรายได้และส่งเสริมวัฒนธรรมเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ผู้บริโภคระดับในครัวเรือน วัด โรงเรียนในพื้นที่ชุมชน เริ่มที่ 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร วัดมหาวัน จ.ลำพูน และโรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยมีการส่งมอบในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“อรทัย พูลทรัพย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) กล่าวว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ได้สนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชั่น OK Recycle เพื่อใช้บันทึกข้อมูลกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ให้สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมของสถาบันกับหน่วยงานภาครัฐ จากนั้นได้ริเริ่มโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล โดยร่วมกับ TIPMSE จัดเวิร์กช็อปกับชุมชน เรื่องการจัดการคัดแยกขยะและการบริหารจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น และภูเก็ต

“ปี 2565 มีการต่อยอดจากการเรียนรู้สู่จากการลงมือทำจริง มีการส่งมอบสถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล แห่งแรกที่ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร และอีก 2 แห่งที่วัดมหาวัน จ.ลำพูน และโรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต เพื่อเป็นจุดนัดพบในชุมชนรูปแบบ ‘ตลาดนัดรีไซเคิล’ ให้ทุกคนคัดแยกตั้งแต่ที่บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ทำงานของตนเอง และนัดวันเปิดตลาดให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย

นอกจากรายได้แล้วชุมชนจะได้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคภายในชุมชนได้ด้วยตนเอง โดยสถานีทุกแห่งก็จะใช้แอปพลิเคชั่น OK Recycle ในการบันทึกข้อมูลเพื่อการติดตามการจัดการของแต่ละสถานี และเผยแพร่ผลการจัดการผ่านทางเว็บไซต์ www.bringbackrecycle.com และสถานีทุกแห่งถือเป็นจุดรับวัสดุรีไซเคิล (drop-off) 1 ใน 300 กว่าแห่งทั่วประเทศของโครงการที่เป็นต้นแบบในการจัดการภาคชุมชน ที่หวังจะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

“พรรรัตน์ เพชรภักดี” รองผู้อำนวยการใหญ่และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม เผยว่า ความสำเร็จของโครงการอยู่ที่ความร่วมมือของทุกคน โดยเฉพาะเยาวชนที่ถือว่าเป็นต้นกล้าพันธุ์ใหม่ เป็นคนที่ออกแบบกิจกรรมชุมชนในอนาคต

“ปิ่นทอง วงษ์สกุล” ประธานชุมชนกุฎีจีน กล่าวว่า ถือว่าการมีสถานีเก็บกลับ-รีไซเคิลเป็นการเริ่มต้นทำเรื่องขยะรีไซเคิลอย่างจริงจัง ทำให้คนในชุมชนรู้จักแยกขยะ และเข้าใจว่าขยะสามารถกลับเป็นตัวเงินได้

“เรากำหนดวันรับซื้อขยะและของเก่าสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน โดยจะตรวจสอบราคาจากคนที่มารับซื้อก่อนว่าตอนนี้มีการซื้อขายกันที่เท่าไหร่ เรารับซื้อเท่าไหร่ แล้วก็ขายออกไปเท่านั้น เพื่อช่วยคนในชุมชนมีรายได้”

นับเป็นการเริ่มต้นของการปลุกพลังของชุมชน ให้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ในฐานะผู้บริโภค และนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างเป็นระบบ สร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริมเป็นวัฒนธรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมความยั่งยืนสืบต่อไป