ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แบบแบ่งปรับ

แรงงาน ก่อสร้าง
Photo by Romeo GACAD / AFP
คอลัมน์ : CSR TALK
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

ช่วงเวลานี้เราท่านต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก 2 วิกฤตใหญ่ ๆ ที่มาจากโควิด และเรื่องของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดเงินเฟ้อในบ้านเราอยู่ที่ประมาณ 5% จึงทำให้ราคาน้ำมันและข้าวของราคาสินค้าแพงขึ้นมาทันใด จนกระทั่งมีการเปรียบเปรยว่าทุกอย่างขึ้นหมดยกเว้นค่าแรง

ซึ่งผมก็เข้าใจว่าผู้เกี่ยวข้อง (โดยหลักการคือ ไตรภาคี คือตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ) คงพูดคุยตกลงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำกันอยู่ว่าจะออกมาเป็นตัวเลขไหนถึงจะทำให้ทั้งลูกจ้างรับได้และนายจ้างก็รับไหว

แน่นอนแหละครับว่า ฝ่ายลูกจ้างก็อยากจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำมากเอาไว้ก่อน ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็กลัวว่าถ้าปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมากเกินไปจะทำให้รับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว เลวร้ายสุดอาจจะต้องถึงปิดกิจการ หรือบางรายก็อาจจะต้องย้ายฐานการผลิต

ผมเก็บตัวเลขสถิติค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลัง 13 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2563 พบว่าส่วนใหญ่เราปรับค่าจ้างขั้นต่ำประมาณปีละครั้งมาโดยตลอด จะมีในปี 2551 ที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน

สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ผมจึงทำตัวอย่างมาให้ดูเผื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำไปประกอบการพิจารณา ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์และทำให้ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างยังสามารถทำงานร่วมกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันตามภาพด้านล่างนี้

จากภาพนี้ผมสมมุติว่าเราตกลงว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 10%

ถ้าปรับแบบครั้งเดียว 10% จะมีผลกระทบตามตารางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบ 1 ครั้งต่อปี ซึ่งจะเกิดผลกระทบกับฝ่ายผู้ประกอบการ คือ มีผลทำให้ staff cost ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นแบบทันทีที่มีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบด้าน staff cost จากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบการมีมากกว่า 10% แต่จะมากกว่าเท่าไหร่แล้วแต่การลงในรายละเอียดด้าน staff cost ของแต่ละราย

แต่ถ้าเราเลือกวิธีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบแบ่งปรับ คือ 1) ครั้งแรก ปรับ 3% ก่อน 2) ครั้งที่สอง ปรับ 4% โดยห่างจากการปรับครั้งแรก 6 เดือน และ 3) ครั้งที่สาม ปรับ 3% โดยห่างจากการปรับครั้งที่สอง 6 เดือน รวม 3 ครั้ง ปรับ 10% ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะปรับตัวได้ดีกว่าการปรับไปรวดเดียว 10%

ทำไมผมยกตัวอย่างการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 10% ?

ตอบได้ว่าการปรับค่าจ้างแบบแบ่งปรับมักจะใช้เพื่อลดผลกระทบในกรณีที่องค์กรมีความจำเป็นต้องปรับเงินเดือนให้กับพนักงานในเปอร์เซ็นต์สูง ๆ ครับ เพราะถ้าปรับไปรวดเดียวเลยองค์กรจะรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทันทีไม่ไหวเหมือนกัน ก็เลยต้องใช้วิธีแบ่งปรับหรือปรับเป็นขยักเพื่อให้องค์กรมีเวลาปรับตัวรับการ staff cost ที่เพิ่มขึ้นจะได้หายใจหายคอได้สะดวกขึ้น

ผมเปรียบเสมือนถ้าเราต้องการขึ้นไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาแหละครับ ถ้าทำบันได้ให้เดินขึ้นไปรวดเดียว 3,000 ขั้นตรงดิ่งขึ้นไปโดยไม่มีชานพักระหว่างทาง บางทีคนที่มีศรัทธาก็อาจจะหน้ามืดกลางทางและน็อกไปเสียก่อน

แต่ถ้าทำบันไดขึ้นไปเป็นขยักเป็นสเต็ป มีชานพักระหว่างทางก็จะทำให้ผู้คนที่ศรัทธาได้มีช่วงหยุดพักเหนื่อยหายใจหายคอได้คล่องเสียหน่อยจะได้มีแรงเดินขึ้นต่อไปได้ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ แต่ถ้าเป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นเปอร์เซ็นต์ไม่สูง เช่น ไม่เกิน 5% ก็ไม่จำเป็นต้องมาแบ่งเป็นขยักอย่างที่ผมเล่ามาข้างต้นนะครับ

ถ้าเห็นว่าความคิดเห็นนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และทำให้ win-win กันก็แชร์ไปได้เลยนะครับ ไม่ต้องขออนุญาต