มธ.สร้าง EECmd พัทยา ต้นแบบเมดิคอล วัลเลย์ ประเทศไทย

แพทย์
Photo by Online Marketing/unsplash

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กำลังขับเคลื่อนภารกิจสร้าง มธ.ศูนย์พัทยา ให้เป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์พัทยา” หรือ “EECmd” ด้วยแนวคิด “เมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนส” (Thammasat Pattaya : The Health and Wellness Innopolis) ที่บูรณาการความเป็นเลิศทั้งด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บนพื้นที่ 584 ไร่ ณ ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ล่าสุด มธ. จัดงาน THAMMASAT EECmd Vision “Now and Next” พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรด้านการแพทย์และวิศวกรรมกลุ่มอุตสาหกรรม HealthTech ทั้งภาครัฐ และเอกชน จำนวน 25 หน่วยงาน เพื่อผนึกกำลังส่งเสริม EECmd เพื่อเป็นต้นแบบเมดิคอลวัลเลย์ (medical valley) แห่งแรกของประเทศ

“รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า EECmd เป็นหนึ่งในโครงการของ มธ. ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ และสุขภาพ ภายใต้จุดมุ่งหมาย Better Future Beyond Boundaries เพื่อก้าวข้ามพรมแดนแห่งความเป็นสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ผู้พัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ขณะเดียวกันยังกำหนดเป้าหมายให้ มธ.ศูนย์พัทยา เป็นสมาร์ทซิตี้ และสมาร์ทแคมปัส ขณะนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการก่อสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา เรียบร้อยแล้ว โดยสร้างให้เป็นโรงพยาบาลดิจิทัลที่มีเครือข่ายศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และให้บริการชุมชนโดยรอบพื้นที่ EEC พร้อมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมดิจิทัล

รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา, รศ.เกศินี วิฑูรชาติ, อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย, ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

การดำเนินงานครั้งนี้ มธ.ร่วมมือกับพันธมิตร 25 หน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) และพร้อมที่จะเปิดรับข้อเสนอการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การต่อยอด การพัฒนา ศึกษาวิจัย นวัตกรรมการแพทย์มิติใหม่ ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “4F” ได้แก่

F1 : future workforce สร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาการศึกษา และการวิจัย

F2 : future workplace พัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้าน digital health

F3 : future life and society สร้างคุณภาพชีวิต และสังคมแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน

F4 : future collaboration พัฒนารูปแบบความร่วมมือแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมการศึกษา การพัฒนาที่ดิน ศูนย์ความเป็นเลิศ และสตาร์ตอัพ

“รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา” รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า มธ.ศูนย์พัทยา คือพื้นที่แห่งอนาคตที่ไม่ใช่แค่แคมปัสการศึกษา แต่แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ ด้านการศึกษา, ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ, ด้านบริการ และด้านที่พักอาศัย จึงมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็น medical valley ต้นแบบของประเทศไทย

“เราจะบูรณาการสร้างระบบการแพทย์แบบครบวงจร ทั้งการผลิตบุคลากร การศึกษาวิจัย การรักษา และการส่งเสริมสุขภาพไว้ในพื้นที่เดียวกัน ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง พัฒนาโรงพยาบาลที่ทันสมัยเพื่อให้บริการชุมชนในท้องถิ่น สอง วางแผนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล และการดูแลผู้สูงวัย

สาม ศึกษาวิจัยและสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์ สี่ จัดตั้งศูนย์สุขภาพสำหรับพัฒนาและรองรับการเติบโตด้านการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยทั้งในพื้นที่และชาวต่างชาติ และห้า เป็นฐานความร่วมมือกับต่างประเทศและเอกชนเสริมความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ครบวงจร”

มธ.พร้อมเชื่อมต่อการลงทุนกับกลุ่ม HealthTech ชั้นนำระดับโลก ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อลงทุนในพื้นที่ EECmd จำนวนมาก เพราะนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเวลา 11-13 ปี อาทิ การเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้า, การหักลดหย่อนพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี

ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกิจการด้วย พร้อมกันนั้นยังมีสิทธิในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพักอาศัยในประเทศไทยพร้อมครอบครัว และสิทธิในการซื้อคอนโดมิเนียมในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 50 อีกด้วย

ดังนั้น การดำเนินงานของ EECmd จะไม่นำเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง แต่ยึดมั่นในปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มองประโยชน์เชิงสังคม แก้ความเหลื่อมล้ำของประเทศเป็นหลัก โดยโฟกัสไปที่ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกต้องได้รับประโยชน์จากการใช้บริการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา

“อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โครงการ EECmd สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มีการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ Thailand 4.0 ของรัฐบาล เห็นได้ชัดเจนว่า

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) หรือ New Engine of Growth โดยมีแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและด้านสาธารณสุข พัฒนาบุคลากรและมาตรฐานการให้บริการเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการให้บริการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับการดำเนินงาน medical hub ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อการสนองตอบต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสนับสนุน มธ. และพันธมิตร EECmd ทั้ง 25 องค์กร ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในแผนปฏิบัติราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี เพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคต และพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การวิจัย ค้นคว้า รวมถึงการต่อยอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาสนับสนุนบริการทางสุขภาพ เพื่อสู่เป้าหมายเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างแท้จริง

“ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวเพิ่มว่า พื้นที่ EECmd เป็นหนึ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ขับเคลื่อนนวัตกรรมธุรกิจ health and wellbeing

ซึ่งถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC อันสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยเป็น medical hub ดังนั้น EECmd จึงเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนที่สมบูรณ์แบบ น่าสนใจ มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน

“ตอนนี้ EEC ผลักดันให้เกิดการลงทุนกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา การขยายท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นต้น

ดังนั้นการลงนาม MOU ครั้งนี้ จึงเป็นการหลอมรวมพลังและบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทุกมิติ เพื่อสร้างเม็ดเงินลงทุนใหม่หมุนเวียนสู่เศรษฐกิจ จนนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี การต่อยอดผลิตภัณฑ์ และการเข้ามาใช้บริการของชาวต่างชาติได้ในอนาคต”

EECmd จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการพลิกบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถก้าวข้ามพรมแดนความรู้ไปสู่การแข่งขันในโลกที่ไร้ขีดจำกัด สร้างฮับที่รวมทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลดิจิทัล ศูนย์ดูแลสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ในที่แห่งนี้