เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

CNN
Jeff Zucker-Chris Cuomo
คอลัมน์ : ถามมา-ตอบไปสไตล์คอนซัลท์
ผู้เขียน : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

คงไม่มีใครไม่รู้จัก CNN ช่องข่าวดังที่ออกอากาศไปทั่วโลกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 ในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สำนักข่าวอย่าง CNN ได้ยกระดับตัวเองขึ้นมายืนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกอย่างรวดเร็ว ด้วยจุดยืนในการนำเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมาและทันต่อเหตุการณ์

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวใหญ่เรื่องการลาออกแบบปัจจุบันทันด่วนของ “Jeff Zucker” ประธานบริหารของ CNN ถือว่าเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และทรงอิทธิพลมากในวงการสื่อสารมวลชน

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เกินเลยกว่าคำว่าเพื่อนร่วมงานระหว่าง “Jeff Zucker” กับ “Allison Gollust” หนึ่งในทีมผู้บริหารระดับสูงของ CNN ที่ทำงานร่วมกันมายาวนานเกินกว่า 20 ปี ที่หลุดลอดออกมาสู่สาธารณชน และกลายเป็นประเด็นพูดคุยกันอย่างหนาหูในแทบทุกวงการ

ไม่นานหลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดเผย “Jeff Zucker” ส่งจดหมายถึงพนักงานทุกคนใน CNN ใจความว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ Allison เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในช่วงแรก ๆ หลายคนรอบ ๆ ข้างก็ขอร้องให้เขาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้

แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำ ซึ่ง Jeff ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเขา ในช่วงท้ายของจดหมายเขาได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งใน CNN โดยมีผลทันที

ผู้คนมากมายในหลากหลายวงการ ต่างวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างสนุกปาก แต่ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าประเด็นนี้ยังไม่ใช่ความผิดร้ายแรงถึงขนาดต้องประกาศลาออกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม มีข่าววงในลือกันว่าอันที่จริงคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แนะนำแกมบังคับให้ Jeff ลาออก

เพราะเขาไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และหลักในการทำงาน (Standard & Principle) ของ WarnerMedia ซึ่งเป็นบริษัทแม่และถือหุ้นใน CNN ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าพนักงานต้องไม่จ้าง หรือดูแลบังคับบัญชา (ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) บุคคลที่พวกเขามีความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย

โดยเฉพาะหากอยู่ในฐานะที่สามารถให้คุณให้โทษ หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการพิจารณาความดีความชอบ และความก้าวหน้าของพนักงานที่ตนมีความสัมพันธ์ด้วย รวมทั้งยังต้องรายงานให้ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลทราบทันทีที่รู้ว่ามีเหตุการณ์หรือความสัมพันธ์แบบที่ว่าเกิดขึ้น ซึ่ง Jeff ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กรทราบกฎเหล็กข้อนี้เป็นอย่างดี แต่กลับเป็นผู้แหกกฎเสียเอง

หลังจาก Jeff ประกาศลาออก เริ่มมีคนสงสัย และตั้งคำถามต่อไปว่าข่าวความสัมพันธ์ชนิดลับสุดยอดนี้ หลุดลอดออกมาทางไหน สุดท้ายพบว่าผู้ที่แฉเรื่องราวของนายใหญ่แห่ง CNN ไม่ใช่นักสืบมือเด็ดหรือนักข่าวหัวเห็ดที่ไหน

แต่กลับกลายเป็น “Chris Cuomo” อดีตผู้ประกาศข่าวช่วง Prime Time ชื่อดังของ CNN ที่ล่วงรู้เรื่องลับ และเข้าใจกฎเหล็กข้อนี้ของบริษัทเป็นอย่างดี จึงนำมาประติดประต่อกันได้แบบพอเหมาะพอดี จนสร้างความหายนะทั้งชื่อเสียง และหน้าที่การงานให้กับ “Jeff Zucker” ชนิดเสียผู้เสียคนไปเลย

อันที่จริงทั้ง “Jeff Zucker” และ “Chris Cuomo” ร่วมงานกันมานาน สนิทสนมกันพอสมควร เรียกได้ว่าช่วยกันปั้น CNN ให้เติบโตขึ้นมาก็ว่าได้ จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Jeff และคณะผู้บริหารตัดสินใจไล่ “Chris Cuomo” ออกจาก CNN ในข้อหาผิดวินัยอย่างร้ายแรง

เนื่องจากเขาพยายามช่วยเหลือพี่ชาย (Andrew Cuomo) อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กที่ถูกกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ จนทำให้ Chris ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับความเป็นกลาง และจรรยาบรรณของการทำหน้าที่สื่อที่ดี ที่ต้องให้ความจริงในทุกแง่ทุกมุมกับสังคม และสาธารณชน

ซึ่งนี่อาจเป็นแรงจูงใจให้ Chris ตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง และผิดกฎเหล็กบริษัทของผู้บริหารระดับสูงอย่าง “Jeff Zucker” และ “Allison Gollust” นัยว่าเป็นการเอาคืนกันคนละหมัดแบบสมน้ำสมเนื้อ

ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อยากให้ทุก ๆ ท่านไปติดตามต่อเอง แต่ที่ยกเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพราะเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ คล้ายดูหนังเรื่องเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดประมาณนั้น

แต่กระนั้น เรื่องเล่านี้ก็ให้ข้อคิดหลายอย่างสำหรับผู้นำ อาทิ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจรรยาบรรณ และจริยธรรมอย่างจริงจัง ต้องกล้าฟันผู้บริหารระดับสูงที่ทำผิดกติกา ไม่ใช่จัดการแต่ปลาซิวปลาสร้อย ส่วนปลาตัวใหญ่ปล่อยให้ลอยนวลไป

และเรื่องราวนี้อาจไม่ถูกเปิดเผยขึ้นเลย หากระบบอุปถัมภ์ในองค์กรเข้มแข็งมาก เพราะ Jeff ก็คงช่วยปกป้อง Chris ตั้งแต่แรก และ Chris ก็คงตอบแทนด้วยการไม่แฉเรื่องลับ ๆ ของ Jeff ด้วยเช่นกัน

เรื่องราวฉาวโฉ่ทำนองนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และเชื่อว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน เมื่อดูหนังดูละครแล้วก็อย่าลืมย้อนกลับมาดูตัวเองด้วย การที่องค์กรไม่มีปัญหาหรือเรื่องราวที่น่าอับอาย อาจไม่ได้แปลว่าทุกอย่างโอเค ก็เป็นได้