สมาคมวิศวกรรมเคมีฯ ผนึก GC-SCGC ยกระดับอุตสาหกรรม-ลุยลดคาร์บอน

สมาคมวิศวกรรมเคมีฯ ผนึก GC-SCGC และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ร่วมพลิกเกมอุตสาหกรรมเคมีไทย ลุยภารกิจลดคาร์บอน เพิ่มเทคโนโลยีใหม่ รับยุทธศาสตร์บีซีจี–วิกฤตการณ์โลก

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย หรือทีเช่ (TIChE) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งมีผลกระทบในมิติต่าง ๆ ต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทั้งนี้ทิศทางการแข่งขันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเคมีในปัจจุบัน

นอกจากการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และต้นทุนที่แข่งขันได้ ด้วยทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดแล้ว ยังต้องพัฒนาให้สอดรับกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อย่างเป็นระบบ

รวมถึงการลงทุนในด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของนานาประเทศที่กำลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเคมียังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตได้จากการลงทุนของภาคเอกชน ความสนใจของนักลงทุนที่เข้าลงทุนในหุ้น รวมทั้งอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีความเติบโตอย่างมากต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นวาระที่ค่อนข้างเร่งด่วนขณะนี้คือการยกระดับให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตได้แบบยั่งยืน และแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ โดยที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และจากเป้าหมายดังกล่าวสมาคม จึงได้วางทิศทางร่วมพัฒนากับภาคส่วนต่าง ๆ ไว้ดังนี้

– สร้างเครือข่ายนักเทคโนโลยีและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมเคมี ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย BCG ของชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเคมีไปสู่ NET ZERO ซึ่งมีอยู่ในกฎหมายกว่า 120 ประเทศ และรับกับที่ทั่วโลกตกลงร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายในการรับมือกับการเปลี่ยนภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้มูลค่าทางอุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม

– การเปิดพื้นที่ในการนำเสนอเทคโนโลยีทันสมัยและนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจของประเทศ

– การกระจายองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ให้กับภาคส่วนเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคนิคจากภาคธุรกิจที่เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้จากนานาประเทศ เพื่อให้แต่ละภาคส่วนสามารถนำไปใช้ได้ในการวางกลยุทธ์ กำหนดแผนงานที่บูรณาการสอดคล้องกัน

– การสร้างเครือข่ายในด้านวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์ในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ทางด้านวิศวกรรมเคมี และเคมีประยุกต์ พัฒนาขีดความสามารถทางด้านวิชาชีพของประเทศไทยให้มีความเป็นผู้นำ เพิ่มโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ และส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ปัญหาของประเทศ

นายสุรเชษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยกระแสเมกะเทรนด์โลกในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเคมีของประเทศไทย ล่าสุดจึงได้จัดตั้งนิทรรศการงานประชุมด้านวิศวกรรมเคมีและเทคโนโลยีเคมี TNChE 2022 ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ที่เชี่ยวชาญธุรกิจด้านปิโตรเคมี และเป็นหนึ่งในผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจร เพื่อเสริมสร้างทักษะวิชาชีพให้บรรดาวิศวกรเคมีและผู้ที่สนใจได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกในเรื่องนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องทางเคมีภัณฑ์

อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานทางวิศวกรรมเคมีได้พบปะ และต่อยอดการสร้างเครือข่ายกับนักเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญในวงการ รวมถึงผู้ประกอบการระดับนานาชาติที่จะนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาจัดแสดงภายในงาน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปผ่านเว็บไซต์ www.tiche.org

สำหรับนิทรรศการงานประชุม “Thailand National Chemical Engineering & Chemical Technology” หรือ TNChE 2022 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7 – 10 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็นการหลอมรวมการสร้างเครือข่ายวิศวกรเคมีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

โดยภายในงานจะมีการจัดสัมมนาในหัวข้อมิติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเคมี เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีความปลอดภัย เทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นประธานกิตติมศักดิ์ในการจัดการนิทรรศการงานประชุมในครั้งยิ่งใหญ่นี้ และรับฟังการบรรยายจากคุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รวมถึงศาสตราจารย์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส, เบลเยียม, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคอุตสาหกรรมของไทยอีกมากมาย โดยสามารถรับชมผ่านทางแฟลตฟอร์มออนไลน์ ได้อีกด้วย สนใจเข้าร่วมการประชุมออนไลน์สามารถลงทะเบียนได้ทาง www.tiche.org หรือข้อมูลเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/tiche.org