บ๊อช ปั้นงานวิจัย ใช้เทคโนโลยีเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน

บ๊อช
คอลัมน์ : CSR TALK

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนน 1.3 ล้านคนทั่วโลก โดยผลวิจัยของธนาคารพัฒนาเอเชียระบุว่า ร้อยละ 60 ของอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในแต่ละวัน ประเทศไทยมีอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต 60 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 500 ราย และ 20 รายต้องกลายเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน

ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2564 ระบุว่าประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์ประมาณ 21.7 ล้านคัน อุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ โดยมีอัตราส่วนการเสียชีวิต 3 ใน 4 ราย ทำให้ไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“บ๊อช” จึงเชื่อมั่นว่าการเพิ่มความปลอดภัยจราจรจะบรรลุผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ด้วยการใช้ข้อมูลอุบัติเหตุอย่างรอบด้าน เพื่อพัฒนาและดำเนินมาตรการปกป้องชีวิตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงไม่ใช่การคาดการณ์

“โธมัส ลิช” ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสฝ่ายการวิจัยอุบัติเหตุของบ๊อชอธิบายว่า ระเบียบวิธีวิจัยเช่นนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้รถยนต์มีความปลอดภัยมากขึ้น และสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การบังคับใช้กฎหมาย และการตอบสนองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

เพราะการจราจรมีปริมาณหนาแน่นมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตใจกลางเมือง ที่สำคัญ ยานพาหนะก็มีจำนวนมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับเป็นที่ 3 ของเมืองที่มีความหนาแน่นบนถนนสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ จนทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

ยิ่งเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ บ๊อชยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ให้สูงขึ้นอย่างมาก ด้วยระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อย่างระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบควบคุมเสถียรภาพรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และคนเดินเท้าคือกลุ่มเคราะห์ร้ายที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โดยมีอัตราส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุทางถนน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้บ๊อชเปิดตัวอีกระดับของเทคโนโลยีมาช่วยเหลือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แบบเรดาร์ (ARAS) ซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานของเทคโนโลยีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ยานยนต์ที่ใช้เซ็นเซอร์เรดาร์ อันเป็นระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ อย่างระบบตรวจจับมุมอับสายตา ที่จะช่วยเฝ้าระวังทุกทิศทางเพื่อให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถเปลี่ยนช่องจราจรอย่างปลอดภัย

กล่าวกันว่า เซ็นเซอร์เรดาร์ทำงานเหมือนดวงตาของระบบตรวจจับมุมอับสายตา ด้วยการระบุวัตถุที่อยู่ในพื้นที่ที่ยากแก่การมองเห็น เมื่อใดก็ตามที่มียานพาหนะอยู่ในมุมอับสายตาของผู้ขับขี่ เทคโนโลยีนี้จะเตือนด้วยสัญญาณภาพ

อาทิ บนกระจกมองข้าง อีกหนึ่งระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ล้ำสมัยคือระบบล็อกความเร็วแบบแปรผันหรือ ACC (adaptive cruise control) ที่ช่วยปรับความเร็วของตัวรถให้เคลื่อนที่ไปตามสภาพจราจร และรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่าร้อยละ 90 ของอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของมนุษย์ เนื่องจากมีความเสี่ยงมากมายที่ถูกมองข้าม หรือสถานการณ์ที่มีการตัดสินใจผิดพลาดบนถนน อันส่งผลให้ผู้ขับขี่ตอบสนองช้าเกินไปหรือไม่ถูกต้อง

บ๊อชจึงใช้แนวทางการดำเนินงานแบบองค์รวมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ ด้วยการผสมผสานความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทั้งหมดจากขอบเขตต่าง ๆ อย่างหลักทางกลศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงระบบเทเลเมติกส์

ทั้งนั้นเพื่อพัฒนาแนวคิดนี้ให้ก้าวล้ำ โดยจำเป็นต้องมีโซลูชั่นอย่างระบบเฝ้าระวังผู้ขับขี่ที่สามารถตรวจจับพฤติกรรมสำคัญอย่างการขาดสมาธิของผู้ขับขี่และอาการง่วงนอน นอกจากการใช้งานแอปพลิเคชั่นเพื่อความปลอดภัยที่หลากหลายแล้วนั้น

โซลูชั่นนี้ยังมีการตอบสนองต่อการสั่งการด้วยนวัตกรรมหลายแบบ อย่างการเคลื่อนไหวมือเพื่อสั่งการทำงานของระบบอินโฟเทนเมนต์โดยไม่รบกวนสมาธิ ระบบเฝ้าระวังในห้องโดยสารของยานยนต์แห่งอนาคตที่ใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ขับขี่สามารถควบคุมตัวรถในสถานการณ์ที่จำเป็น

ที่สำคัญ รายงานขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่ในปี 2561 ยังระบุว่าอุบัติเหตุบนถนนส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถึงร้อยละ 3 โดยอุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 7 ภายในปี 2573 หากไม่มีการดำเนินมาตรการที่ยั่งยืน

“โจเซฟ ฮง” กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย และประเทศลาว กล่าวว่า นอกจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ยังทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับความโศกเศร้าและการพลัดพราก

“ผลเช่นนี้ จึงทำให้บ๊อชเดินหน้าลงทุนในด้านการวิจัย และพัฒนาอย่างมหาศาล เพื่อมุ่งเน้นสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยปกป้องชีวิต ทั้งการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ และการสร้างโซลูชั่นที่ช่วยให้รถยนต์และท้องถนนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”