ผู้ประกันตน ม.33-39-40 ติดโควิด เตรียมรับเงินชดเชย ยื่นได้ภายใน 2 ปี

ชดเชย ประกันสังคม

ขาดรายได้จากการป่วยโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ สำนักประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ผู้ประกันตนทุกมาตรา ยื่นเรื่องได้ภายใน 2 ปี เช็กวิธีและเอกสารประกอบการยื่นเบิกที่นี่

วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประชาสัมพันธ์ว่า กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน จะได้รับเงินชดเชย โดยสามารถยื่นรับประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี รายละเอียดแต่ละมาตรามีดังนี้

มาตรา 33

กรณีเจ็บป่วยทุกกรณีรวมป่วยโควิด-19 รับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง หากพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30 วัน และขาดรายได้ สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ ตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วยเป็นต้นไป รับเงินทดแทน ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

เอกสารประกอบการยื่นเบิก

  • โหลดแบบฟอร์ม สปส.2-01 ที่นี่
  • ใบรับรองแพทย์ที่แพทย์สั่งหยุดงานตัวจริง
  • หนังสือรับรองนายจ้าง
  • สถิติวันลาป่วยทั้งปีที่ลาป่วย
  • สำเนาบัญชีธนาคารหน้าแรก ที่มีรายละเอียดเลขบัญชี
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport)
  • กรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อสกุลด้วย

มาตรา 39

รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน (4,800 บาท) จ่ายชดเชยให้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นแพทย์วินิจฉัยให้เป็นโรคเรื้อรังจะจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน 365 วันต่อปีปฏิทิน สูตรการคำนวณให้ใช้ฐานค่าจ้าง 4,800 ÷ 30 วัน จะได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 160 × 50% = 80 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องมีการนำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันเข้ารับการรักษา

เอกสารประกอบการยื่นเบิก

  • โหลดแบบฟอร์ม สปส.2-01 ที่นี่
  • ใบรับรองแพทย์ตัวจริง
  • สำเนาบัญชีธนาคารหน้าแรก ที่มีรายละเอียดเลขบัญชี
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport)
  • กรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อสกุลด้วย

มาตรา 40

ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือนก่อนใช้สิทธิ์ โดยสามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามทางเลือก 1-2-3 ดังนี้

– ทางเลือกที่ 1 ผู้ป่วยในที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป ได้ค่าชดเชยวันละ 300 บาท ทั้งหมดรวมกันแล้วปีละ ไม่เกิน 30 วัน / ปี

– ทางเลือกที่ 2 ผู้ป่วยที่ไม่นอนโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จ่ายค่าชดเชยวันละ 200 บาท ทั้งหมดรวมกันแล้วปีละ ไม่เกิน 30 วัน / ปี

– ทางเลือกที่ 3 ผู้ป่วยในที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป ได้ค่าชดเชยวันละ 300 บาท หรือผู้ป่วยที่ไม่นอนโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จ่ายค่าชดเชยวันละ 200 บาท ทั้งหมดรวมกันปีละไม่เกิน 90 วัน /ปี

เอกสารประกอบการยื่นเบิก

  • โหลดแบบฟอร์ม สปส.2-01 ที่นี่
  • ใบรับรองแพทย์ตัวจริง
  • สำเนาบัญชีธนาคารหน้าแรก ที่มีรายละเอียดเลขบัญชี
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport)
  • กรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อสกุลด้วย

ผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา สามารถยื่นรับประโยชน์เงินทดแทนได้ภายใน 2 ปี กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01 พร้อมแนบเอกสารที่ระบุข้างต้น แล้วส่งทางไปรษณีย์ หลังจากนั้นทางสำนักงานประกันสังคมจะเช็กเอกสารและดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีให้ โดยผู้ประกันตนสามารถเช็กสถานะการจ่ายเงินได้ที่ www.sso.go.th หรือโทร. 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง