WFH อย่างไรให้เวิร์ก ?

WFH
คอลัมน์ : เอชอาร์คอร์เนอร์
ผู้เขียน : พิชญ์พจี สายเชื้อ

เร็ว ๆ นี้ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการที่ “คุณ Eric Schmidt” อดีต CEO ของ Google ให้ความเห็นว่าเบื้องหลังการเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีความสำเร็จของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการทำงานที่ออฟฟิศ และการ work from home (WFH) ไม่สามารถทำให้ได้ประสิทธิภาพเท่ากัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานที่มีอายุระหว่าง 25 ถึง 35 ปี เพราะประสบการณ์ทำงานใสำนักงานจริงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของพวกเขา

ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจและอินเทรนด์ บริษัทต่าง ๆ เริ่มทยอยให้นโยบายในการทำงานออกมาแล้วหลังจากที่ COVID-19 ดูเหมือนจะควบคุมได้ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่รอท่า (เวลาที่ยืดยาวออกไป มีแต่ส่งผลเสีย) ลองมาดูผลการศึกษาและตัวอย่างบริษัท เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ 3 บริษัทว่านโยบายของเขาเป็นอย่างไรกันนะคะ

ผลการศึกษาของ Forrester Survey บริษัท survey ชั้นนำของอเมริกาบอกว่า 51% ของบริษัททั้งหมด มีนโยบายการทำงานแบบ hybrid คือผสมกันระหว่างทำที่ออฟฟิศกับที่บ้าน และ 15% ของบริษัททั้งหมด มีนโยบายให้ทำงานที่บ้าน และ 34% ของบริษัททั้งหมดมีนโยบายให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ จะเห็นว่าประมาณครึ่งหนึ่งใช้นโยบายแบบผสมผสาน ลองมาดูกันว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ 3 บริษัทมีนโยบายอย่างไรกันบ้าง

1) Apple เริ่มเปิดให้เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เมื่อวันที่ 11 เมษายน โดยกำหนดว่าให้กลับมาทำงานอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ที่ออฟฟิศ แม้ว่าจะถูกต่อต้านจากพนักงานบางส่วนที่ยังไม่อยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ บริษัทยังยืนยันที่จะทำตามแผนนี้ โดย “ทิม คุก” CEO ได้ออกอีเมล์ สื่อสารการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบเป็นเฟส

คือตั้งแต่ 11 เมษายน พนักงานจะเริ่มด้วยการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 1 วัน และพอถึงสัปดาห์ที่ 3 จากวันที่ 11 เมษายน ก็เป็น 2 วันต่อสัปดาห์ (ค่อยปรับให้ชินก่อน) และจะเป็น 3 สัปดาห์ต่อวันในวันที่ 23 พ.ค. โดยให้เข้ามาวันจันทร์, อังคาร และพฤหัสฯ

ส่วนพุธและศุกร์ให้เลือกได้ตามใจ โดย “ทิม คุก” ได้พูดในอีเมล์ด้วยว่าพนักงานอาจไม่ถูกใจนัก แต่พนักงานมากมายก็อยากกลับมาทำงาน ได้พบหน้าเพื่อน ๆ ร่วมงานเหมือนที่เคยเป็นมา เขาสัญญาว่าจะสนับสนุนทุกทางที่จะทำให้การทำงานเเบบ hybrid นี้เป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ยังบอกอีกว่าบริษัทยังมีนโยบายให้พนักงานสามารถเลือกทำงานได้ที่บ้านได้ถึง 4 อาทิตย์ต่อปีอีกด้วย

2) Google เริ่มเปิดให้เข้าทำงานที่ออฟฟิศ เมื่อวันที่ 4 เมษายน หลังจากที่ดีเลย์มาจากกำหนดเดิมคือ วันที่ 10 มกราคม การกลับมาครั้งนี้เริ่มจากบางออฟฟิศในอเมริกา, อังกฤษ และเอเชีย ซึ่งพนักงานที่ยังไม่พร้อมสามารถยื่นขอขยายกำหนดเวลาได้ โดยพนักงานที่กลับเข้าออฟฟิศต้องฉีดวัคซีนแล้ว (ส่วนพนักงานที่ไม่ได้ฉีดก็ต้องทำงานที่บ้านไปก่อน)

บริษัทให้พนักงานเข้าทำงานที่ออฟฟิศประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์ โดยขึ้นกับหน้าที่และแผนกด้วย จริง ๆ แล้วบริษัทก็ค่อนข้างยืดหยุ่นสำหรับพนักงาน เพราะบริษัทอนุมัติใบสมัครขอทำงานที่บ้านไปตั้ง 85% มีแค่ 15% เท่านั้นที่ไม่อนุมัติ

นอกจากนี้ Google ยังมีนโยบายให้พนักงานทำงานใน location อื่น ๆ ของบริษัทได้ถึง 4 สัปดาห์ต่อปี (ยกตัวอย่างเช่น ดิฉันเป็นพนักงานประจำที่นิวยอร์ก ดิฉันสามารถมาพักและทำงานที่สมุยได้ถึง 4 สัปดาห์ต่อปี เป็นการทำงานแบบกึ่ง ๆ vacation ดีจัง)

3) Twitter สำหรับ Twitter จะต่างจาก 2 บริษัทแรก คือให้ทางเลือกกับพนักงานจะเลือกมาทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ หรือผสมก็ได้ โดยออฟฟิศเริ่มเปิดตั้งแต่ 15 มีนาคม โดย CEO ของ Twitter บอกว่า เราให้พนักงานเลือกเองว่าจะทำงานที่ไหนก็ได้ที่คิดว่าทำแล้วมีประสิทธิภาพที่สุด รวมถึงการทำงานที่บ้านตลอดไปด้วยก็ได้

อย่างไรก็ตาม เขาได้กล่าวถึงความท้าทายสำหรับนโยบายนี้ เนื่องจากการบริหารจัดการด้านการทำงานจริงจะยุ่งยากกว่า (แบบอื่น) ยกตัวอย่างเช่น การประชุมที่มีพนักงานนั่งในห้องประชุมและพนักงานที่ออนไลน์เข้ามา (อันนี้จริงค่ะ ดิฉันเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวคิดว่าไม่ค่อย effective) แต่ข้อดีคือการให้ทางเลือกแก่พนักงาน จะทำให้เราสามารถรักษาพนักงานไว้ได้ในเวลาที่คนมักคิดจะลาออก หากต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกด้วย

สำหรับบริษัทในประเทศเรา ส่วนมากที่เห็นคือนโยบายแบบ hybrid 3/2 ค่ะคือเลือกเข้า 3 วัน และทำที่บ้าน 2 วัน โดยการวางแผนร่วมกันในหน่วยงานตามความเหมาะสมของงานว่าจะเข้าวันไหน นอกจากนี้ หลาย ๆ บริษัทเริ่มมีแนวทางอื่น ๆ

เช่น เลิกเช่าสำนักงาน และไปเช่า coworking space แทน เอาไว้ให้พนักงานมาประชุมหรือสังสรรค์กัน (ประหยัดค่าเช่าไปได้เยอะมาก) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูตามความเหมาะสมของธุรกิจบริษัทด้วยค่ะ อย่างโรงงานหลายแห่งก็กลับไปทำที่ออฟฟิศ และโรงงานตลอดเวลาก็มี

สำหรับส่วนตัวชอบแบบ hybrid เพราะเห็นด้วยกับคุณ “Eric Schmidt” อดีต CEO ของ Google ที่ว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้เหมาะกับทุกคน จำได้ว่าเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไปบ้าง เกี่ยวกับพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์ หรือประสบการณ์น้อยจะไม่เหมาะกับการทำงานที่บ้าน

เพราะพวกเขาต้องการคน coach ใกล้ชิด อีกอย่างพวกเขายังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ถ้าทำที่บ้านจะทำไปตามที่ตัวเองคิด ตามประสบการณ์ (น้อยนิด) ที่ตัวเองมี ก็จะไม่เกิดการพัฒนากับพวกเขาค่ะ