กลยุทธ์ Meta สร้างคนด้วยวัฒนธรรม Hybrid

Meta

รายงาน State of Small Business ที่จัดทำโดย “Meta” (เมตา) ฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2565 นับเป็นข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจธุรกิจขนาดเล็ก จำนวน 23,840 ราย ใน 30 ประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2565 โดยรายงานระบุว่า ร้อยละ 20 ของธุรกิจขนาดเล็กทั่วโลกต้องปิดตัวลง เป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และในบรรดาธุรกิจที่ยังคงมีการดำเนินงานนั้น ต่างปรับตัวเข้าสู่นิวนอร์มอล และมีการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น ผลสำรวจยังระบุอีกว่า ร้อยละ 81 ของธุรกิจได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน ขณะที่ร้อยละ 25 เลือกที่จะดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ มีเพียงร้อยละ 10 ที่ตั้งใจจะดำเนินธุรกิจดิจิทัลอย่างเดียว ภายหลังจากที่โรคระบาดสิ้นสุดลง

สำหรับ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และวอตส์แอปป์ กับบริษัทย่อยอื่น ๆ ได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานแบบผสมผสาน (hybrid) ที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อการทำงานที่ยืดหยุ่นมาระยะหนึ่งแล้ว

เรเชล เบอร์ตัน

“เรเชล เบอร์ตัน” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของ Meta APAC กล่าวว่า ที่ผ่านมา Meta ให้พนักงานสามารถทำงานแบบทางไกล (remote work) ซึ่งเป็นรูปแบบที่อนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากสถานที่ต่าง ๆ นอกสำนักงานของบริษัทได้ หรือสามารถทำงานจากบ้าน (work from home) ได้อย่างถาวร

โดยล่าสุด Meta มีการลงทุนระยะยาวกับรูปแบบการทำงานแบบ hybrid ซึ่งพนักงานสามารถทำงานในสำนักงานของบริษัทได้ในบางเวลา และจากสถานที่อื่น ๆ ได้ในอีกบางเวลา ไม่ว่าจะเป็นจากที่บ้าน หรือพื้นที่ทำงานอื่น โดยใช้เวลาในออฟฟิศประมาณ 50% เพราะการพบปะกันยังคงเป็นส่วนสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่เท่าเทียมกันสำหรับพนักงานทุกคน จึงต้องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ได้จำกัดสถานที่ และพนักงานสามารถเติบโตได้ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ใด ซึ่งการทำงานแบบ hybrid ยังเป็นการสร้าง talent pool รวมกลุ่มพนักงานที่เป็นคนเก่ง มีศักยภาพ ในแบบที่บริษัทต้องการจากทุกพื้นที่อีกด้วย

“การทำงานทางไกลกับการสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีชีวิตชีวาไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะ Meta เชื่อว่าเราสามารถสร้างทั้ง 2 สิ่งนี้ไปพร้อมกัน และทำให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีให้กับพนักงาน ทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมและอยากทำงาน

ยกตัวอย่างช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก เราลงทุนและนำ Workplace ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ระดับองค์กรมาปรับใช้ในการดำเนินงาน อีกทั้งยังจัดหาอุปกรณ์พอร์ทัล (portal) สำหรับวิดีโอคอลให้กับพนักงาน เพื่อให้ประสบการณ์การทำงานจากบ้านที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้พนักงานสามารถเชื่อมต่อกับทีมและครอบครัวของพวกเขาได้”

ทั้งนี้ การสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดเพื่อพนักงานในระยะยาว เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของ Meta ที่จะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างดีในสายอาชีพของตัวเอง ไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหนก็ตาม สำหรับอนาคตการทำงาน (the future of work) ของ Meta นั้น บริษัทวางแนวทางไว้ 4 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย

หนึ่ง ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเป็นอันดับแรก – คนเป็นหัวใจของธุรกิจ ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพนักงาน และความไว้วางใจกันคือศูนย์กลางของการทำงานร่วมกันที่ดี ภาคธุรกิจต้องปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายและเข้มแข็ง

สอง สร้างผลลัพธ์ที่เท่าเทียมกัน – บริษัทต้องดูแลให้แน่ใจว่าทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการแสดงความคิดเห็น สามารถมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และมีโอกาสเติบโตในอาชีพการงานไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหน

สาม ออกแบบด้วยความตั้งใจ – ต้องพิจารณาว่าจะจัดการงาน เวลา และความสัมพันธ์อย่างไร เพื่อให้สามารถคาดการณ์อนาคตได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงการแนะนำพนักงานและทีมต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการเวลาทำงานที่ต้องโฟกัส (focus time) รวมถึงการเชื่อมต่อกันเพื่อให้พนักงานทำงานให้ดีที่สุด

สี่ ทดลองและทำซ้ำ – Meta กำลังสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่คาดหวังว่าจะหาคำตอบให้กับความท้าทาย ปัญหา และโจทย์ทั้งหมดในทันที บริษัทจึงเลือกทำตามแนวทางที่ได้รับจากการเรียนรู้ และการทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าการพัฒนาจากต้นแบบและการทำซ้ำ รวมไปถึงการเรียนรู้ เป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่จุดหมายได้

“เรเชล เบอร์ตัน” กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ Meta อยู่ที่จุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อสร้างการเชื่อมต่อทางสังคมในระดับที่ล้ำหน้าขึ้น หรือที่รู้จักกันในนาม เมตาเวิร์ส (metaverse) ซึ่งมีศักยภาพที่จะช่วยปลดล็อกการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทั้งในด้านการสร้างสรรค์ สังคม และเศรษฐกิจ

การสร้างเมตาเวิร์สให้เป็นจริง ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นักพัฒนา ครีเอเตอร์ และรัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย สำหรับ Meta เรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านผลิตภัณฑ์และความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเติบโตตลอดทั้งธุรกิจ

และในขณะที่ Meta กำลังเริ่มต้นสร้างเมตาเวิร์สนั้น ความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางสูง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง VR/AR คือหนึ่งในความสำคัญอันดับต้น ๆ ของบริษัท โดยคนที่บริษัทมองหาเป็นคนที่มีแพชชั่นในการสร้างความแตกต่าง และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเมตาเวิร์ส

นอกจากการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดเพื่อพนักงานในระยะยาว Meta เรายังให้ความสำคัญกับสังคมด้วย โดยเฟซบุ๊ก ประเทศไทย (Facebook Thailand) มีการลงทุนเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลทางธุรกิจ ผ่านโครงการ Boost with Facebook Thailand ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

ด้วยทักษะดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภาพ และการขยายธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเร่งตัวขึ้นในประเทศไทย โดย Boost with Facebook เข้าถึงผู้ประกอบการกว่า 4,000 รายทั่วประเทศ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในปี 2562”

นอกจากนั้น ยังมีโครงการ We Think Digital Thailand เพื่อสร้างทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2564 ผ่านมา ในฐานะโครงการการรู้หนังสือที่เน้นการเตรียมความพร้อมให้คนไทย รวมถึงผู้คนจากชุมชนชายขอบ

ด้วยการมอบทักษะดิจิทัลที่ต้องการ (รวมถึงความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว การเอาใจใส่ และการคิดเชิงวิพากษ์) เพื่อช่วยให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ปลอดภัย มีข้อมูลข่าวสาร และเป็นไปในเชิงบวก

ที่สำคัญ Facebook Thailand ยังทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยกว่า 40 หน่วยงาน รวมทั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) กลุ่มประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และนักวิชาการในการให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรครู ผู้นำคนรุ่นใหม่และนักศึกษามหาวิทยาลัย

เพื่อให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีทักษะในการสร้างอีโคซิสเต็มออนไลน์ที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ปัจจุบันเรามีการฝึกอบรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ ครู และผู้สูงอายุกว่า 4,200 รายทั่วประเทศผ่านความร่วมมือต่าง ๆ กับโรงเรียน มหาวิทยาลัยและภาคประชาสังคม

นับว่าแนวการทำงานของ Meta จะช่วยให้ทุกคนสามารถทำงานอย่างดีที่สุดในสายอาชีพของตัวเอง ไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหนก็ตาม