อิมแพ็ค ฟาร์ม เชื่อมเกษตรกรสร้างอาหารปลอดภัย

อิมแพ็ค พอลล์ กาญจนพาสน์
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน)

แม้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่พื้นฐานของทุกชีวิตคือต้องการอาหารที่ปลอดภัย มีประโยชน์ และปลอดจากเชื้อโรค กอปรกับการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อช่วง 2 ปีผ่านมา ยิ่งส่งผลให้เรื่องอาหารการกินที่มีความปลอดภัยมีความสำคัญมากขึ้น

ดังนั้น ในฐานะที่ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีแลนด์ (BLAND) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่ต้องต้อนรับแขกปีละกว่า 10 ล้านคน ทั้งผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงาน จึงทำให้บริษัทมีบทบาทในการให้บริการด้านอาหารแก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้ต้องให้ความสำคัญ และใส่ใจเรื่องของอาหารมากขึ้น

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “บีแลนด์” เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “อิมแพ็ค ฟาร์ม” เพื่อส่งตรงผัก และผลไม้ออร์แกนิกจากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.เชียงใหม่ ถึงบ้านของลูกค้าทั่วประเทศ ทั้งยังสามาถสั่งล่วงหน้าผ่านช่องทางเว็บไซต์ Impact Yummy และไลน์ @impactmuangthong

นอกจากนี้ ยังนำผลผลิตมาต่อยอดในร้านอาหารในเครืออิมแพ็ค และอิมแพ็ค แคเทอริ่ง ด้วยการนำวัตถุดิบจากฟาร์มมารังสรรค์เมนูผัก และผลไม้ เพื่อเพิ่มความอร่อย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น

“พอลล์ กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของอิมแพ็ค ฟาร์ม เกิดจากความต้องการส่วนตัวที่อยากให้ครอบครัวรับประทานผลผลิตที่สะอาดและปลอดภัย

ทั้งยังมีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัญหาสารเคมีที่ตกค้างในผัก และผลไม้จากการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว

“เราจึงเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (organic) จนได้พบกับครูประทุม สุริยา เกษตรกรผู้มุ่งมั่นทำเกษตรอินทรีย์ แห่งศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่สวนครูประทุม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จนมีแนวคิดทำงานร่วมกัน

โดยเริ่มต้นเมื่อ 2 เดือนผ่านมา เพื่อมุ่งไปที่ประโยชน์ 2 ด้าน คือหนึ่ง ช่วยสนับสนุนและสร้างรายได้ให้เกษตรกร สอง ส่งมอบอาหารสะอาดและปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ที่สุดจึงเกิดเป็นโครงการเพื่อสังคมภายใต้ชื่ออิมแพ็ค ฟาร์ม”

โดยบริษัทจะทำหน้าที่รับซื้อผัก และผลไม้จากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 500 กิโลกรัมจากเกษตรกรแล้วมาส่งที่อิมแพ็คทุกวันอังคาร และวันศุกร์ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 69 ราย สำหรับผลผลิตที่นำมาจำหน่ายภายใต้โครงการอิมแพ็ค ฟาร์ม มีหลากหลาย

เช่น ผักสลัด, บ็อกฉ่อย, จิงจูฉ่าย, คะน้าใบหยิกสีม่วง, มะเขือม่วงจาน, ไข่ผำ, อะโวคาโด, ฝรั่ง, ส้มโอ เป็นต้น โดยเราจะใช้เป็นวัตถุดิบในการรังสรรค์เมนูต่าง ๆ ภายในร้านอาหาร และแคเทอริ่งเครืออิมแพ็ค 29 ร้านภายใต้ 4 แบรนด์

ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารจีนสไตล์ฮ่องกงที่ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน และฮ่องกงสุกี้ ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นที่สึโบฮาจิ และอุวะจิมะ ร้านอาหารสไตล์ฟิวชั่นที่บรีซ คาเฟ่ แอนด์ บาร์ ร้านอาหารไทยพื้นบ้านที่ทองหล่อ เป็นต้น

โดยผักผลไม้ที่นำมาจำหน่ายนี้จะผลัดเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล ถึงแม้แนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ อาจจะไม่ได้ผลผลิตเต็มที่เหมือนกับการทำเกษตรทั่วไปที่ใช้สารเคมี แต่ทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดสารพิษ และทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากกว่า

“พอลล์” กล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลเปิดประเทศแล้วอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง โดยภาพรวมของการจัดงานประชุม และเอ็กซิบิชั่นอิมแพ็คตอนนี้อัตราการเช่า หรือใช้พื้นที่มีมากขึ้น ตอนนี้จึงพยายามเตรียมด้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น

ผมมองว่าร้านอาหารจากผลผลิตการเกษตรอินทรีย์เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ มีบริษัทรายใหญ่หลายรายมาทำตลาดด้านนี้

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ต้องการให้อิมแพ็ค ฟาร์มอยู่ในรูปของธุรกิจเป็นหลัก เพียงแค่ตั้งใจให้เป็นโครงการเพื่อสังคม ที่มีหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกผัก และผลไม้ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ กับผู้บริโภค โดยผมตั้งเป้ารายได้ธุรกิจอาหารทั้งร้านอาหาร และบริการจัดเลี้ยงของอิมแพ็ค เมืองทองธานีใน 3 ปีข้างหน้าว่าน่าจะเติบโตปีละ 3,000 ล้านบาท

ทั้งอาจจะเพิ่มศักยภาพรายได้ของธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการเพิ่มแบรนด์ หรือเพิ่มจำนวนสาขาเป็นลำดับต่อไป ซึ่งถ้าเป็นได้ตามนั้น รายได้ก็จะสะวิงกลับไปที่ชุมชน

“ประทุม สุริยา” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2552 แห่งศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่าความร่วมมือกับบางกอกแลนด์ครั้งนี้ เพราะต้องการหาคนมาสานต่อความตั้งใจในการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งต่ออาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการส่งผลผลิตที่เพาะปลูกในพื้นที่ ทั้งลำไย, กล้วย, ฝรั่ง, มะนาว, ฟักข้าว, ผักสลัดต่าง ๆ เข้าไปขายทั้งช่องทางออนไลน์ เมนูอาหารของร้านอาหารเครือข่ายอิมแพ็ค ส่วนเกษตรกรก็จะมีรายได้ตลอดทั้งปี

“จุดเริ่มต้นของการทำอาชีพเกษตรกรของผมเกิดขึ้นเมื่อปี 2538 ช่วงเรียนปริญญาโท และมีโอกาสทำวิจัยเรื่องถั่วเน่าหมัก ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการกลับมาคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตของเกษตรกรไทย พร้อม ๆ กับการตั้งคำถามว่าทำไมประเทศที่เจริญแล้วจึงมองว่าเกษตรกรคือผู้เสียสละ

ทั้งยังเป็นผู้สร้างอาหารให้แก่โลก และประชากรโลก ขณะที่อาชีพเกษตรกรในประเทศไทยกลับถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ยากจน จนเมื่อปี 2539 ผมเริ่มรับราชการครู จึงเริ่มคิดทำอาชีพเกษตรกร”

ด้วยการไปกู้เงินก้อนแรก 2 แสนบาทจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาพัฒนาที่ดิน 9 ไร่ 1 งาน สิ่งแรกที่ทำตอนนั้นคือสร้างแหล่งน้ำ ส่วนพื้นที่ที่เหลือเพาะปลูกพืชผัก 7 ไร่ เพียงแต่ช่วงแรกยังไม่ได้ตัดสินใจทำเกษตรอินทรีย์ทันที จึงทดลองทำเกษตรเคมีก่อน ผลที่ได้คือขาดทุน

หลังจากนั้นจึงเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมปรับรูปแบบการผลิตใหม่ ทั้งวิเคราะห์ ปรับสภาพดิน โดยใช้เวลาอยู่ 2 ปี ปรากฏว่าผลลัพธ์ดีมาก จึงตัดสินใจลาออกจากราชการมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัว พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

นับว่าอิมแพ็ค ฟาร์มช่วยเหลือเกษตรไทยให้มีรายได้ที่ยั่งยืน ทั้งยังส่งต่อผลผลิตปลอดภัยให้ผู้บริโภคได้บริโภคผักผลไม้ออร์แกนิกสะดวกมากขึ้น