วิกฤตท่องเที่ยวกำลังฟื้น

ฟื้นท่องเที่ยว
คอลัมน์ : CSR Talk
ผู้เขียน : รวิทัต บุณยเกียรติ

ปัจจุบันแม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังเพิ่มสูงขึ้น แต่แนวโน้มดูจะคลี่คลายโดยลำดับ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้คนในประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันเกือบจะเป็นปกติ

ในขณะที่ชาวต่างชาติทยอยกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ลงมาก ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก Thailand Pass การกักตัว หรือการตรวจเชื้อโควิด คงไว้เพียงแค่หลักฐานการฉีดวัคซีนเท่านั้น

ผ่านมาโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการศึกษาที่จำนวนผู้เข้าเรียนด้านธุรกิจบริการลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการจะฟื้นตัวขึ้นในไม่ช้า หลักสูตรปริญญาโท วิทยาลัยดุสิตธานี จึงจัดเสวนาในหัวข้อ “ปลุกให้ปัง โอกาสธุรกิจการท่องเที่ยวกำลังมา คว้ายังไงให้รุ่ง” ขึ้นในงาน Open House & Scholarship Day เมื่อไม่นานมานี้

โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากวงการการท่องเที่ยว 2 ท่านมาร่วมเสวนา ได้แก่ “คุณธเนศ ตันติพิริยะกิจ” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และ “คุณพิสูจน์ แซ่คู” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก และดำเนินการเสวนาโดย “ดร.วิลาสินี ยนต์วิกัย” คณบดีหลักสูตรไทย วิทยาลัยดุสิตธานี

“คุณธเนศ” กล่าวว่าภูเก็ตมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวกว่า 95% จึงทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด ถึงขั้นต้องปิดเกาะ ภาคแรงงานทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา รายได้ประชากรลดลงฮวบฮาบ แต่ด้วยการรู้จักปรับตัว และความร่วมใจทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ จึงเกิดโครงการ Phuket Sandbox ขึ้น ซึ่งช่วยพยุงสถานการณ์ไว้ได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้ค้นพบว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกกลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใส่ใจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น เพราะพวกเขาเชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคเกิดจากการที่คนเราเบียดเบียนทรัพยากรต่าง ๆ ของโลกมากเกินไป จึงต้องการหาทางชดเชยให้กับธรรมชาติ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ

เช่น การปลูกป่า และการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยว ทำให้อุตสาหกรรมต้องหันมาออกแบบการท่องเที่ยวให้เหมาะสม เช่น โรงแรมที่ประหยัดพลังงาน การจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวให้ตอบสนองพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

“คุณธเนศ” ยังเผยว่าจากผลสำรวจพบว่า กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากมา workation นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพในเรื่อง medical & wellness ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์ทางเลือก รวมไปถึงเรื่องศัลยกรรมที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ด้อยไปกว่าเกาหลี

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในเรื่องเหล่านี้ พร้อมทั้งย้ำว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาลนั้นมาถูกทางแล้ว เพราะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาเติบโตได้ดี อีกทั้งยังกระจายรายได้ไปสู่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องใน ecosystem ด้วย

ด้าน “คุณพิสูจน์” แสดงทรรศนะว่าโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้การท่องเที่ยวเกิดปัญหาทั้ง 2 ขา คือ ทั้งประเทศต้นทาง และปลายทาง ต่างจากวิกฤตการณ์ครั้งอื่น ๆ เช่น สงคราม หรือเมื่อครั้งโรคซาร์สระบาดที่จะเกิดปัญหาเพียงแค่ขาใดขาหนึ่ง และด้วยความที่การท่องเที่ยวชะงักงันมานานกว่า 2 ปี ทันทีที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ผู้คนจะเริ่มออกเดินทางกันมากขึ้น เพราะรอคอยมานาน

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเฉพาะทาง อาทิ การจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเฉพาะให้กลุ่ม LGBTQ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังการจับจ่ายสูงมาก หรือการอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าพักด้วยได้ รวมไปถึงนโยบายเช็กอินเมื่อไรก็ให้เช็กเอาต์เมื่อนั้น เป็นต้น

“คุณพิสูจน์” ยังเห็นด้วยกับ “คุณธเนศ” ที่ว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวให้ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากเดิมที่มักอยากจะใช้ห้องพักให้คุ้มค่าที่สุด ก็เปลี่ยนเป็นว่าใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะว่านอกจากการปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ แล้ว ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย

ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่น การจัดมหกรรมกีฬา การสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ เพราะปัจจุบันคนเราไม่ได้ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวเท่านั้น แต่นิยมตรวจเช็กร่างกายก่อนไปท่องเที่ยวต่อ

ขณะที่ “ดร.วิลาสินี” ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนาแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ ๆ อย่าง daycation, workation ตรงนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะการท่องเที่ยวจะไม่จำกัดอยู่แค่วันหยุดเหมือนในอดีตอีกต่อไป

“คุณธเนศ” และ “คุณพิสูจน์” ยังเน้นย้ำด้วยว่า หากไม่มีวิกฤตการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นตัวภายในปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะไม่เท่าช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ขณะนี้ธุรกิจต่าง ๆ จึงเร่งหาผู้ร่วมงานมาสนับสนุนการกลับมาเติบโตของภาคการท่องเที่ยว

ดังนั้น การศึกษาด้านธุรกิจบริการจึงยังคงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เรียนทางด้านนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสดี เพราะหลังจากเรียนจบ จะมีงานรองรับในทันที