7 วิธีในการรักษาคนเก่งคนดี

ทรัพยากรบุคคล ธุรกิจ จัดการ
คอลัมน์ : ถามมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลต์
ผู้เขียน : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

หลังจากโควิดกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกเรา ทุกคนก็เริ่มหันมาใช้ชีวิตตามปกติกันมากขึ้น หลาย ๆ บริษัทเรียกพนักงานกลับมาทำงาน ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารอยากให้พนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศบ้าง แต่พนักงานจำนวนไม่น้อยคุ้นชินกับการทำงานจากบ้านที่มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาและการเดินทางเสียแล้ว

เมื่อความต้องการขององค์กรกับของพนักงานไม่ตรงกัน ทำให้พนักงานหลายคนตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกไม่ค่อยสะดวก ประกอบกับช่วงโควิด รายได้ไม่พอรายจ่าย หลายคนจึงหันไปหาอาชีพเสริมซึ่งเริ่มสร้างรายได้ให้มากขึ้นแล้ว

ความท้าทายจากนี้ไปคือทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาพนักงานเก่ง ๆ เอาไว้กับองค์กรให้ได้ วันนี้มีเทคนิค 7 ประการมาฝากครับ

หนึ่ง ต้องรู้ว่าพนักงานมีเป้าหมายอะไร : ขั้นตอนแรกในการทำให้พนักงานมีรู้สึกความผูกพัน และพร้อมที่จะเติบโตไปกับองค์กรคือการทำความเข้าใจเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาให้ชัดเจน จากนั้นจึงจับคู่เป้าหมายของพนักงานให้เข้ากับความต้องการขององค์กร

สอง แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโต : พนักงานส่วนมากลาออกจากองค์กรเพราะความไม่ชัดเจนของโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ฉะนั้น ผู้นำต้องทำให้พวกเขาเห็นหนทางที่จะเติบโตก้าวหน้า อย่างน้อยก็ในช่วงเวลา 3-5 ปีจากนี้ไป

สาม ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วม : ผู้นำควรสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ บริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเปิดโอกาสให้พนักงานเสนอความคิดใหม่ ๆ เพื่อนำไอเดียนั้นไปเข้าแข่งขันในรายการทีวี Shark Tank เพื่อขอรับเงินทุนสนับสนุนจากสปอนเซอร์

จนในที่สุดความคิดเหล่านั้นก็ประสบผลสำเร็จ ได้เงินสนับสนุนหลายล้านบาทมาพัฒนาองค์กร ได้ทั้งผลงานได้ทั้งความภาคภูมิใจ เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยทีเดียว

สี่ สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ : ผู้นำที่ดีต้องสามารถสร้างผู้นำรุ่นถัดไปขึ้นมาแทนที่ตนเองได้ นั่นหมายถึงการมองหาโอกาสในการส่งเสริมให้พนักงานมีการเรียนรู้ และเติบโตอยู่ตลอดเวลา ผ่านการโค้ช (coaching) การให้คำปรึกษา (mentoring) และการพาไปทำงานด้วย (job shadowing) เป็นต้น

ห้า ป้องกันภาวะหมดไฟ : ผู้นำต้องคอยสอดส่องด้วยว่าพนักงานของเรากำลังจะหมดไฟในการทำงานหรือเปล่า และต้องหาให้เจอว่าสิ่งใดเป็นต้นตอของปัญหาเหล่านั้น จากนั้นจึงรีบจัดการแก้ไขให้รวดเร็ว ถือเป็นการดับไฟเสียตั้งแต่ต้นลม

หก ดูแลค่าตอบแทนและผลประโยชน์ให้ดี : แม้เงินจะไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เงินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทำงาน หน้าที่ของหัวหน้าคือดูแลความเป็นอยู่ ผลตอบแทนและสวัสดิการของพนักงานให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและผลงานที่มี พนักงานหลายคนตัดสินใจลาออกจากองค์กรไม่ใช่เพราะเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะผลประโยชน์และการดูแลในเรื่องอื่น ๆ ด้วย

เจ็ด ใส่ใจกับสิ่งที่พนักงานต้องพบเจอในแต่ละวัน : หน้าที่สำคัญของผู้นำ และองค์กรคือการบริหารประสบการณ์ของพนักงาน (employee experience) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่พวกเขาต้องพบเจอทุก ๆ วันในการทำงาน หากแต่ละวันพนักงานได้พบเจอแต่สิ่งดี ๆ ที่ทำให้รู้สึกสนุกและมีความสุข จิตใจก็จะเบิกบาน ผลงานก็ดีตาม

ในทางกลับกัน หากทุก ๆ วันพบเจอแต่ประสบการณ์แย่ ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยไม่มีการแก้ไข บรรยากาศการทำงานที่ไม่สร้างสรรค์ ผลงานก็ย่อมไม่ดี ความสุขก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หัวหน้าจึงต้องคอยสอดส่องประสบการณ์ของพนักงานอยู่เสมอ ๆ

การเก็บรักษาพนักงานที่ใช่ไว้กับองค์กรไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องเริ่มต้นให้ถูกจุดเท่านั้น