ตามรอย หลวงปู่มั่น เศรษฐกิจหมุนเวียนจากแรงศรัทธา

หลวงปู่มั่น

ความศรัทธาต่อ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ไม่เพียงเป็นพระอริยสงฆ์ทางด้านวิปัสสนาที่ตั้งมั่นอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด หากยังเป็น “พระอาจารย์” ต้นแบบที่ทำให้พระภิกษุสงฆ์ในภาคอีสานสมัยนั้น จนถึงสมัยนี้ต่างยึดมั่นในวัตรปฏิบัติ

เพราะหลังจาก “หลวงปู่มั่น” บวชอีกครั้งในคำรบสอง เมื่ออายุ 22 ปี ณ วัดศรีทอง จ.อุบลราชธานี จากนั้นจึงย้ายมาเรียนทางด้านวิปัสสนากับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี จนมีความรู้ในระดับหนึ่ง หลวงปู่มั่นจึงออกวิปัสสนาธุระไปตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อศึกษาธรรมะเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังออกธุดงค์ไปตามป่าเขารกชัฏเพื่อฝึกจิต และสมาธิ จนทำให้มีปฏิปทาพอที่จะอบรมศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก กระทั่งทำให้ชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นขจรขจายไปทั่วภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง จนเมื่อถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 หลวงปู่มั่นก็ละสังขารอย่างสงบ และในวันที่ 30 มกราคม 2493 คณะศิษยานุศิษย์จึงจัดงานประชุมเพลิง ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

สิริรวมอายุ 80 ปี

จากนั้นในเวลาต่อมา องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์สายวัดป่ากรรมฐานเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ในปี 2563-2564 ที่สำคัญ รัฐบาลยังกำหนดให้มีกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาล (20 มกราคม 2563) เมื่อปี 2563-2564

ดังนั้น การที่ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เป็นผู้มีคุณูปการสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิสิริวัฒนภักดี จึงร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดให้มีโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อเชิญชวนประชาชนเดินทางเข้าไปศึกษาชีวประวัติ วัตรปฏิบัติอันงดงาม และปฏิปทาคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ใน 12 จังหวัด 36 หมุดหมายทั่วประเทศ

เพื่อให้เกิดการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวทางหลักคำสอน และวัตรปฏิบัติ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังนำไปปฏิบัติสืบไป ขณะเดียวกันก็เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

อดิศักดิ์ เทพอาสน์

“อดิศักดิ์ เทพอาสน์” ประธานคณะทำงานโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จริง ๆ โครงการดังกล่าวเกิดจากแนวความคิดของ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ที่จัดทำโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

“พอดีปีดังกล่าวนับเป็นปีที่สำคัญของวงการพระสงฆ์ไทย เพราะยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยท่านถือเป็นพระอริยสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่อง ไ

ทยเบฟจึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ประชาชน และพุทธศาสนิกชนเข้าไปศึกษาคำสอนอันดีงาม เนื่องจากท่านถือเป็นต้นแบบให้กับพระภิกษุสงฆ์ และฆราวาสอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และการภาวนาเจริญสมาธิ”

เพราะท่านจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ และภาคกลาง รวมถึงประเทศใกล้เคียงด้วย ซึ่งสถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราว และญาณหยั่งรู้อันน่าอัศจรรย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมขององค์หลวงปู่มั่นที่มีคุณค่าอย่างยิ่งแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริม และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จัดทำใน 12 จังหวัด 36 หมุดหมายทั่วประเทศ เนื่องจากทุกจังหวัด และทุกหมุดหมายล้วนมีความสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร, ลพบุรี, นครนายก, เชียงใหม่, อุบลราชธานี, นครพนม, สกลนคร, อุดรธานี, หนองคาย, เลย, หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

นอกจากนั้น โครงการดังกล่าวยังยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่าง บ้าน, วัด, โรงเรียน ภายใต้หลัก “บวร” โดยพัฒนามาเป็น บริษัท วิสาหกิจชุมชน ราชการ (บ.ว.ร.2) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ของชุมชนจากโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าชุมชน ร้านอาหาร โฮมสเตย์ ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ของที่ระลึก กระทั่งพัฒนาต่อยอดให้มีวิสาหกิจเพื่อสังคมในอนาคต

ฆรณี แสงมณี

แต่กระนั้น ก่อนที่พุทธศาสนิกชนจะเดินตามรอยเส้นทางธรรมขององค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในสถานที่ต่าง ๆ “อดิศักดิ์” อยากขอเชิญชวนให้ทุกคนมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เสมือนเป็นการปูพื้นความรู้เกี่ยวกับพระอริยสงฆ์ไทยในภาคอีสาน และภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

“เพราะสถานที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ของภาคเอกชนที่จัดสร้างขึ้นด้วยความรัก และความศรัทธาในพระอริยสงฆ์ของไทย ที่เจ้าของ (ฆรณี แสงมณี) พนักงานระดับบริหารของไทยเบฟ มีโอกาสถวายงานรับใช้พระอริยสงฆ์เหล่านี้ ทั้งเมื่อคราวที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ หรือมรณภาพไปแล้ว จนทำให้เธอเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จนนำมาสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ในที่สุด”

“ฆรณี” กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า จริง ๆ ตัวเองเป็นพนักงานไทยเบฟที่จังหวัดอุดรธานี และมีโอกาสทำงานรับใช้พระอริยสงฆ์อยู่หลายรูป จนมีความศรัทธาในพระอริยสงฆ์เหล่านั้น กระทั่งเมื่อปี 2540 คณะกรรมการวัดต่าง ๆ จึงมอบอัฐิธาตุ, เกศา และอังคารของเหล่าอริยสงฆ์ให้ดิฉัน ตอนแรกก็แค่เก็บมาไว้บูชา แต่ตอนหลังเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

“กอปรกับสิ่งที่ได้มา ปรากฏเป็นอัฐิธาตุ, เกศาธาตุ และโลหิตธาตุ จนทำให้ดิฉันรู้สึกแปลกใจ และตอนหลังมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้น่าจะมากกว่า 1,000 องค์แล้ว ทั้งในส่วนของพระอริยสงฆ์ที่ละสังขารไปแล้ว กับที่ยังมีชีวิตอยู่

ดิฉันจึงเกิดความคิดที่อยากจะทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา เพื่ออยากให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ๆ มาศึกษาหาความรู้ เพราะอุดรธานี และหลายจังหวัดทางภาคอีสานเป็นศูนย์ความรู้ทางด้านวัดป่าสายกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และศิษยานุศิษย์จำนวนมาก”

จนที่สุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเปิดอย่างเป็นทางการ และภายในพิพิธภัณฑ์จะมี อัฐิธาตุ, เกศาธาตุ และโลหิตธาตุของพระอริยสงฆ์ต่าง ๆ อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป, หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่อินทร์ถวาย สันตุสสโก เป็นต้น รวมถึงพระรูปเหมือนพระอริยสงฆ์จำนวนมาก

ที่สำคัญ อีกห้องหนึ่งคือห้องบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่อยากให้ทุกคนเข้ามากราบขอพรด้วย

“อดิศักดิ์” กล่าวอีกด้วยว่า สำหรับการตามรอยเส้นทางธรรมขององค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาจมีหลายสถานที่ด้วยกัน แต่ที่อยากให้พุทธศาสนิกชนมีโอกาสเยี่ยมชม และมีโอกาสศึกษาเรื่องราวแต่หนหลัง ครั้งหลวงปู่มั่นเริ่มบวช และจาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ วัดป่าโนนนิเวศน์, วัดป่าโนนสว่าง, วัดป่าหนองกอง, วัดป่าสาระวารี (วัดป่าดงมะไฟ) รวมถึงผาแดง-น้ำตกยูงทอง

ซึ่งว่ากันว่า หลวงปู่มั่นจาริกแสวงหาสถานที่วิเวกในพื้นที่อำเภอนายูง-น้ำโสม และได้พบที่สงัด ซึ่งมีลักษณะภูเขาสูง มีหน้าผาหินทรายที่สูงชันเป็นเงื้อมผา และชะโงกหิน นอกจากนั้นกล่าวกันว่า บริเวณผาแดงยังมีหลืบถ้ำเล็ก ๆ ซึ่งท่านได้เลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่วิปัสสนากัมมัฏฐาน

จึงนับว่าโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามรอยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ทางบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนที่นับถือ “หลวงปู่มั่น” และพระศิษยานุศิษย์ หากจะยังเกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบของวัดต่าง ๆ ที่ “หลวงปู่มั่น” จาริกไปตามที่ต่าง ๆ ด้วย


จนทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง