“เอสซีจี” ชวนพลังรุ่นใหม่ ปลูกหญ้าทะเล-ร่วมลดโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ไม่เพียงแค่ทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น แต่ยังเป็นสัญญาณบอกว่าโลกกำลังป่วย ทั้งอากาศเป็นพิษจากฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้ต้องสูดลมหายใจอย่างหวาดระแวง อากาศร้อนรุนแรง หนาวยาวนาน ฝนตกผิดฤดู และป่าเขา, ท้องทะเลเริ่มจะแปรสภาพ

“เอสซีจี” เล็งเห็นว่าวิกฤตโลกร้อนเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข จึงดำเนินการปลูกและฟื้นฟูพื้นที่ป่า ทั้งป่าบนบก ป่าชายเลน และหญ้าทะเล โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชนผ่านโครงการปลูกต้นไม้ต่าง ๆ มาโดยตลอด สอดคล้องแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ESG (environmental, social and governance)

โดยล่าสุดชวนคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลกร่วมทริป “ใคร Make Change-ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง” ณ ชุมชนมดตะนอย อ.กันตัง จ.ตรัง แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในไทย เพราะหญ้าทะเลเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดโลกร้อนได้มากกว่าการปลูกต้นไม้บนบกสูงสุดถึง 35 เท่า แต่ว่าปัจจุบัน หญ้าทะเลมีไม่มาก เพราะถูกคุกคามจากมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์

วีนัส อัศวสิทธิถาวร
วีนัส อัศวสิทธิถาวร

“วีนัส อัศวสิทธิถาวร” ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่าการปลูกต้นไม้เป็นวิธีง่ายที่สุดในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้บรรเทาลง โดยการปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม CO2/ปี แถมยังช่วยผลิตออกซิเจนได้เพียงพอสำหรับ 2 คน/ปี ทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิรอบพื้นที่ปลูกได้ 2-4 องศาเซลเซียส

เอสซีจีจึงริเริ่มโครงการ “ปลูก ลด ร้อน” โดยขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพลัง และมีแพสชั่น ที่พร้อมจะดูแลโลก ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง โดยมีทริป ใคร Make Change ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการนี้ด้วย

การปลูกต้นไม้และหญ้าทะเลจะครอบคลุมทุกพื้นที่โรงงานที่เอสซีจีตั้งอยู่และบริเวณโดยรอบ รวมถึงพื้นที่สาธารณะ โดยในปี 2564 เอสซีจีร่วมกับเครือข่ายปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อนไปแล้วรวมกว่า 160,000 ต้น ในพื้นที่ 700 ไร่ คิดเป็นการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon sink) ในระยะเวลา 10 ปี 10,000 ตันคาร์บอน

“เราเชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่สายกรีนว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการกู้วิกฤตโลกร้อน จึงชวนน้อง ๆ ร่วมทริป ใคร Make Change เพื่อปลูกหญ้าทะเลที่ จ.ตรัง เพื่อร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลงมือปลูกกับผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนชุมชนที่เป็นตัวจริงด้านการปลูกหญ้าทะเล พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจชวนคนรอบข้าง ให้ช่วยกันแก้วิกฤตโลกร้อนร่วมกันอย่างยั่งยืน”

โดยมีหลายกิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรม Learn From The Real เรียนรู้ความสำคัญและความเชื่อมโยงของระบบนิเวศหญ้าทะเล ป่าโกงกาง และสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน และเยาวชนชุมชนมดตะนอยที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

2) กิจกรรม Grow Your Plant ลงพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลและป่าโกงกางอย่างถูกวิธีเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน และ 3) กิจกรรม Nature Reconnect สัมผัสวิถีชุมชนชาวเลที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตลอดจนรับความรู้ในการสื่อสารที่ช่วยส่งต่อพลังให้คนรอบข้างร่วมเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นไปด้วยกัน

“วีนัส” กล่าวด้วยว่าการลงพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นหนึ่งในเกาะที่พบสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลอันดามัน รวมไปถึงพะยูน ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์คุ้มครองที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่นำมาซึ่งการขาดแคลนอาหารอย่างหญ้าทะเล

นอกจากนี้ สัตว์น้ำในพื้นที่ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากการจัดการขยะบนบกที่ส่งต่อมาถึงทะเล ทำให้หลายชีวิตของสัตว์ทะเลต้องสูญไปจากความเข้าใจผิดว่าขยะคืออาหาร โดยเฉพาะโฟมและขยะพลาสติก

ชุมชนบ้านมดตะนอยจึงลุกขึ้นมารักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งบนผืนดิน และใต้ผืนน้ำอย่างครบวงจร ด้วยการออกแบบการอนุรักษ์เพื่อรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพาะพันธุ์ป่าชายเลนและหญ้าทะเล เพื่อทดแทนแหล่งอาหารที่สูญเสียไป ให้สัตว์ทะเลได้มีลมหายใจอย่างยั่งยืน และการจัดการขยะ

โดยร่วมมือกันกับทุกภาคส่วน ทั้งเอสซีจี สถาบันการศึกษา ภาครัฐ ชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ เน้นดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม มีการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะในชุมชนร่วมด้วย เพื่อไม่ให้สร้างขยะตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำก็คือลงทะเล

โดยชุมชนบ้านมดตะนอยสามารถลดขยะโฟมให้เป็นศูนย์ อีกทั้งยังลดขยะทั่วไปได้ 53% ลดขยะอินทรีย์ได้ 82% ลดขยะรีไซเคิลได้ 54% ลดขยะอันตรายได้ 34% และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 30% โดยชุมชนได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 บ้านมดตะนอยจะเป็นชุมชนปลอดขยะ 100%

“ดร.เพชร มโนปวิตร” นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่มีประสบการณ์ทำงานองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อาทิ IUCN UNDP WWF-กองทุนสัตว์ป่าโลก และ WCS-สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น กำลังส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้เกิดคลื่นความร้อนใต้น้ำ และภาวะทะเลเป็นกรด รวมถึงสภาพอากาศสุดขั้วที่ทำให้เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง

หญ้าทะเล

“หญ้าทะเลและป่าโกงกางเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สามารถช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการกักเก็บคาร์บอนในราก ใบ และลำต้น รวมถึงการดักจับตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่น ๆ ซึ่งทำให้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าระบบนิเวศป่าบกถึง 4 เท่า และสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า จนได้ฉายาว่าเป็นคาร์บอนสีน้ำเงิน (blue carbon)”

การปลูกหญ้าทะเลและป่าโกงกาง จึงนับเป็นการดูแลรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทะเลอย่างครบวงจร เพื่อคืนชีวิตให้กับท้องทะเลอีกครั้ง ทั้งยังรักษาความสมดุลของชายฝั่ง ทั้งยังช่วยส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนและแนวปะการัง บรรเทาความรุนแรงจากพายุ และช่วยแก้วิกฤตโลกร้อนโดยตรง

ที่สำคัญ ยังช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าหญ้าทะเล คือบ้านของพะยูน สัตว์ทะเลหายาก จ.ตรังจึงถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน เพราะที่นี่เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างถูกวิธี


กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ยังสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมีจิตใจอนุรักษ์ ร่วมสานต่อความมุ่งมั่นกับเอสซีจี ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้าง green economy เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทาง BCG และการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ของไทยอีกด้วย