JSL ถูกเรียกพบใน 15 วัน เล็งยึดทรัพย์ 30 ล้าน หากเมินจ่ายชดเชยพนักงาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหนังสือเชิญให้ JSL พบภายใน 15 วัน และหากไม่มาพบจะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยต่าง ๆ ภายใน 30 วัน พร้อมสั่งตรวจสอบทรัพย์สินหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเตรียมสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพื่อเคลียร์หนี้ที่ต้องจ่ายให้ลูกจ้างกว่า 30 ล้านบาท

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับยื่นหนังสือจากลูกจ้างบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (JSL) ที่ขอความช่วยเหลือให้กระทรวงแรงงานเร่งติดตามสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานหลังถูกเลิกจ้าง โดย JSL ประกอบกิจการ ประเภทผลิตรายการโทรทัศน์มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 130 คน เป็นชาย 70 คน และหญิง 60 คน ซึ่งบริษัทได้แจ้งเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 89 คน เป็นลูกจ้างรายเดือนทั้งหมดให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

นายสุชาติกล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือว่าพนักงานว่า ตอนนี้ทำงานแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

1) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงสิทธิของพนักงาน และล่าสุดเมื่อวานนี้ (4 กรกฎาคม 2565) สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ได้มีหนังสือเชิญให้นายจ้างไปพบ ภายใน 15 วัน โดยปิดประกาศไว้ที่บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่มาพบพนักงานตรวจแรงงานหลังจากนี้ 15 วัน จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกคำสั่งให้นายจ้างจ่าย ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากไม่มาพบจะใช้วิธีการปิดคำสั่ง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง พนักงานตรวจแรงงานจะดำเนินคดีทางพนักงานสอบสวน โดยพนักงาน JSL ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางกฎหมายและค่าทนาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำงานเชิงลึก เพื่อตรวจสอบทรพย์สินของบริษัท JSL โดยหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่จ่ายชดเชยตามกฎหมายกำหนดก็จะมีการสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพื่อเคลียร์หนี้ที่ต้องจ่ายให้ลูกจ้างกว่า 30 ล้านบาท

ขณะเดียวกันกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแนะนำให้พนักงาน JSL ที่ถูกเลิกจ้างเขียนคำร้องเอาเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยรัฐบาลมีให้เยียวยาเบื้องต้นประมาณ 60 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ (คนละประมาณ 2 หมื่นบาท)

2) สำนักงานประกันสังคม จะเริ่มจ่ายสิทธิประโยชน์เงินทดแทน การขาดรายได้กรณีว่างงาน ในอัตรา 50% ของฐานเงินเดือน โดยไม่เกิน 50% ของ 15,000 บาท หรือได้รับไม่เกิน 7,500 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (180 วัน) และยังคงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 38 กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย ต่อไปอีก 6 เดือน โดยไม่ต้องนำส่งเงินสมทบ

3) กรมการจัดหางานได้อำนวยความสะดวกรับขึ้นทะเบียนรายงานตัวการว่างงานให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งมีผู้มารายงานตัว 59 คน นอกจากนั้น ได้รวบรวมตำแหน่งว่างใน กทม. เพื่อรองรับพนักงาน JSL

ซึ่งตอนนี้มีตำแหน่งว่างทั้งหมด 130 ตำแหน่ง ที่เป็นสายงานที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นลูกจ้างได้สมัครงานใหม่ 2 คน ในตำแหน่งครีเอทีฟ และรีไรเตอร์ และมีบริษัทต่าง ๆ ยื่นมือเข้ามารับเข้าทำงาน เช่น บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จํากัด (มหาชน) ที่แจ้งความประสงค์ว่ายินดีรับสมัครลูกจ้าง JSL ที่ถูกเลิกจ้าเข้าร่วมงาน เนื่องจากขณะนี้โฮมโปรมีตำแหน่งงานว่างกว่า 90 อัตรา และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ยังแจ้งความประสงค์ยินดีที่จะช่วยเหลือรับพนักงานในตำแหน่งสาขาการเงินการบัญชีด้วย

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยลูกจ้างและกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง JSL ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน

“ในวันนี้กระทรวงแรงงานยังได้รับการประสานจากกรมสุขภาพจิต ซึ่งต้องขอขอบคุณนายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้นำทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือลูกจ้าง คอยให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ เพื่อคลายความกังวล รวมทั้งให้กำลังใจให้ลูกจ้างสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้” นายสุชาติกล่าวตอนท้าย

นางสาวสุวรรณี ผรัชญาสัชฌการ ตัวแทนพนักงาน JSL กล่าวว่า ที่มาวันนี้อยากมาเรียกร้องความยุติธรรม พนักงานที่ถูกเลิกจ้างควรได้ค่าชดเชยต่าง ๆ ตามกฎหมายกำหนด แต่ทางซีอีโอของบริษัท ณ ตอนนั้น แจ้งว่าจะให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 16% เท่านั้น

“การมาพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานครั้งนี้ เพื่อต้องการขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย และอยากให้เป็นกรณีที่พิสูจน์ว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานสามารถคุ้มครองคนทำงานได้จริง ๆ เรื่องจะไม่หายเงียบไป

ที่ผ่านมาเรารับรู้จากบริษัทตลอดว่า บริษัทขาดทุนมาตลอด ซึ่งพนักงานเองก็ยอมรับเรื่องของการลดเงินเดือนมาก่อนหน้านี้ เพราะอยากให้บริษัทมีต้นทุนดำเนินการไปต่อได้ แต่พอถึงวันที่บริษัทจะไม่เอาพนักงานแล้ว เรากลับไม่เห็นผู้บริหารมาพูดคุยถึงความต้องการของพนักงานที่แท้จริง หรือแสดงความเสียใจกับพวกเรา ทั้งที่ผ่านมาพนักงานก็ร่วมแรงร่วมใจทำงานให้บริษัทมาโดยตลอด”