โมเดล “มูลนิธิวีวี แชร์” เชื่อมภาคธุรกิจสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร

เด็ก วีวี ซีเอสเอาร์ เอชอาร์

ขยะอาหาร (food waste) คือเศษอาหารที่เหลือจากมื้ออาหารในบ้าน หรือร้านอาหาร รวมถึงอาหารที่หลุดออกจากห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผลผลิตที่หลุดจากเกษตรกรรม จากโรงงาน ระหว่างขนส่ง ไปจนถึงในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั้งนี้ องค์การอาหารโลกประเมินว่าทั่วโลกผลิตขยะอาหารอย่างน้อย 30% จากอาหารทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 940 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย ระบุว่าในปี 2560 ไทยมีขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่มีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากเทศบาลส่วนมากไม่มีการแยกขยะ และในส่วนของ กทม.สามารถรีไซเคิลขยะอาหารเพียง 2% เท่านั้น จึงส่งผลให้เกิดอาหารเหลือทิ้ง

ขณะที่หลายคนทิ้งอาหารที่ยังกินได้ แต่ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ระบุว่ามีประชากรทั่วโลกกว่า 87,000,000 คน ต้องเผชิญความหิวโหย ดังนั้น สหประชาชาติจึงตั้งเป้าลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยในปี 2573 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่าย และการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50%

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิวีวี แชร์ (VV SHARE) จึงถูกก่อตั้งขึ้น โดยเล็งเห็นถึงปัญหา และวัตถุประสงค์หลักในการนำอาหารที่เหลือจากวงจรธุรกิจ “อาหารส่วนเกิน” (food surplus) ที่เป็นอาหารเกินจากความต้องการ และสามารถนำไปบริโภคต่อได้ แทนที่จะทิ้ง เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรืออาหารกระป๋องที่ยังสามารถบริโภคอย่างปลอดภัยไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่ต้องการอาหารเพื่อยังชีพ มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะและเพิ่มโอกาสทางโภชนาการให้กับผู้ด้อยโอกาส

ศรินทร เมธีวัชรานนท์
ศรินทร เมธีวัชรานนท์

“ศรินทร เมธีวัชรานนท์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิวีวี แชร์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย กล่าวว่าภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตและควบคุมการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลต่อระบบห่วงโซ่การผลิตอาหารมาก

“จึงเกิดแนวคิดสร้างโมเดลจับคู่ระหว่างภาคธุรกิจหรือผู้มีอาหารเหลือเฟือกับผู้ที่ขาดแคลนอาหาร เพื่อใช้ประโยชน์ของอาหารที่เหลือจากวงจรธุรกิจมาให้แก่ผู้ยากไร้ โดยส่งผ่านองค์กรที่จัดอาหารต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ยังมุ่งเน้นในการลดปริมาณขยะอาหาร และเพิ่มโอกาสทางโภชนาการให้กับผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย

นอกจากนั้น ยังสร้างให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการทำงานผ่านแอปพลิเคชั่น ผลลัพธ์ของการบริจาคคือนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ยังอยากสร้างสังคมที่มี love and care ซึ่งกันและกัน มากกว่าการบริจาคแล้วจบ”

มูลนิธิวีวี แชร์ เป็นองค์กรแรก และองค์กรเดียวของไทยที่ทำรูปแบบเป็นตัวกลางให้กับหน่วยงานผู้บริจาคอาหาร และผู้รับบริจาคมาพบกัน เส้นทางการก่อตั้งมูลนิธิมาจากการเล็งเห็นปัญหาด้วยตัวเอง โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2556 หลังจากได้ไปสร้างระบบน้ำประปาให้แก่หมู่บ้านที่ยากจนมากแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา

และได้เริ่มตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในชีวิตของมนุษย์ เพราะเมื่อเรามองผู้คนในสังคมจะเห็นว่า คนกลุ่มหนึ่งมีอาหารเหลือกินเหลือทิ้งมากมายในแต่ละวัน ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร

“ในที่สุด จึงอยากจะจัดการปัญหาช่องว่างทางสังคมด้านอาหาร แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรได้บ้าง จึงปรึกษาซิสเตอร์ แมรี่ วอลเตอร์ แซนเตอร์ นักบวชหญิง คณะอุร์สุลิน ประจำโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ว่าอยากทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์

และสรุปกันว่าเราจะก่อตั้งซุปคิตเช่น (Soup Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์ให้อาหารแก่พี่น้องคนไทยที่ต้องการอาหารเพื่อยังชีพ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ซิสเตอร์ แมรี่ วอลเตอร์ แซนเตอร์ ก็ได้ล้มป่วยและเสียชีวิต ทำให้ซุปคิตเช่นหยุดชะงัก”

จนกระทั่งเมื่อราวปี 2562 “ศรินทร” เห็นข่าวเรื่องการดำเนินมาตรการเข้มงวดในการต่อต้านขยะอาหารของประเทศฝรั่งเศส โดยออกกฎหมายกำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องบริจาคสินค้าอาหารที่ยังทานได้แก่มูลนิธิรับบริจาคอาหาร เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ หากไม่ดำเนินการจะมีโทษปรับจำนวน 3,750 ยูโร หรือประมาณ 133,293 บาท ขณะเดียวกัน ผู้บริจาคจะได้รับเครดิตภาษี 60% ของมูลค่าอาหารที่บริจาค

“แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของเราที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ จึงจุดประกายให้ลุกขึ้นมาผลักดันโครงการอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ได้รับแรงสนับสนุนจาก ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย และ ดร.มนตรี หล่อกอบกิจ ให้พัฒนาโครงการเป็นมูลนิธิ จนก่อตั้งวีวี แชร์ เป็นผลสำเร็จ และเริ่มดำเนินภารกิจครั้งแรกวันที่ 1 มีนาคม 2564”

ชื่อวีวี แชร์ (VV Share) เป็นตัวย่อ V 2 ตัว โดยคำแรกมาจาก viands แปลว่าชนิดของอาหาร และ V ตัวที่สองคือ victuals แปลว่าแหล่งของอาหาร โดยเรามีวิสัยทัศน์ในการสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันอาหารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พร้อมทั้งสร้างพันธกิจเป็นพันธมิตรกับทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างมืออาชีพ

“ศรินทร” กล่าวต่อว่าการที่เคยเป็นนักธุรกิจทำให้รู้จักเครือข่ายธุรกิจมากมาย ซึ่งหลายบริษัททางด้านอาหารสนใจมาร่วมบริจาคผ่านวีวี แชร์ ซึ่งกิจกรรมของมูลนิธิจึงริเริ่มจากการนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในหลายสาขาของห้างท็อปส์ มาร์เก็ต (Tops Market) และโลตัส (Lotus’s)

โดยทุก ๆ วันจะมีรถรับส่งอาหารที่ใกล้หมดอายุ แต่ยังสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย เช่น ผัก เนื้อสัตว์ อาหารกล่อง นม และสินค้าเพื่อการบริโภค ไปแจกจ่ายแก่พี่น้องคนไทยจำนวน 1,000 กว่าคนในชุมชนต่าง ๆ ทั้งใน กทม.และจังหวัดใกล้เคียง 54 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ 12 แห่ง ศูนย์สงเคราะห์จังหวัดเชียงราย 4 แห่ง ชุมชนจังหวัดเชียงรายอีก 31 แห่ง ชุมชนในจังหวัดสกลนคร 4 แห่ง

พร้อมทั้งมีผู้ได้รับบริจาคเงินจากมูลนิธิ 4 ราย ดังนี้ 1.เขตศาสนปกครองคาทอลิกเชียงราย 2.วัดคาทอลิกแม่พระแห่งมวลชนนานาชาติ (โครงการหยดน้ำอันชื่นใจ) จังหวัดเชียงราย 3.เขตศาสนปกครองเชียงใหม่ 4.มูลนิธิดอกไม้ป่าจังหวัดเชียงใหม่

“นับตั้งแต่ตอนเริ่มก่อตั้งวีวี แชร์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 จนถึง 31 พฤษภาคม 2565 เราสร้างอาหารได้จำนวน 137,788 มื้อ จากปริมาณอาหาร 45,081 กิโลกรัม และอาหารกล่องจำนวน 18,466 กล่อง รวมทำอาหารได้ถึง 137,704 มื้อ เพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่ยากไร้ และยังคงมุ่งมั่นที่ขยายความช่วยเหลือออกไปอย่างเต็มที่และทั่วถึง”

“พล.อ.วิชิต ยาทิพย์” ประธานกรรมการมูลนิธิวีวี แชร์ กล่าวเสริมว่ามูลนิธิวีวี แชร์ เกิดมาจากความตั้งใจที่ไม่หวังผลทางธุรกิจ และเป็นการให้และรับที่ไม่คำนึงถึงศาสนาและเชื้อชาติ ซึ่งนอกจากการบริหารจัดการเป็นตัวกลางการบริจาคอาหารแล้ว ยังรวบรวมเสื้อผ้าคุณภาพดีเพื่อบริจาคด้วย

จากการจับคู่ผู้ที่ต้องการบริจาคอาหารและผู้ต้องการรับบริจาคอาหาร พร้อมทั้งส่งมอบโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางในสังคม ทำให้เกิดความแข็งแกร่งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา จากการใช้กลไกจากส่วนเกินห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทำให้เกิดประโยชน์ในการลดการสูญเสียอาหาร โดยอาหารที่เก็บไว้สามารถช่วยชีวิตจากความหิวโหยได้ กว่า 2 ปี ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน

“ผมและคณะกรรมการมูลนิธิเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนต่างร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิอย่างชัดเจนและยั่งยืน ทำให้ผมเชื่อมั่นว่ามูลนิธิจะสามารถช่วยผู้ด้อยโอกาสอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยในปีนี้เป้าหมายของเรายังคงต้องการขยายภารกิจให้ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนเลี้ยงดูผู้ด้อยโอกาสต่อไป”

ทั้งนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด