ผู้ว่าฯ กทม.กับภาวะผู้นำ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
คอลัมน์ : HR CORNER
ผู้เขียน : พิชญ์พจี สายเชื้อ

บุคคลสุด hot ช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น ท่านผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

ดิฉันคิดว่าท่านมีคุณลักษณะของผู้นำที่ดี และน่านำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับพวกเราได้ (แต่ต้องเรียนก่อนว่า ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ มาจากการฟัง อ่าน จากที่ท่านให้สัมภาษณ์ในสื่อต่าง ๆ นะคะ ไม่ได้คุยโดยตรง) เรื่องที่หนึ่งคือการใช้เวลา หรือ time management

ท่านพูดถึงเวลาไว้น่าสนใจว่า “เวลาเป็นสิ่งที่ต้องให้คุณค่า” อย่าใช้คำว่าทำอะไรเพื่อฆ่าเวลา เพราะจริง ๆ เราไม่ได้ฆ่าเวลาคะ เวลาต่างหากที่ “ฆ่า” เรา (อันนี้ชอบมาก) ทุก ๆ นาทีที่เวลาผ่านไป เท่ากับชีวิตเราหมดไปแล้วหนึ่งนาที

ดังนั้น ถ้าเราไม่เห็นคุณค่า และทำเวลาให้มีประโยชน์ที่สุด เราก็โดนเวลาฆ่าไปเรื่อย ๆ ท่านพูดถึงการบริหารเวลาอย่างมีเป้าหมาย (หรือมี purpose) โดยบอกว่าให้นึกว่าเรามีเวลาเป็นโถแก้วของชีวิตหนึ่งโถ โดยเปรียบโถแก้วเหมือนชีวิตของเรา 1) มีหินคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต 2) มีกรวดคือสิ่งสำคัญรองลงมา

และ 3) มีทรายคือสิ่งไม่สำคัญ หรือเรื่องไร้สาระ หน้าที่เราคือเอาสิ่งสามสิ่งใส่ในโถแก้วชีวิต ซึ่งถ้าเราเอาทรายเข้าไปก่อน กรวดกับหินก็ไม่มีที่ใส่ แต่ถ้าเราเอาหินใส่ไปก่อนแล้วใส่กรวดตามเข้าไป เดี๋ยวทรายมันมีช่องว่างแทรกเข้าไปได้เอง นี่คือการจัดลำดับความสำคัญในการใช้เวลา เพื่อที่จะไม่ต้องบ่นว่า ทำไมเราไม่มีเวลาทำอะไรเลย

ดังนั้น เราต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่าหินของเราคืออะไร อะไรสำคัญในชีวิต (ซึ่งอาจมีไม่เยอะนัก) และกรวดคืออะไร ถ้าเราแยกสองเรื่องออก ก็จะเริ่มแบ่งเวลาได้ ยกตัวอย่าง หินก้อนใหญ่ในชีวิตของ “ท่านชัชชาติ” คือเรื่องสุขภาพ เพราะท่านต้องดูแลครอบครัว คนที่ท่านรัก ลูกน้อง ซึ่งแม้แต่เรื่องงานท่านยังมองเป็นเรื่องรอง เพราะท่านเชื่อว่าถ้าสุขภาพดี ครอบครัวดี การงานมันก็จะดีตามมาเอง

นอกจากนี้ ท่านยังยกตัวอย่างอีกว่าประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเวลา ทำให้เราสูญเสียโอกาสดีที่จะพัฒนาบ้านเมืองไปหลายครั้ง เช่น 1) เปรียบเทียบประเทศไทยกับสิงคโปร์ ในช่วงปี 2547-2556 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” เพราะเรามีรัฐประหาร น้ำท่วม ยุบพรรค คนเจ็บ คนตาย ซึ่งตีเป็นมูลเสียหาย 1.7 ล้านล้านบาท โดยที่เราแทบไม่มีการลงทุนทำอะไรเลย

ในขณะที่ช่วงเวลา 10 ปีเดียวกัน สิงคโปร์สร้างโครงการ Marina Bay เริ่มตั้งแต่วางแผน และก่อสร้าง ลงทุนมากกว่า 32.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และก็กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ไป

2) ถ้ายกตัวอย่างโครงการในอดีตของประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มคิดจนสร้างเสร็จ อย่างท่าเรือแหลมฉบังไทย เราใช้เวลา 30 ปี หรือสนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลา 45 ปี หรือรถไฟความเร็วสูงเราเริ่มศึกษาในปี 2537 แต่จนทุกวันนี้ เราก็ยังศึกษาอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเวลาเท่าไรนัก (จริง ๆ คือคนไทยค่อนข้างชิลนั่นเอง…คหสต.นะคะ)

เรื่องถัดไปคือเรื่องความใฝ่รู้ หรือการมี learning agility “ท่านชัชชาติ” เป็นคนที่มี learning agility สูงมาก ท่านอ่านหนังสือทุกวัน (เนื่องมาจากท่านบริหารเวลาได้ดี ทำให้ท่านมีเวลาอ่านหนังสือได้ ซึ่งการอ่านหนังสือ น่าจะเป็น หินหรือ กรวดใน โถแห่งชีวิตของท่าน)

และท่านเป็นคนที่มี growth mindset คือเปิดรับกับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับการอ่านว่า “Read what you love until you love to read” หมายความว่าตอนแรกเริ่มการอ่านเฉพาะสิ่งที่ชอบก่อน จนกระทั่งเราจะเปลี่ยนนิสัย จากอ่านเฉพาะสิ่งที่ชอบไปเป็น ชอบอ่าน (ทุกสิ่ง)

นอกจากนี้ ท่านยังให้คำแนะนำเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องการใฝ่เรียนรู้ เพื่อตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีอยู่ 2 เรื่องสำคัญคือ 1) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกจากการเติบโตแบบขั้นบันไดเป็นแบบขึ้นลิฟต์ โดยกราฟการเปลี่ยนแปลงจะตั้งชันขึ้นในระดับ 90 องศา ภายในช่วงปี 2018-2025

และ 2) ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ด้วยความจุในชิปคอมพิวเตอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุก ๆ 2 ปี หมายความว่าความสามารถและกำลังของคอมพิวเตอร์จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตลอดเวลาด้วย

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราสามารถเห็นได้ชัดที่สุด แต่สิ่งที่เราไม่ได้พูดต่อคือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป เราจะตั้งรับ ดูแลตัวเอง ดูแลพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อนร่วมสังคมของเราอย่างไร ท่านบอกว่า “เราหนีไม่ได้ และหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งโลก เมื่อหนีไม่ได้ต้องอยู่กับมัน และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ที่สุด

อย่างที่ “ชาลส์ ดาวินส์” กล่าวไว้ว่า สัตว์หรือเผ่าพันธุ์ที่อยู่รอด ไม่ใช่ตัวที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นตัวที่ปรับตัวมากที่สุด”

ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จึงสำคัญมาก

วันนี้ขออนุญาตเล่าแค่ 2 เรื่อง แต่จริง ๆ ท่านมีคุณสมบัติของผู้นำอื่น ๆ อีกนะคะที่น่าสนใจ เช่น “ความเป็นนักปฏิบัติ” จะเห็นได้ชัดเจนจากนโยบายของท่านว่าท่านไม่ใช่นักฝัน แต่เป็นนักทำ (ให้ได้) จริง มีความคิด practical และเป็นคนลงพื้นที่ เพื่อฟังปัญหาจริงและนำมาหาทางแก้ (solution) ที่เหมาะสมอย่างรวดเร็วด้วย

สุดท้ายนี้ท่านยังได้สร้างแรงบันดาลใจส่วนตัวให้ดิฉันด้วย จริง ๆ ท่านเป็นรุ่นพี่ดิฉันตอนเรียนมัธยม (สมัยนั้นท่านเรียนเก่งมาก ทั้งท่านและพี่ชายฝาแฝดได้รับบัตรเกียรติยศทุกปี ไม่มีใครไม่รู้จัก) พอมาถึงตอนนี้ได้ยินเรื่องราวการทำงาน ความขยัน ความมุ่งมั่นในการทำงานของท่าน แล้วกลับมาคิดถึงตัวเอง…

จากที่เริ่มคิดว่าคงจะค่อย ๆ ทำงานน้อยลง เพราะอายุเยอะแล้ว คงต้องเปลี่ยนแนวคิดซะแล้ว “ท่านชัชชาติ” ยังทำได้ (มาก) ขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่อายุมากกว่าเราอีก

ขอบคุณ “ท่านชัชชาติ” นะคะ