กรุงศรี เร่งลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตั้งเป้าใช้ EV ในองค์กร 30% ปี 2573

กรุงศรี เร่งลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เดินหน้าโครงการ Krungsri’s Race to Net Zero รณรงค์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์-ลดขยะกำพร้า-ปี 2573 ใช้ EV ในองค์กรอย่างน้อย 30%-โฟกัส ESG ตอกย้ำเป็นผู้นำภาคการเงินด้านความยั่งยืน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคสังคมได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกรุงศรี ในการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบเพื่อบรรลุพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นผู้นำภาคการเงินที่ร่วมรณรงค์ด้านการรักษาสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ผ่านโครงการ Krungsri Zero Waste ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นแผนพัฒนาเข้าด้วยกันกับกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย
พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย

โดยโครงการดังกล่าวได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนประสบความสำเร็จในการชดเชยคาร์บอนในสำนักงานใหญ่ และได้รับรางวัล Best Environmental Responsibility จาก Corporate Governance Asia ในปี 2562 ส่วนในปี 2563 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 8.64 ล้านkgCO2e

“ในปี 2564 กรุงศรี ได้ปักหมุดสำคัญของธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืน ด้วยประกาศวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Krungsri Carbon Neutrality Vision) ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารแห่งที่สองของไทยที่ประกาศวิสัยทัศน์ด้านนี้ชัดเจน ซึ่งในประเทศไทย ผมคิดว่ามีไม่กี่องค์กรที่ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในเรื่องนี้”

ปี 2565 ลดขยะ RDF เป็นศูนย์

นายพูนสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2565 กรุงศรีได้เริ่มโครงการ Krungsri’s Race to Net Zero เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมนั้น อย่างแรก ยังคงมุ่งลดขยะในองค์กร โดยร่วมกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างโครงการ Care the Whale แยกขยะพลาสติก รวมถึงติดตั้งเครื่องกำจัดเศษอาหารที่ธนาคารกรุงศรีสำนักงานเพลินจิตเป็นที่แรกก่อน นอกจากนั้นยังมุ่งจะลดขยะ RDF (Refuse-Derived Fuel) ซึ่งเป็นประเภทขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิล แต่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงและเผาไหม้จนหมดโดยไม่มีการนำไปสู่บ่อฝังกลบ (Zero Waste to Landfills)ได้ โดยจะลดในองค์กรให้เหลือศูนย์ภายในสิ้นปีนี้

ฉะนั้นต้องสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้คนในองค์กร รู้จัก รู้ลด รู้แยกขยะ RDF จากนั้นจะขยายแนวคิดนี้สู่วงกว้างด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรองค์กรต่าง ๆ ในการรณรงค์ลดขยะ RDF ในปี 2566 โดยจะเริ่มจากองค์กรที่ตั้งอยู่บนถนนเพลินจิตก่อน

ปี 2573 ใช้ EV ในองค์กรอย่างน้อย 30%

ทั้งนี้การที่เราจะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในปีต่อ ๆ ไป เราก็ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน โดยแผนลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573

“เราต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทางตรงหมายถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยตรง อันเป็นสาเหตุก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น การขับรถยนต์ ส่วนทางอ้อม เช่นการใช้ไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ปล่อยก๊าซออกมาโดยตรง แต่เป็นการใช้พลังงาน ดังนั้นเราจะต้องลดส่วนนี้ลง โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2573 ต้องลดการใช้น้ำมันลง คือรถหรือพาหนะที่ใช้ในองค์กรอย่างน้อย 30% ต้องเปลี่ยนเป็น EV ตอบสนองนโยบายภาครัฐที่หนุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30%

ขณะเดียวกันก็จะลดการใช้ไฟฟ้าลง ในอนาคตหากสามารถซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดได้ก็จะซื้อ นอกจากนั้นยังจะเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้”

ผนวก ESG ในกระบวนการธุรกิจ

นายพูนสิทธิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่เราต้องโฟกัส เช่น เรื่องของ ESG ที่ผ่านมาเราก็ทำมาตลอด แต่จะต้องมีการจัดระบบบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ที่เป็นเลิศ ต้องมีการผนวกมิติด้าน ESG กับกลยุทธ์ นโยบาย และเป้าหมายธุรกิจ

เช่น การวัด KPI ต่อจากนี้จะไม่ได้วัดแค่เรื่องกำไรสุทธิ หรือ NPL (Non-Performing Loan) ฯลฯ อนาคตจะมี KPI ด้าน ESG มากขึ้น พนักงานของเราจะต้องเข้าใจมิตินี้ รวมถึงจะมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการดำเนินธุรกิจธนาคาร และยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตธนาคารพาณิชย์จะต้องสามารถเปิดเผยข้อมูล เช่น หากมีการปล่อยกู้ให้ลูกค้า 2 ล้านล้านบาท ก็ต้องทราบว่าเงินที่เราปล่อยไป ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไหร่ อันนี้เป็นเรื่องยากมาก แต่เป็นความคาดหวังจากภาครัฐ จากกลุ่มนักลงทุน และประชาสังคม ซึ่งเราก็พยายามจะทำ และจะใช้มิติด้าน ESG ในการแข่งขันเชิงธุรกิจ

“อย่างไรก็ตาม เรื่อง ESG นั้นมีหลายประเด็นมาก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละองค์กรจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาทำ เมื่อก่อนเป็นเพียงทางเลือก องค์กรจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่มาตอนนี้เราเจอวิกฤตโควิด-19 บวกกับสภาวะโลกร้อน ESG จึงกลายเป็นทางรอดที่ทุกองค์กรต้องหันมาให้ความสนใจ”