น้ำตกกรุงชิง เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้กลางป่า

น้ำตกกรุงชิง
น้ำตกกรุงชิง

นับเป็นความร่วมมืออย่างดียิ่งที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป, มูลนิธิไทยรักษ์ป่า, อุทยานแห่งชาติเขาหลวง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการพัฒนา และปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนั้นเพราะเส้นทางดังกล่าวไม่เพียงมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หากยังปรากฏหลักฐานต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลุมขวาก, บันไดสามขั้น, ลานสนามบาส และถ้ำดอนเมือง

ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางธรณีวิทยา เพราะมีซากหลักฐานดึกดำบรรพ์ เศษกระดูก และเศษฟันของสัตว์โบราณอีกหลายชนิด

นอกจากนั้น ผืนป่ากรุงชิงยังเป็นป่าต้นน้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าดงดิบชื้น และดงดิบเขาที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ที่สำคัญ ยังมีความหลากหลายของพืชพันธุ์ และพันธุ์สัตว์ชนิดต่าง ๆ

มดยักษ์ปักษ์ใต้
มดยักษ์ปักษ์ใต้

โดยเฉพาะมดยักษ์ปักษ์ใต้ (มดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก), ปูภูเขา และนกหายากอีกจำนวนมาก เช่น นกพญาปากกว้าง, นกกระเต็นป่า, นกเงือก จนมีนักท่องเที่ยวต่างให้สมญาผืนป่ากรุงชิงแห่งนี้คือ “สวรรค์ของนักดูนก”

ขณะเดียวกัน น้ำตกกรุงชิงยังเป็นหนึ่งในน้ำตกที่สวยงามที่สุดในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง โดยเฉพาะน้ำตกชั้นที่ 2 หรือที่รู้จักกันในกลุ่มนักเดินป่าว่า “หนานฝนแสนห่า” ซึ่งเป็นน้ำตกที่ครั้งหนึ่งกระทรวงการคลังเคยนำภาพของน้ำตกชั้นนี้ ตีพิมพ์ลงในธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท เมื่อปี 2535

เพียงแต่ช่วงผ่านมาการเดินทางไปยังน้ำตกกรุงชิงเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งยังมีทาก และสัตว์ต่าง ๆ มากมายที่ล้วนทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเดินทาง เพราะต้องใช้เวลาเดินเท้าไป-กลับถึง 8 กิโลเมตร เป็น 8 กิโลเมตรที่ไม่เพียงจะมีทางลาดชัน หากยังต้องปีนป่ายบนที่สูงด้วย จนทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไม่สะดวก

แม้ผ่านมาอุทยานแห่งชาติเขาหลวงจะทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านมาเส้นทางดังกล่าวทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ผลเช่นนี้ เมื่อ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศล

ซึ่งก่อตั้ง และสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เข้ามาดำเนินโครงการพัฒนา และปรับปรุงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิงตั้งแต่ปี 2561

กระทั่งพัฒนาเส้นทางเดินแล้วเสร็จในปี 2563 ต่อจากนั้น จึงเริ่มพัฒนาระบบสื่อความหมาย และเนื้อหาป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทางเดินป่า พร้อมกับปรับปรุงเส้นทางเดินปูนข้ามน้ำ, ทางเดินบอร์ดวอล์กระยะสั้นอ้อมแนวหลุมยุบ, ศาลาพักระหว่างทาง 3 ศาลา, ทางเดินทรายล้าง และราวจับ

รวมถึงระเบียงถ่ายภาพ และระเบียงชมน้ำตกหนานฝนแสนห่า จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2564 ก่อนจะทำพิธีส่งมอบเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ผ่านมา

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์”
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์”

“เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า จริง ๆ แล้วโครงการพัฒนา และปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ไม่ใช่ที่แรกที่เราลงไปทำ

เพราะผ่านมาเราพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญต่าง ๆ อาทิ ในปี 2550 เราเข้าไปบุกเบิก และพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

ปี 2558 ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกมณฑาธาร อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย, ปี 2561 ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, ปี 2562 เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์,

ปี 2564 เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งผ่านมาเราทำแต่เฉพาะภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่ แต่พอปี 2560 เราจึงไปพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในภาคใต้ โดยเริ่มตั้งแต่น้ำตกพรหมโลก, น้ำตกกะโรม, น้ำตกอ้ายเขียว และน้ำตกกรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช

ฉะนั้น ถ้าสังเกตดี ๆ โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องของการดูแลรักษาป่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ควบคู่กันไปด้วย ดังจะเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ภายใต้การดำเนินงานของเอ็กโก กรุ๊ป

ซึ่งเราพูดเสมอว่าเราไม่ใช่แค่ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่จะต้องสร้างแวลูอื่น ๆ ขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน และชุมชนรู้สึกหวงแหนพื้นที่ของตน เพราะเราไม่สามารถลงไปทำพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากเรามีทรัพยากรบุคคลค่อนข้างจำกัด

ยกตัวอย่างอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เรามีทรัพยากรบุคคลที่มาจากกลุ่มเยาวชนต่าง ๆ ที่เคยทำงานร่วมกับเรามาก่อน คนเหล่านี้ล้วนเป็นแรงสนับสนุนที่มีใจล้วน ๆ ขณะที่เราเองต้องการเพาะพันธุ์กลุ่มเยาวชนพวกนี้ เพื่อให้พวกเขาช่วยกันรักษา และปกป้องผืนป่าต้นน้ำบ้านเกิดของเขา เพื่อต่อยอดให้พวกเขามีอาชีพต่อไป ไม่ว่าจะเป็นมัคคุเทศก์ หรืออื่น ๆ

“อีกอย่างผมเชื่อว่ากลุ่มเยาวชนพวกนี้เริ่มเติบโต และต่อไปจะมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ผมเชื่อว่าพลังเหล่านี้จะเข้มแข็งขึ้น ที่สำคัญ เรามีโรงไฟฟ้าขนอมอยู่ใกล้ ๆ และที่นั่นก็มีกลุ่มเยาวชนที่เข้มแข็ง ซึ่งพวกเขาจะมาช่วยขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ทั้งนั้นเพราะเอ็กโก กรุ๊ปมีความเชื่อตลอดมากว่า 30 ปีว่าต้นทางที่ดีจะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี”

มานนีย์ พาทยาชีวะ
มานนีย์ พาทยาชีวะ

“มานนีย์ พาทยาชีวะ” เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวเสริมว่า ตลอดเวลาหลายปีเราระดมความคิดเห็นจนนำไปสู่การปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติจนกระทั่งแล้วเสร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต่อยอด และพัฒนาต่อคือการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “กรุงชิง Virtual Nature 360 องศา”

เพื่อให้นักท่องเที่ยว และผู้สนใจสามารถเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศา โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งตรงนี้จะฉายภาพรวม ๆ ของน้ำตกกรุงชิงในมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“นอกจากนั้น เราทำป้ายสื่อความหมายทั้งหมด 13 จุด เพื่ออธิบายความถึงสิ่งที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสเจอะเจอพันธุ์พืช และสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงสภาพโดยรวมของผืนป่ากรุงชิงตลอดเส้นทางของการเดินทางไป-กลับตลอด 8 กิโลเมตร ที่ไม่เพียงจะมีคำอธิบายเป็นภาษาไทย หากยังมีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษด้วย

ที่สำคัญ เรากำลังพัฒนาป้ายสื่อความหมายเหล่านี้ให้มาอยู่ในแอปพลิเคชั่น ดังนั้น นักท่องเที่ยวคนไหนไม่อยากรอมัคคุเทศก์เพื่อฟังเป็นกลุ่ม ๆ สามารถเปิดแอปพลิเคชั่นเพื่อฟัง และดูก่อนที่จะเดินล่วงหน้าไปก่อนได้เลย”

ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง

“ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าเราทำงานกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ตั้งแต่ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่ได้ประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และประเทศไทยโดยรวม

ผมอยากบอกว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติเล็ก ๆ เหล่านี้ มีองค์ประกอบที่ทำให้ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือทุกคนที่อยู่ในแวดวงนักสื่อความหมาย หรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยวช่วยเข้ามามีส่วนร่วมกับความสำเร็จตรงนี้

“เพราะก่อนมา ผมรับฟังองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน และจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จนพบว่ากระบวนการในการสร้างความมีส่วนร่วม มีการประชุมกันถึง 23 ครั้ง ซึ่งผลจากการประชุมที่จริงจังอย่างนี้ ผมจึงอยากนำประสบการณ์ของพวกเขาไปให้กับเจ้าหน้าที่อุทยาน และหัวหน้าอุทยานอื่น ๆ ให้ดำเนินการตามเส้นทางเหล่านี้ด้วย ดังนั้น เมื่อหันกลับมาดูน้ำตกกรุงชิงจะพบว่าที่นี่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

ฉะนั้น การที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าใช้เทคโนโลยีในการสร้างจิตสำนึกมาช่วยรักษานิเวศบริการของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จึงมีประโยชน์มหาศาล และไม่เฉพาะแต่คนนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่จะมีประโยชน์กับนักท่องเที่ยวชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย เพราะจะได้รับข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์อย่างทั่วถึง”


อันล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ “เอ็กโก กรุ๊ป” มุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง