SeaChange®+นวัตกรรม กุญแจสำคัญ TU สู่ความยั่งยืน

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ไม่เพียงเป็นองค์กรระดับโลกที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนตลอด 4 ทศวรรษ หากยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กันกับการพัฒนาแบรนด์ เพื่อให้เกิดการสอดรับกับการดำเนินธุรกิจในระดับสากล

เพราะรูปแบบของธุรกิจดังกล่าวเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานหลายอย่าง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ตลอดระยะเวลา 40 ปี บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จึงดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามลำดับของ “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มองว่า 40 ปีผ่านมา มีเรื่องราวที่น่าจดจำอย่างมากของบริษัท ทั้งเต็มไปด้วยความสำเร็จ และมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ที่เป็นความมุ่งมั่น และความพยายามของเราในเรื่องความยั่งยืนและนวัตกรรม

“เมื่อผมพูดถึงความสำเร็จเหล่านี้ ผมมักนึกถึงสุภาษิตที่ว่าเราไม่ได้รับโลกนี้เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ แต่เราได้ยืมโลกนี้มาจากลูกหลานของเรา โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายความยั่งยืนของบริษัทที่เรียกว่า SeaChange® ที่มีการประกาศไปเมื่อปี 2559 ไทยยูเนี่ยนเล็งเห็นความสำคัญโดยพยายามให้ครอบคลุมทุกส่วนของธุรกิจอาหารทะเล ตั้งแต่การดูแลมหาสมุทรไปจนถึงการกำจัดขยะ ตลอดจนความรับผิดชอบต่อแรงงาน สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

เพราะพันธกิจเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนด้านความยั่งยืนคือภายในปี 2563 ร้อยละ 75 ของปลาทูน่าที่ใช้ในแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมาจากการทำประมงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council : MSC) หรือมาจาก Fishery Improvement Projects หรือ FIPs (โครงการพัฒนาการประมง)

ถึงตรงนี้ “ดร.แดเรียน แมคเบน” ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่ากลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน คือการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างเต็มรูปแบบ

“การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบทำให้เราสามารถตอบโจทย์ประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated: IUU) ซึ่งมั่นใจได้ว่ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบการดำเนินงานบนเรือ ในการจัดการกับการจับสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ติดมา และการขจัดแรงงานผิดกฎหมายหรือการบังคับใช้แรงงาน”

“การจัดสรรเงินจำนวน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการความยั่งยืนของปลาทูน่า และโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งหมด 11 โครงการ เช่น การสนับสนุนการทำประมงเบ็ดตวัด และกิจกรรมต่าง ๆ ด้านความยั่งยืนเพื่อดูแลปริมาณปลาทูน่าพันธุ์ท้องแถบ (Skipjack) และพันธุ์ครีบเหลือง (Yellowfin) อีกทั้งยังจะช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศอินโดนีเซียที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมการประมง ชาวประมง ภาครัฐบาล องค์กรไม่แสวงหากำไร และภาคการศึกษา มาทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน อันสอดคล้องกับกลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน หรือที่เรียกว่า SeaChange®”

“ดร.แดเรียน แมคเบน” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มาตั้งแต่ปี 2557 อีกทั้งยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เมื่อเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

“ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของไทยยูเนี่ยนในการมุ่งไปสู่พันธกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้ และเพื่อให้มั่นใจว่าท้องทะเลจะมีความยั่งยืนทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตสำหรับลูกหลานต่อไป ที่สำคัญ เราไม่เพียงดำเนินนโยบายตามกลยุทธ์ความยั่งยืนต่าง ๆ แต่นวัตกรรมก็นับเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญอีกประการที่ทางไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”

“ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ” ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยน กล่าวเสริมว่าปี 2558 ผ่านมาไทยยูเนี่ยนลงทุน 900 ล้านบาทในการก่อตั้งศูนย์นวัตกรรม (Gii) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุนนักวิจัยทั้งภายใน และภายนอกในการคิดค้น และมองหาการวิจัย เทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับอาหาร ทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ บรรจุภัณฑ์ และกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าในธุรกิจอาหารทะเลของไทย และเพื่อตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการของผู้บริโภค

“ที่ผ่านมาศูนย์นวัตกรรมจดลิขสิทธิ์ทูน่าสไลซ์ ซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพในรูปแบบที่สะดวก ทานง่าย รวมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไส้กรอกทูน่า ที่มีไขมันเพียง 1% ทั้งยังมีรสชาติอร่อย ได้โภชนาการ โดยสินค้าทั้ง 2 ชนิด ทำจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ 100% และตอนนี้เริ่มวางจำหน่ายแล้ว ส่วนแผนถัดไปคือศูนย์นวัตกรรมกำลังพัฒนาวัตถุดิบทางทะเลคือน้ำมันทูน่าสกัด ซึ่งมีดีเอชเอ และโอเมก้า 3 เหมาะสำหรับสุขภาพ และพัฒนาการของทารก เพื่อเป็นวัตถุดิบที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป และเราคาดว่าภายในปี 2561 น่าจะวางจำหน่ายได้”

ส่วนความตั้งใจเรื่องการลงทุนในนวัตกรรม ไม่เพียงแต่จะผลิตสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลก ทั้งในวันนี้ และในอนาคต “ดร.ธัญญวัฒน์” ยังบอกว่า ศูนย์นวัตกรรมยังมีหน้าที่วิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่วัตถุดิบที่เราได้มา ปัจจุบันทุกชิ้นส่วนของปลาทูน่าสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยไม่มีชิ้นส่วนที่ต้องทิ้ง

“ไม่ว่าจะเป็นหนังปลา ไปจนถึงก้างปลา เพราะเรามีการพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ด้านสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เป้าหมายทางด้านนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยนคือ ภายในปี 2563 เราจะใช้นวัตกรรมในการพัฒนาธุรกิจ และสร้างรายได้ 10 % ของยอดขายรวมทั้งหมด”

ดังนั้น ความยั่งยืนจะเกิดขึ้น ทุกคนจะต้องมีความตระหนักถึง และไม่ว่าอุตสาหกรรมเล็ก หรือใหญ่ ล้วนมีส่วนสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกใบนี้ได้ทั้งสิ้น