การแพทย์-สาธารณสุข อาชีพอันดับ 1 ที่คนรุ่นใหม่เลือก

การแพทย์

หลักสูตรด้านการแพทย์ สาธารณสุข ยังคงเป็นที่สนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความต้องการบุคลากรสูง อย่างเมื่อไม่นานที่ผ่านมาสถิติ TCAS65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รายงานว่าการสมัครแอดมิชชั่นรอบ 3 ผ่านระบบ mytcas.com

หลักสูตรที่มียอดผู้สนใจสมัครมากกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์-สาธารณสุขจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสหเวชศาสตร์, เทคนิคการแพทย์, เภสัชศาสตร์, แพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์ ฯลฯ

ขณะที่บางหลักสูตรมีผู้สนใจยื่นสมัครพุ่งกว่า 5,000 คน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสหเวชศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ มีจำนวนผู้สมัครกว่า 5,812 คน, มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ คณะเภสัชศาสตร์ หลักสูตร ภ.บ. มีจำนวนผู้สมัครกว่า 5,318 คน, มหาวิทยาลัยบูรพา คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (พย.บ.) มีจำนวนผู้สมัครกว่า 5,131 คน

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

“รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” ที่ปรึกษาบริหาร สำนักประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อดีตนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญงานเอชอาร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

เหตุผลที่คนสนใจเรียนด้านการแพทย์และสาธารณสุขคือ ประการแรก วิชาชีพด้านนี้เป็นการช่วยเหลือผู้คน ซึ่งคนทั่วไปมองว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีความหมายต่อสังคม คนที่จะเรียนวิชาชีพนี้ไม่ใช่เรียนง่าย ๆ ส่วนมากเรียนหนังสือเก่งและอยากมาเรียน ประการที่สอง เป็นอาชีพที่กำลังต้องการบุคลากรจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งไม่ว่าจะแพทย์ หรือพยาบาลที่ผลิตออกมาทุก ๆ ปี ก็ยังไม่เพียงพอ

เมื่อดูสถิติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทียบกับหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุขในประเทศไทยอาจไม่ได้มากไปกว่าประเทศอื่นนัก เช่น สิงคโปร์ แพทย์ 1 คน ดูแลคนไข้ประมาณ 396 คน พยาบาล 1 คน ดูแลคนไข้ 127 คน เภสัชกร 1 คน ดูแลคนไข้ 1,789 คน ทันตแพทย์ 1 คน ดูแลคนไข้ 2,203 คน

ในส่วนของมาเลเซีย แพทย์ 1 คน ดูแลคนไข้ 459 คน พยาบาล 1 คน ดูแลคนไข้ 352 คน เภสัชกร 1 คน ดูแลคนไข้ 2,200 คน ทันตแพทย์ 1 คน ดูแลคนไข้เกือบ 3,000 คน แต่ในไทย แพทย์ 1 คน ดูแลคนไข้ 814 คน พยาบาล 1 คน ดูแลคนไข้ 375 คน เภสัชกร 1 คน ดูแลคนไข้ 4,374 คน ทันตแพทย์ 1 คน ดูแลคนไข้ประมาณ 4,000 คน

“โดยสรุปแล้วสถานการณ์ในไทย เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ถือว่าบุคลากรในไทยทำงานหนักกว่ามาก แต่เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ยังอยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ของเราไม่ได้น้อยหรือขาดแคลนเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แต่คาดว่าเราน่าจะอยู่ในลำดับประมาณ 3-4 ของอาเซียน เพราะถ้าเทียบกับเวียดนาม เราถือว่ายังมากกว่า”

“รศ.ดร.ศิริยุพา” กล่าวถึงทิศทางการผลิตบุคลากรว่า ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 2 ปีก่อน คาดการณ์ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์กับพยาบาลวิชาชีพว่า ผลิตแพทย์ได้ปีละประมาณ 3,000 คน ส่วนพยาบาลผลิตได้ปีละประมาณ 11,000 คน แต่ในปี 2569 ปริมาณความต้องการจะเพิ่มมากขึ้น จากที่ผลิตแพทย์ได้ 3,000 คน ต้องผลิตเพิ่มให้ได้เป็น 12,000 คน พยาบาลต้องเพิ่มขึ้นอีก 74,000 คน

“นั่นหมายความว่าแต่ละปีเราผลิตบุคลากรทั้งสองวิชาชีพนี้ได้แค่ 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 เท่านั้น และดิฉันเห็นว่าแนวโน้มของประเทศไทยก็เริ่มจะเห็นความสำคัญตรงนี้ หลายมหาวิทยาลัยก็เริ่มเปิดคณะแพทย์ พยาบาลมากขึ้น ซึ่งคาดว่าก็น่าจะทำให้จำนวนค่อย ๆ เพิ่ม”

เช่นเดียวกับอาชีพเภสัชกรรม ปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเรียนเกี่ยวกับด้านนี้ เนื่องจากเป็นอาชีพที่กำลังมาแรงเช่นกัน เรียนจบมาทำงานได้หลากหลาย อาจจะเป็นเภสัชกร สั่งจ่ายยาตามโรงพยาบาล ประกอบกิจการร้านขายยา หรือเป็นผู้คิดค้นยา ทำงานด้านวิจัยและพัฒนา อยู่ในองค์กรทดลองยา ขายยาให้บริษัทชั้นนำต่าง ๆ หรืออาจจะไปทำงานกับ องค์การอาหารและยา (อย.) เป็นผู้คุ้มครองผู้บริโภค ทำเรื่องคิวซีผลิตยาให้โรงงานต่าง ๆ

ส่วนเภสัชกรที่ทำงานในโรงพยาบาล ยังสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหารได้ จะเห็นว่าอาชีพนี้ก็สดใสเช่นกัน เพราะพื้นฐานคือนอกจากจะมีความรู้เรื่องยาแล้ว ยังมีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ที่ดี เพียงแค่ไปเรียนเพิ่มหลักสูตรที่จำเป็นอื่น ๆ อีกเล็กน้อย ก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นบริหารได้

“จากประสบการณ์ที่ดิฉันทำงานด้านเอชอาร์ และจัดหลักสูตรเกี่ยวกับเทรนด์และการบริหารมา เคยเห็นเภสัชกรหลายคนทำงานด้านการเงิน หลายคนมาเรียนมาร์เก็ตติ้งเพื่อวิจัยการตลาด เพราะพื้นฐานบทเรียนที่เขาได้เรียนมา ทำให้เขาทำงานได้หลายอย่าง

เพราะฉะนั้นสายอาชีพของเภสัชกรนี้รุ่งมาก ถ้าไม่อยากเป็นลูกจ้าง หลายคนเป็นสตาร์ตอัพไปเปิดบริษัทเอง ทำค้าขายต่าง ๆ เพราะมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ ยิ่งถ้าเคยทำงานเป็นเซลส์ด้านยา ก็จะรู้จักคนมากมาย ก็จะมีคนสนใจซื้อตัวเภสัชกรไปทำงานมาก”

อย่างไรก็ตาม “รศ.ดร.ศิริยุพา” กล่าวด้วยว่า ยังมีอีกหลายอาชีพที่มาแรงไม่แพ้การแพทย์สาธารณสุข เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกันดีขณะนี้เราอยู่ในยุคของดิจิทัลดิสรัปชัน ดังนั้นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจึงมาแรง เป็นที่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากการสำรวจอาชีพของบริษัทหลายแห่ง ยังระบุว่าอาชีพงานขาย การตลาด พัฒนาธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ การผลิต มีความต้องการอยากชัดเจนมาก ที่น่าสนใจคืองานด้านบริหารบุคคลก็มาแรงเช่นกัน


ขณะนี้องค์กรหลายแห่ง โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ล้วนต้องการคนที่ทำงานด้านการบริหารคนเก่ง ๆ เข้ามาอยู่ในองค์กร ขณะที่อาชีพอิสระ หรือ Gig Worker เองก็ถูกพูดถึงในวงกว้าง คนรุ่นใหม่หลายคนไม่อยากเป็นลูกจ้างประจำในบริษัท แต่อยากหางานพาร์ตไทม์ หรืองานระยะสั้นทำ จะเห็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น