จากคนที่เคยขอข้าววัดกิน สู่สตั๊นท์แมนไทยมือฉมังในหนัง Marvel  

Jasin Boland/NETFLIX
  • นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีทีมถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทีมผู้ผลิตแถบเอเชียหรือชาติตะวันตก นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังทำให้เกิดการจ้างงานบุคลากรของไทยด้วย เพราะการถ่ายทำภาพยนตร์เป็นงานที่ต้องพึ่งพาผู้คนที่เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ  แขนง และหนึ่งในอาชีพที่แทบจะขาดไม่ได้เลยในกองถ่ายคือ ‘สตั๊นท์แมน’ (Stuntman)

การที่ไทยกลายเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก เปิดโอกาสให้เด็กหนุ่มที่เคยต้องอาศัยข้าววัดกิน และเด็กหญิงที่เดิมฝันเป็นแอร์โฮสเตส ก้าวสู่การเป็นสตั๊นท์แมนมือฉมังในหนังฮอลลีวูด

บีบีซีไทยคุยกับ พีท-มนตรี บรรลุผล และ ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สองสตั๊นท์แมนชาวไทยที่ได้ไปโลดแล่นไกลถึงฮอลลีวูด ถึงประสบการณ์ชีวิต ความยากลำบาก และความฝันบนเส้นทางของการเป็นสตั๊นท์แมนในดินแดนไกลบ้าน

 

View this post on Instagram

 

A post shared by BBC News ไทย (@bbcthai)


จุดเริ่มต้นการเป็นสตั๊นท์แมน

“ชีวิตเติบโตมาค่อนข้างยากจนลำบาก เพราะถึงขั้นต้องไปเป็นเด็กวัด ไปเอาข้าววัดมากิน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่แยกทางกัน ก่อนจะมาเริ่มจุดประกายความฝันตอนอายุ 13 ด้วยหนังเรื่อง ‘องค์บาก’ พอเราดูแล้วเรามาค้นพบตัวองว่าเราอยากเป็นนักแสดงหนังแอ็คชันเหมือนอย่างพี่ โทนี จา” พีท-มนตรี บรรลุผล วัย 32 ปี เล่าย้อนเหตุการณ์ที่เป็นตัวจุดประกายให้เขาเริ่มสนใจอาชีพการแสดง

ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ พีทต้องกัดฟันสู้ชีวิตหาเลี้ยงตัวเองโดยเริ่มต้นจากศูนย์ พีทเดินทางจากขอนแก่นบ้านเกิด เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เริ่มแรกทำงานรับจ้างเป็นพนักงานร้านหมูกระทะ ก่อนจะย้ายไปทำงานร้านอาหารบนถนนข้าวสาร แล้วขยับมาเป็นพ่อครัวในร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า

เขามีโอกาสเข้าไปเป็นนักแสดงตัวประกอบเรื่องแรกของชีวิต จากการบังเอิญเปิดเจอประกาศรับสมัครนักแสดงตัวประกอบในสมุดเล่มเหลืองโดยผู้เป็นพ่อ โดยภาพยนตร์เรื่องนั้นคือเรื่อง ‘อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ’ (The Lady)

ชีวิตไม่ได้เดินทางด้วยความสวยหรู

ที่มาของภาพ, BBC Thai

“ตอนนั้นพอเดินเข้าไปสมัครที่บริษัทปุ๊บ ก็ได้งานเลย เขาถามผมว่า วันพรุ่งนี้ว่างไหม มีงานพอดี อยากให้เราไปเป็นตัวประกอบในหนังอองซานซูจี แลกกับค่าแรง 300 บาท ผมก็ตอบตกลง”

“เขาก็นัดเราเลยว่าให้ไปเจอที่เมืองทองธานีตอนตี 4 พอดีตอนนั้นเรายังไม่รู้จักว่าเมืองทองฯ มันไปยังไง เลยถามคนข้างถนนเอาถึงได้รู้ว่ามันมีรถเมล์ไป แต่รถเมล์หมด 4 ทุ่ม และวิ่งอีกทีตี 5 ซึ่งเวลามันไม่ได้ ผมก็เลยไปก่อนหน้านั้นวันหนึ่ง นั่งรถเมล์ไปตอน 3 ทุ่ม หาที่นอนแถวนั้นเอา”

“ไปนั่ง ๆ นอน ๆ แถวเซเว่น ยุงเยอะมาก เรานอนไม่หลับหรอก พอใกล้ถึงเวลาถึงได้เดินไปที่กองถ่าย ไปเปลี่ยนชุด แล้วก็ถ่ายจนถึง 6 โมงเย็น ยืนตากแดดทั้งวัน ผิวไหม้เกรียมหมด นั่นคือจุดเริ่มต้นงานแรกเลยที่เข้าวงการมาเป็นตัวประกอบ”

จากการที่ได้เข้ามาเป็นนักแสดงตัวประกอบ พีทได้เห็นเบื้องหลังการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ และทำให้เขาได้รู้จักการทำงานของทีมสตั๊นท์แมน ที่คอยทำงานแทนนักแสดงหลักในฉากเสี่ยงอันตราย หรือฉากที่มีการต่อสู้ การใช้อาวุธต่าง ๆ

พีทเข้าไปทำความรู้จักและแนะนำตัวเองต่อทีมสตั๊นท์แมนในกองถ่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลติดต่อกัน จนได้เข้าไปฝึกซ้อมกับทีมสตั๊นท์แมนจริง ๆ ใช้เวลาฝึกกว่า 2 ปี กว่าจะมีโอกาสไปเป็นสตั๊นท์แมนในกองถ่าย

จากแอร์โฮสเตสสู่สตั๊นท์แมน

ที่มาของภาพ, BBC Thai

“เราเป็นคนชอบเตะต่อยตั้งแต่เด็ก ๆ เราเคยขอพ่อเรียนมวย แต่พ่อไม่ให้เรียน เพราะเขากลัวเราเจ็บ ทีนี้พอขึ้น ม.1 เราเห็นเพื่อนเราเรียนเทควันโด แล้วรู้สึกว่าน่าสนุกดี เราก็เลยไปขอพ่ออีก พ่อก็ไม่ให้เหมือนเดิม เราเลยไปแอบขอย่าแทน ย่าก็บอกเอาเลยลูก เดี๋ยวย่าส่งเรียน จากนั้นมาเราก็เลยได้เรียนเทควันโด เรียนทุกเสาร์-อาทิตย์ จนได้เป็นนักกีฬาแข่งระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค” ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ วัย 34 ปี เล่าที่มาที่ไปถึงความสนใจในศิลปะการต่อสู้ของตัวเอง

ฟ้าอยู่กับเทควันโดจนถึงช่วงชีวิตวัยนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 2 ก่อนจะตัดสินใจซิ่วจากมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ เข้าไปเรียนภาคการท่องเที่ยวและการโรงแรมในกรุงเทพฯ โดยมีความฝันอยากจะเป็นแอร์โฮสเตส มีอาชีพเป็นหน้าเป็นตาให้กับพ่อแม่

แต่ด้วยความที่ยังมีใจรักในศิลปะการต่อสู้ ฟ้าเลยไปฝึกซ้อมตีลังกาและท่าต่าง ๆ ที่ตัวเองได้เรียนมา ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น

และด้วยความบังเอิญ มีทีมสตั๊นท์แมนเข้าไปฝึกซ้อมอยู่พอดี และเห็นแววของฟ้า จึงได้ชักชวนให้เข้ามาทำงานสตั๊นท์แมนด้วยกัน ซึ่งฟ้าตอบตกลง เปิดทางสู่การเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การทำงานสตั๊นท์แมนจริง ๆ ก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมกับทีมสตั๊นท์แมนและได้เล่นในภาพยนตร์อินเดียเป็นเรื่องแรกในชีวิต

สตั๊นท์แมนทำงานกันอย่างไร?

การฝึกฝนกว่าจะเป็นสตั๊นท์แมนจนได้เข้าไปเล่นอยู่ในภาพยนตร์จริง ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทักษะของสตั๊นท์แมนเรียกร้องให้ต้องทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่จุดเล็ก ๆ อย่างการเข้าไปเล่นฉากล้มตัวแทนนักแสดงหลัก ไปจนถึงการโดนรถชนหรือแม้แต่หลบระเบิด

อาจดูเป็นงานที่เสี่ยงบาดเจ็บและอันตราย แต่งานสตั๊นท์แมนเป็นหนึ่งในงานที่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยมากที่สุดงานหนึ่ง เพราะเป้าหมายหลักของงานคือการแสดงแทน และการไม่บาดเจ็บต้องถือเป็นเรื่องสามัญ สตั๊นท์แมนต้องซ้อมคิวนับครั้งไม่ถ้วนในฉากต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยเมื่อถึงเวลาถ่ายทำจริง แต่บางครั้งอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้

“ปกติตัวผมเองยังไม่เคยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการทำสตั๊นท์มาก่อน แต่ก็มีคนอื่น ๆ มีรุ่นพี่ที่เคยเห็นมาบ้าง มีซีนหนึ่งที่พี่คนหนึ่งเข้าฉากตกบันไดแทนนักแสดงหลัก แล้วพอเขาเล่นฉากนั้น แล้วเขาพลาด ตัวกระเด้งกลิ้งเอาหัวไปโดนเข้ากับเหลี่ยมไม้ หัวแตก เย็บ 5 เข็ม… ซึ่งพอพี่คนนั้นเขาเจ็บ ผมก็เลยได้เป็นคนเล่นคิวนั้นแทน (หัวเราะ) แต่ผมไม่เป็นอะไรนะ แค่จุก ๆ” พีท เล่า

ส่วนฟ้า ผ่านประสบการณ์เจ็บเองมาโดยตรง “ในเรื่องคือเครื่องบินจะตก แล้วเราต้องไปเล่นแทนนางเอก แล้วเราต้องโดนลากกับพื้น ซึ่งชุดเป็นแค่เกราะอกกับประโปรงขาสั้น เราก็ต้องนอนไปบนพื้นและโดนสลิงลากไป แล้วเนื้อของเรามันก็จะโดนไถลไปกับพื้น ตอนแรกเราคิดว่าสัก 2-3 เทคคงไม่เป็นไร แต่ปรากฏว่าเขาถ่ายกันเกินกว่านั้นเยอะมาก ๆ จนเนื้อของเรามันแดง เลือดซิบออกมา อันนั้นเราน้ำตาไหลเลย อาบน้ำไม่ได้ไป 7 วัน”

ปกติเวลาภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยนั้น จะต้องใช้ทรัพยากรในประเทศ ทั้งอุปกรณ์ สถานที่ บุคลากร โดยติดต่อผ่านโปรดักชันเฮ้าส์ (Production House) ในไทย ให้ประสานงานหาบุคคลากรมาออกกองถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งรวมถึงการติดต่อหาสตั๊นท์แมนมในไทยด้วย

โปรดักชันเฮ้าส์ที่รับงานมา จะติดต่อไปที่ทีมสตั๊นท์แมนตามสังกัดต่าง ๆ เพื่อประสานงานหาคนมาเล่นในงานนั้น ๆ ต่อไป ซึ่งโดยส่วนมากสตั๊นท์แมนมักจะอยู่เป็นอาชีพอิสระ ไม่ค่อยมีสังกัดแบบตายตัว

พีทและฟ้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บุคคลากรสตั๊นท์แมนในไทยที่เป็นระดับมืออาชีพจริง ๆ ยังมีไม่เยอะ ถือว่ายังขาดตลาดหากเทียบกับจำนวนสตั๊นท์แมนที่มีอยู่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีน้อยมาก ๆ ทำให้ในหลาย ๆ งานจะใช้คนหน้าเดิมอยู่บ่อยครั้ง และบุคลากรไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“ถ้าพ่ออยู่พ่อคงจะดีใจ”

กว่า 10 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในวงการสตั๊นท์แมน พีทและฟ้า ผ่านงานมามากมายนับไม่ถ้วน แทบจะทุกรูปแบบของงานเสี่ยงอันตราย ดังที่เราจะเห็นได้ในภาพยนตร์และละคร

ทั้งคู่มีโอกาสกระทบไหล่เข้าฉากกับดาราฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น เฉินหลง (Jackie Chan) คริส เฮมส์เวิร์ธ (Chris Hemsworth) ไมก์ ไทสัน (Mike Tyson) จอห์น ซีนา (John Cena) และอีกมากมาย ถือเป็นโอกาสที่บางครั้งก็เกินกว่าที่พวกเขาคิดไว้

เกินความฝัน

ที่มาของภาพ, มนตรี บรรลุผล

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูหนังฮีโร่ค่าย Marvel มาก แล้ววันหนึ่งผมได้มีโอกาสเล่นในเรื่อง Mrs. Marvel ที่เขาเข้ามาถ่ายทำในบ้านเรา ผมได้ไปเล่นฉากเสี่ยงแทนตัวละครหลัก แทนตัวพระเอก ก็รู้สึกดีใจมากที่เรามีโอกาสได้ไปเล่นแทนเขา เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ประทับใจในอาชีพนี้เลยว่า ตัวเราเองก็มีชื่อติดอยู่ในหนังค่าย Marvel

นอกจากเป็นสตั๊นท์แมนแล้ว พีทยังเป็นตัวแทนนักกีฬาโววีนัมทีมชาติไทยอีกด้วย โววีนัม (Vovinam) เป็นศิลปะการต่อสู้อีกแขนงหนึ่งจากประเทศเวียดนามที่ไทยเราเพิ่งส่งนักกีฬาไปแข่งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2564 ปีที่แล้ว ซึ่งพีทเป็นหนึ่งในนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทยในครั้งนั้น

“มองย้อนกลับไปในชีวิตของตัวเอง จนมาถึงตรงนี้ บอกเลยว่าโคตรภูมิใจ เราฝึกฝนด้วยตัวเองมา ซ้อมกับตัวเองหน้ากระจก ซ้อมบนถนน คนเดินผ่านไปผ่านมามองเหมือนคนบ้า แต่เราก็ไม่สนใจ เพราะความบ้านี่แหละ ถึงพามาอยู่ในจุดนี้ ทุกวันนี้พ่อแม่ก็ภูมิใจ” พีท เล่าด้วยสายตาเป็นประกาย

ฝันที่เป็นจริง

ที่มาของภาพ, ภรณ์ทิพย์ วิริยะ

ฟ้าปิดท้ายบทสนทนากับบีบีซีไทยด้วยเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเอง “เราส่งโปรไฟล์ของเราไปแคสต์กับคนทั่วโลกกับงานหนังเรื่องหนึ่งที่มีเฉินหลงเล่น วันแรกที่เขาส่งอีเมลมาว่าเราได้รับเลือกให้ไปเล่นกับเขา เราดีใจมาก”

“นึกถึงพ่อเป็นคนแรกเลย เพราะว่าพ่อเราเป็นคนที่ชอบเฉินหลงมาก ๆ แต่ว่าวันที่เรารู้ข่าวนั้นพ่อเราไม่อยู่แล้ว ถ้าพ่ออยู่พ่อก็คงดีใจ ที่ลูกสาวตัวเองได้ไปเจอเฉินหลง ภูมิใจในตัวเองมาก อยากให้พ่อได้อยู่ตรงนี้”

ภาพทุกภาพมีลิขสิทธิ์

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว