เบลารุส… พาร์ตเนอร์ของอาเซียนโปแตช (1)

ชลิต กิติญาณทรัพย์ – เรื่อง

หลายปีที่ผ่านมาผมรู้จักชื่อเบลารุสจากแวดวงกีฬาฟุตบอล เนื่องจากทีมเบลารุสเป็นหมูสนามเป็นไม้ประดับ เป็นทีมแจกแต้มของชาติยุโรป แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนยุโรป เพื่อคัดเอา 13 ทีมเข้าไปชิงแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย พัฒนาการของทีมเบลารุสดีขึ้นมากแม้ไม่ผ่านการคัดเลือกแต่ระหว่างทางสามารถสร้างเกียรติประวัติเอาชนะบัลแกเรีย และยันเสมอฝรั่งเศส อดีตแชมป์โลกได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

เบลารุสเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตติดกับรัสเซีย โปแลนด์ ลิทัวเนีย ยูเครนและลัตเวีย ปัจจุบันเบลารุส ส่งออกสินค้าทางทะเลโดยผ่านลิทัวเนีย ประชาชนส่วนใหญ่เชื้อสายสลาฟ มีประวัติศาสตร์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรเคียฟ ลิทัวเนีย และรัสเซีย จนได้รับเอกราชเป็นเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Indepentdent Syate) จากรัสเซียเมื่อปี 1991 ฉะนั้นกลิ่นอายรัสเซียจึงขจรขจายทั่วเบลารุส

พลันคณะของเราเดินเข้าตัวอาคารผู้โดยสารสนามบินเมืองมินสก์ เมืองหลวงเบลารุส เจ้าหน้าที่ทหารชายหญิงยืนประจำจุดต่าง ๆ มองพวกเราด้วยสายตาที่เป็นมิตร พร้อมกับคอยบอกเส้นทาง เดินไปยังสำนักงานเพื่อทำวีซ่าเข้าเมือง เนื่องจากเบลารุสไม่มีสถานทูตที่กรุงเทพฯ ฉะนั้นคณะของเราจึงเลือกใช้วิธีทำวีซ่าเข้าเมืองที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) ที่สนามบินมินสก์

ขั้นตอนการทำวีซ่าเป็นไปด้วยความเข้มงวดและเชื่องช้า พาสปอร์ตทุกเล่ม เอกสารประกอบ เงินรูเบิล เบลารุสถูกตรวจอย่างละเอียด นักเดินทางต้องแสดงตัว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำวีซ่ามีเพียงคนเดียว ฉะนั้นคณะไทยแลนด์เกือบ 20 คน จึงเริ่มเผาเวลาด้วยการตั้งวงสนทนาเมาท์กันทุกเรื่องแล้วแต่ใครจะหยิบยกประเด็นขึ้นมา เมาท์กันจนลืมเรื่องรอบตัวโดยเฉพาะอุณหภูมิที่เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนใกล้ศูนย์องศาเซนติเกรด

จนกระทั่งเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมง ทุกคนได้วีซ่าเข้าเมืองเป็นที่เรียบร้อย เฉลี่ยแล้วเสียเวลาทำวีซ่าคนละ 12 นาที และใช้เวลาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอีกไม่นานนัก แต่ขั้นตอนตรวจพาสปอร์ตละเอียดยิบเหมือนเดิม

สำหรับคนต่างชาติการมาเยือนเบลารุสไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนต้องมีผู้รับรอง มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ใครจะมาเดินเล่นกินดื่มที่นี่ค่อนข้างยาก คณะของเราได้รับเทียบเชิญจาก บริษัท เบลารุสคาลี่ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจผลิตแร่โปแตชและเกลืออุตสาหกรรมครบวงจรตั้งแต่ขั้นต้นจนขั้นปลาย

ทำเหมืองแร่ โรงถลุงแร่ ส่งออกโปแตช ในรูปของแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมรวมทั้งเกลืออุตสาหกรรม

โปแตชมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเบลารุส เนื่องจากรายได้จากส่งออกโปแตชถือเป็นรายได้หลักเท่ากับ 30% เกือบ 1 ใน 3 ของจีดีพีของเบลารุส โลกบริโภคโปแตชประมาณปีละ 20 ล้านตัน โดยเบลารุสเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากแคนาดาและรัสเซียตามลำดับ ช่วงที่ราคาซื้อขายโปแตชตลาดโลกอยู่ที่ 200-400 เหรียญสหรัฐต่อตัน ช่วงนั้นเบลารุส

ถือเป็นประเทศร่ำรวยมีเงินมีทองนำไปพัฒนาประเทศได้มากพอสมควรโปแตชมีความสำคัญกับเบลารุสฉันใด โปแตช ย่อมมีความหมายกับเมืองไทยฉันนั้น เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีความต้องการปุ๋ยเพื่อใช้ในการเพาะปลูก โปแตช คือ โพแทสเซียม แม่ปุ๋ยสำคัญตัวหนึ่งจาก 3 ตัวหลัก แต่ละปีไทยต้องนำเข้าโปแตช 8 แสนตัน ทั้ง ๆ ที่ไทยมีแหล่งแร่โปแตชใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ถึง 2 แหล่งคือ แหล่งสกลนคร และแหล่งโคราช แต่ไม่สามารถขุดนำขึ้นมาใช้ได้หรือลดการนำจากต่างประเทศ

บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เจ้าของสัมปทานแหล่งแร่โปแตชโคราช เป็นบริษัทในตำนานที่เล่าขานไม่จบสิ้น บริษัทนี้มีชาติอาเซียน ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เป็นทั้งผู้ถือหุ้นและคนซื้อโปแตช มีทั้งเงินลงทุนและตลาดรองรับพร้อมมูล แต่ยังไม่ได้เกิดเสียที ติดขัดปัญหาที่ไม่เป็นเรื่องมากมาย พูดกันมากถึงอิทธิพลการเมืองของบริษัทนำเข้าปุ๋ยนั้นแรงถึงขั้นระงับยับยั้งโครงการได้ จนกระทั่งรัฐบาล คสช. บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ เดินมาเกือบถึงปลายอุโมงค์แล้ว บริษัทได้รับใบอนุญาตครบถ้วนและกระบวนการผลิตกำลังจะเริ่มขึ้นในไม่ช้าโดยมี เบลารุสคาลี่ เข้ามารับผิดชอบทำหน้าที่ทำเหมืองโปแตชใต้ดิน ขณะที่บริษัทจากเยอรมนี ทำโรงถลุงแร่บนดิน ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

เทคโนโลยีการพัฒนาโปแตชของต่างประเทศ กล่าวกันว่า มิได้หยุดนิ่งแค่ทำแม่ปุ๋ยเพื่อเกษตรกร เขากำลังพัฒนาไปถึงอุตสาหกรรมพลังงาน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับบำเหน็จณรงค์เมื่อทุกอย่างลงตัว น่าติดตามนะครับ