ภูเก็ตจัดงานถือศีลกินผัก 2565 เต็มรูปแบบหลังโควิด-19

ประเพณีถือศีลกินผัก ภูเก็ต

เทศกาลกินเจ 2565 ภูเก็ตจัดงาน ‘เจี๊ยะฉ่าย’ หรือ ประเพณีถือศีลกินผักเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ไฮไลต์ดึงเชฟดังในภูเก็ตรังสรรค์เมนูพิเศษ เปิดประสบการณ์ใหม่แก่นักท่องเที่ยว โดยงานจัดระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-4 ต.ค. 2565

วันที่ 29 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดภูเก็ตจัดงาน ‘เจี๊ยะฉ่าย’ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ซึ่งเป็น Flagship Events ของจังหวัดภูเก็ตที่มีเอกลักษณ์ทางด้านความเชื่อ ความศรัทธา ความหลากหลายทั้งทางด้านอาหาร และการจัดกิจกรรมจากชุมชนอ๊าม (ศาลเจ้า) โบราณ

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ มองว่าสามารถยกระดับงานนี้ให้เป็นงานระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักเดินทางรุ่นใหม่ (New World Travelers) ได้ ที่สำคัญการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ตในปีนี้ยังเป็นการกลับมาจัดกิจกรรมแบบเต็มรูปแบบหลังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงต้องงดเว้นบางกิจกรรมเพื่อควบคุมโรคโดยงานจัดระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2565

ที่มา-พิธีกรรมของประเพณีเจี๊ยะฉ่าย

ประเพณีเจี๊ยะฉ่ายเป็นประเพณีที่ชาวภูเก็ตจัดต่อเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2368 โดยจัดตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน เพื่อบูชาเทวดา เทพเจ้าจีน ทำให้ในประเพณีถือศีลกินผักนอกจากจะเป็นการละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีพิธีกรรมต่าง ๆ อันเปี่ยมไปด้วยแรงศรัทธา

อาทิ พิธียกเสาโกเต้ง หรือยกเสาเทวดาในเย็นวันแรกก่อนเริ่มเทศกาล โดยจะจุดตะเกียงไฟไว้บนยอดเสา ทั้งหมด 9 ดวง ตลอดทั้ง 9 วัน จนกว่าพิธีจะเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นการถือศีลกินผัก

พิธีอิ้วเก้ง หรือ พิธีแห่พระรอบเมือง โดยจะมีขบวนม้าทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อที่ว่า ‘กิ้วอ๋องไต่เต่’ คือ จักรพรรดิในอดีตของจีน 9 พระองค์ ที่ปกครองแผ่นดินจีนด้วยทศพิธราชธรรมจะเป็นผู้รับเคราะห์แทน เมื่อเชิญเทพประทับร่างแล้ว ม้าทรงจะเริ่มใช้อาวุธหรือวัตถุมีคมต่าง ๆ มาทิ่มแทงทะลุกระพุ้งแก้มของตนเอง โดยเชื่อว่าเป็นการทรมานร่างกายแทนชาวภูเก็ต

พิธีสะเดาะเคราะห์ให้ได้ร่วมปัดเป่าความโชคร้ายสำหรับสายมู ได้แก่ พิธีโก้ยโห้ย เป็นพิธีลุยไฟเพื่อปัดเป่าสิ่งเลวรายไปกับเปลวไฟ และพิธีโก้ยห่าน จะทำหลังจากพิธีลุยไฟ โดยตัดกระดาษเป็นรูปหุ่นหญิงชาย พร้อมเขียนชื่อและวัน เดือน ปีเกิดของตนเอง จากนั้นเดินข้ามสะพานให้บรรดาม้าทรงปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และประทับตราสัญลักษณ์หลังเสื้อสีขาวเป็นอันเสร็จพิธี พร้อมร่วมพิธีส่งพระ อันถือเป็นพิธียิ่งใหญ่ในคืนสุดท้ายของประเพณีถือศีลกินผัก

สำหรับ ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พุทธศักราช 2561

ประเพณีถือศีลกินผัก ภูเก็ต

กิจกรรมในงานถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต

เนื่องจากภูเก็ตได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็น Creative Cities of Gastronomy หรือ เป็นเมืองที่มีความสร้างสรรค์ทางด้านอาหาร และยังเป็นเมืองแรกในอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้น นอกจากประชาชนจะได้รับประทานอาหารจากร้านค้าต่าง ๆ ที่มาร่วมงานแล้ว

ในปีนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษที่ทีเส็บสนับสนุนพันธมิตร ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองกะทู้ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรม Gastronomy Chef’s Table เพื่อส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการร้านอาหารในอุตสาหกรรมไมซ์

รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ทั้งด้านประเพณีเก่าแก่ และอาหารจากเชฟเมืองภูเก็ต ได้แก่เชฟหน่อย–ธรรมศักดิ์ ชูทอง เจ้าของร้าน Suay (สวย) เซเลบริตี้เชฟของเมืองภูเก็ต และหนึ่งในทีมเชฟกระทะเหล็กอาหารยุโรป และ เชฟมอนด์-มิกซ์โซโลจิสต์ วิน – เชฟกร จากร้าน Royd (หรอย) ร้านอาหารใต้ไฟน์ไดน์นิ่งชื่อดังแห่งเมืองภูเก็ต ที่ชั้น 2 สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร)

โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา มีการแห่ขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จากสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) ไปสู่เวทีกลางสะพานหิน แล้วจัดพิธีส่งเก๊ง (สวดมนต์) เพื่อถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว


ทั้งนี้ ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเดิมกิจกรรมในรูปแบบใหม่ ดังนั้นในเบื้องต้นจึงเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ และปีต่อ ๆ ไปคาดว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนผู้ถือศีลกินผักมากขึ้น