เบลารุสพาร์ตเนอร์ของอาเซียนโปแตช (จบ)

ฤดูหนาวของยุโรปตะวันออกอย่างเบลารุสช่วงเวลากลางคืนจะยาวกว่ากลางวัน วันนี้คณะของเราออกรถแต่เช้ามืดเพื่อเดินทางไปเมืองโซลิกอร์สซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมินท์ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร ตลอดเส้นทางความมืดปกคลุมกว่าจะมองเห็นชีวิตสองข้างทางเกือบ 9 โมงเช้า 

โซลิกอร์สเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ใจกลางเบลารุส เดิมเป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่าถูกค้นพบเมื่อปี 2467 เริ่มก่อสร้างเหมืองแร่เมื่อปี 2501 ถือได้ว่าเป็นเหมืองแร่โพแตชแห่งแรกของบริษัท เบลารุสคาลี่ และเป็นจุดกำเนิดของเมืองโซลิกอร์ส ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอาศัยเพื่อทำงานเหมืองแร่จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เพียบพร้อมด้วยความเจริญด้านต่าง ๆ อาทิ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ร้านค้า โรงแรม ฯลฯ ปัจจุบันโซลิกอร์สเป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของเบลารุส มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 1 แสนคน

เบลารุสคาลี่ มีประสบการณ์และความชำนาญในการขุดเหมืองโพแตชใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน กล่าวคือ จะเอาแร่ออกเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณแร่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือทำหน้าที่เป็นเสาค้ำยันเพื่อทำให้อุโมงค์ใต้ดินแข็งแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นวิธีการช่วยควบคุมการลดระดับของผิวดินให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดให้อยู่ในระดับที่ใม่ก่อให้เกิดความเสียหาย

ก่อนเข้าชมเหมืองใต้ดิน พวกเราต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อความปลอดภัยเป็นชุดหมีหนาเตอะสวมหมวกแข็งติดไฟฉายพร้อมกับสะพายถังออกซิเจนที่หนักอึ้งไปด้วย เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันชีวิตยามฉุกเฉิน จากนั้นรับฟังการสาธิตใช้อุปกรณ์เหมือนกับนั่งชมแอร์โฮสเตสสาธิตบนเครื่องบิน เสร็จแล้วเดินเรียงแถวมาขึ้นลิฟต์ไฟฟ้าที่ปากอุโมงค์ เพื่อลงสู่เหมืองใต้ดิน ลิฟต์โดยสารค่อย ๆ ไหลเลื่อนผ่านชั้นดินอย่างช้า ๆ จนระดับความลึกที่ 420 เมตรถึงจุดหมาย

อุแม่เจ้า ภาพตรงหน้า มันคือเมืองใต้ดิน ไม่ใช่เหมืองแร่ที่จินตนาการไว้ก่อนหน้านี้ ระบบระบายอากาศดีมาก ความดันเมืองใต้ดินกับบนดินไม่แตกต่างกันเลย อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 10 องศาเซนติเกรด ทางเดินภายในอุโมงค์สูงกว่า 3 เมตร ผนังอุโมงค์สองข้างทางมีเส้นสายแร่สีต่าง ๆ เลื้อยเป็นเส้นกราฟขึ้นลงยาวประดับผนังอย่างสวยงาม แถบสายสีแดงเข้มคือสายแร่โพแตช ไฟฟ้าส่องสว่างไสว

แต่ละอุโมงค์สามารถเดินเชื่อมโยงกันโดยแร่ส่วนที่ไม่ได้ขุดเป็นเสาค้ำยัน ที่นี่คือเหมืองแร่ที่ขุดเสร็จแล้วได้ถูกพัฒนาเป็น สถานบำบัดหรือสเปลิโอคลินิก (Speleoclinic) เพราะภายในอุโมงค์ใต้ดินมีละอองเกลือผสมรวมอยู่ในอากาศที่ทุกคนสูดเข้าไป

ละอองเกลือช่วยบรรเทาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคหืดหอบ โรคภูมิแพ้ วิธีรักษาเบื้องต้นคือ ให้คนป่วยมาใช้ชีวิตที่สถานบำบัดสูดละอองเกลือตามระยะเวลาที่กำหนด ระหว่างรักษาตัวเพื่อมิให้เบื่อ เขาจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือสันทนาการไว้บริการอย่างพร้อมมูล อาทิ ลานกีฬาเทเบิลเทนนิส ฟุตบอล โต๊ะพูล ห้องอ่านหนังสือ ห้องพักผ่อน เป็นต้น

แนวทางการรักษาวิธีนี้ นักวิทยาศาสตร์เบลารุสและรัสเซียได้ทำการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจได้จริง ฉะนั้นจึงมีคนป่วยเข้ามารับการรักษาและนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมหลายหมื่นคนต่อปี เป็นธุรกิจต่อเนื่องสร้างรายได้ได้อีก

ถัดจากสถานบำบัดที่สวยงาม คือ เหมืองแร่ของจริง คณะของเราต้องนั่งรถบรรทุกเข้าไปภายในอุโมงค์ที่มืดมิดนานพอสมควรจากนั้นต้องลงเดินอีกสักพัก จนกระทั่งมาถึงรถสว่านหัวเจาะซึ่งทำหน้าที่ทะลุทะลวงผนังถ้ำโดยมีสายพานรองรับแร่แล้วขนมาใส่ส่วนกระบะบรรทุกด้านหลังจากนั้นรถยนต์จะมาลากเหมือนรถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ออกไปส่งโรงแต่งแร่หรือโรงถลุงนั่นเอง

เมื่อเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่หรือถลุงแร่ ในส่วนหัวแร่จะนำมาผลิตปุ๋ยโพแตช ส่วนบรรดาหางแร่ซึ่งเป็นเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ และสารประกอบอื่น ๆ จะถูกเก็บกักไว้ในบ่อพัก รอวันเวลานำกลับไปใส่อุโมงค์ดั่งเดิม

เมืองโซลิกอร์สนี้ บริษัทเบลารุสคาลี่ทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินประมาณ 5-6 เหมือง แต่ละเหมืองกินอาณาบริเวณกว้างขวาง ขณะที่บนพื้นดินโซลิกอร์สยังเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนคนเบลารุสและส่งออกต่างประเทศ อาทิ ไร่มันสำปะหลัง ปลูกปอและป่านสำหรับอุตสาหกรรมทอผ้า ฟาร์มเลี้ยงวัวและฟาร์มไก่ รวมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ และมีทะเลสาบขนาดใหญ่เป็นแหล่งพักผ่อนของชาวเมือง เป็นต้น

นี่คือบทพิสูจน์ให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของเหมืองแร่กับชุมชนขนาดใหญ่ ตามข้อมูลทางธรณีวิทยาโพแทชของเมืองไทยมี 2 ชนิดคือ แร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลท์ กับแร่โพแทชชนิดซิลไวท์ แอ่งแร่โพแทชเบลารุสอยู่ใต้ดินระดับความลึกที่ 420 เมตร ขณะที่แอ่งโคราชบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ อยู่ที่ระดับความลึกเฉลี่ย 200 เมตร ความหนาของชั้นแร่เฉลี่ย 25 เมตร เป็นแร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลท์ เมื่อถลุงหรือแต่งแร่ออกมาแล้วจะได้

โพแทสเซียมคลอไรด์ไปทำปุ๋ย ส่วนหางแร่ประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ (เกลือ) กับแมกนีเซียมคลอไรด์จะถูกนำกลับไปฝังกลบอุโมงค์ใต้ดิน

อาเซียนโปแตชชัยภูมิได้ประทานบัตรทำเหมืองพื้นที่รวม 9,707 ไร่ มีบริษัท Ercosplan Ingenieurgesellschaft GmbH จากเยอรมนี เป็นบริษัทที่ปรึกษาการทำเหมือง บริษัทนี้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำเหมืองโพแทชใต้ดินมาอย่างยาวนาน ขณะที่บริษัทเบลารุสคาลี่เป็นคนขุดแร่ โดยจะใช้วิธีทำเหมืองแบบห้องสลับเสาค้ำยัน (room & pillar) โดยจะขุดแร่ออกมาเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณแร่ทั้งหมด (430 ล้านตัน)

กระบวนการแต่งแร่อาเซียนโปแตชฯใช้วิธีการผ่านน้ำร้อน (hot crystallization) เพื่อแยกสารประกอบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โพแทสเซียมคลอไรด์ออกจากแร่คาร์นัลไลท์ จากนั้นนำไปอบแห้งจะได้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยโปแตชที่มีโพแทชเซียมคลอไรด์ไม่น้อยกว่า 95% ซึ่งเป็นคุณภาพมาตรฐานของตลาดปุ๋ยทั่วโลก กำลังการผลิตปุ๋ยโพแตชของโรงงานประเทศไทย 1.2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการภายในประเทศแค่ 8 แสนตัน ฉะนั้นมีเหลือส่งออกไม่น้อย 4 แสนตันต่อปี

นอกจากนี้ สมัย ลี้สกุล ประธานอาเซียนโปแตชฯ ยังบอกถึงสรรพคุณโพแทชเพิ่มเติม เนื่องจากกำลังศึกษาวิจัยเพื่อนำโพแทชไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าโดยจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำแบตเตอรี่เก็บกระแสไฟฟ้าใช้กับโทรศัพท์มือถือตลอดจนถึงแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดแทนลิเธียม

เมื่อเมืองไทยสามารถผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ การพัฒนาของอุตสาหกรรมปุ๋ยจะรุดหน้าไปอีกมากเพราะสูตรผสมปุ๋ยจะมีความหลากหลายและเกษตรกรสามารถเลือกปุ๋ยสูตรผสมให้เหมาะกับพื้นที่เพาะปลูกหรือผลผลิตการเกษตรของแต่ละพื้นที่ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดจากผู้นำเข้าปุ๋ยเช่นทุกวันนี้

ถ้าประเทศอื่นมีแหล่งแร่ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ เขาคงพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างแล้วเริ่มหาผลประโยชน์เข้าประเทศไปนานแล้ว อาทิ โครงการโพแตชของ สปป.ลาวเกิดขึ้นหลังไทยหลายปี แต่เขากำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แล้วอะไรเกิดขึ้นหากไทยยังไม่กล้าตัดสินใจ