อุ๊งอิ๊ง ชู “1 ครอบครัว 1 soft power” รัฐต้องสนับสนุนความฝันคนไทยทุกคน

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ชูนโยบาย “1 ครอบครัว 1 soft power” ชี้รัฐต้องสนับสนุนความฝันให้คนไทยทุกคน

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม, นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการ TCDC และประธานกรรมการตลาดจตุจักร,

นายธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เชฟและเจ้าของร้านอาหาร “Ledu” และ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้ร่วมเสวนาหัวข้อ “1 ครอบครัว 1 soft power”

แพทองธารกล่าวว่า ที่มาที่พรรคเพื่อไทยนำ “1 ครอบครัว 1 soft power” มาเป็นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของพรรคนั้น เนื่องจากต้องการเฟ้นหาทุกคนที่มีศักยภาพภายในครอบครัว เพื่อที่จะมาพัฒนาศักยภาพนั้นให้ดียิ่งขึ้นไป

ขั้นแรกต้องยอมรับก่อนว่าต้นทุนชีวิต การศึกษา การเงิน ของแต่ละครอบครัวนั้นไม่เท่าเทียมกัน และแต่ละครอบครัวก็ไม่ได้รับรู้หรือรับฟังสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวต้องการจะสื่อสาร เหล่านี้คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยตระหนัก ทุกความสามารถและความฝันต้องการแรงสนับสนุน และนั่นคือหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ต่อไป

“1 ครอบครัว 1 soft power” ต้องการนำคนที่ฉายแววมาพัฒนาต่อ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำอาหารเก่ง แต่ไม่มีโอกาสที่จะเข้าเรียนโรงเรียนทำอาหาร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แค่ฝัน บางครอบครัวยังไม่กล้าที่จะฝัน ทำให้แต่ละวันอิ่มท้องก็ยากแลัว

สิ่งนี้เราเล็งเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพ เราจึงต้องการโฟกัสและให้โอกาสคนที่มีความสามารถให้ได้มากที่สุด เราต้องทำศูนย์บ่มเพาะศักยภาพเหล่านี้ให้กระจายไปทั่วทุกชุมชน แม้ในหมู่บ้านเล็ก ๆ หรือที่ห่างไกลจากตัวเมืองก็สามารถเข้ามาพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้” แพทองธารกล่าว

ด้านนายธิติฏฐ์กล่าวว่า สิ่งที่เราทุกคนทำได้ โดยเฉพาะรัฐบาลคือการสร้างความฝัน ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่และเป็นไปได้ ย้อนกลับไปเมื่อครั้งเริ่มเป็นเชฟ แทบเป็นไปไม่ได้เลยในสายตาผู้ใหญ่ ดังนั้น มันจึงไม่ใช่ความฝันของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องทำให้ครอบครัวฝันร่วมกันได้ เนื่องจากการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญ

เราต้องชื่นชมคนไทยเราเองที่ทำหลาย ๆ อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นด้านแฟชั่น กีฬา เชฟ และอีกหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้ทุกคนเห็นและเปิดความฝันของคนไทยให้กว้างยิ่งขึ้น แน่นอนว่ามีเด็กที่ฝันอยากเป็นหมอและวิศวะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเด็กที่ฝันจะเป็นอย่างอื่นอีกมากมาย ความฝันจึงถือเป็นต้นทุนและบันไดขั้นแรกที่สำคัญยิ่ง

ตอนไปเรียนทำอาหารที่สหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีแค่คนอายุน้อย ๆ เท่านั้น แต่เป็นเพียงครึ่งเดียวของนักเรียนทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งกลับเป็นคนในทุกช่วงวัย ถึงอายุ 60 ปีก็มี เนื่องจากทุกคนต้องการตามความฝันของตัวเอง และทำได้เพราะโอกาสนั้นเข้าถึงทุกคน แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่เขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือแหล่งเงินกู้ที่สามารถให้โอกาสเขาได้ โดยมีรัฐสนับสนุน นายธิติฏฐ์ กล่าว

ดร.ณหทัยกล่าวว่า วันนี้ต้องยกหมวกนักการเมืองออกไป และนำหมวกแม่กับครูมาใส่ อยากบอกว่ากว่าเด็กแต่ละคนจะเติบโตขึ้นมา กว่าจะปั้นความฝันและพรสวรรค์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือของพ่อ แม่ และครู จึงคิดว่าเพื่อตอบสนองนโยบายของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จึงต้องปลุกปั้นกันตั้งแต่ระดับประถม

ไม่เพียงเท่านั้น เราต้องเก็บบันทึกว่าการเรียนรู้ทั้งหมดที่ผ่านมา ความถนัดด้านต่าง ๆ ที่เราช่วยค้นพบ ผู้ใหญ่ในสังคมต้องให้ความสําคัญ อย่างที่องค์การยูเนสโก และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประกาศให้เป็นวาระของโลก เรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้มีเรื่อง Life Long Learning for All พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้เรียนรู้ของคนทุกวัยโดยไม่มีช่องว่าง

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงภูมิหลังของซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทยว่า ตั้งแต่ปี 1950 ซอฟต์พาวเวอร์มักถูกใช้ในทางการเมืองเสียมากกว่า จนกระทั่งเริ่มถูกใช้กับเรื่องเศรษฐกิจในสมัยหลัง สิ่งสำคัญอยู่ที่นโยบายในระดับรัฐบาลนั้นต้องชัดเจน ไม่เช่นนั้นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ก็จะมีการทำบ้างไม่ทำบ้าง

เมื่อไปดูประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้อย่างเกาหลี ซึ่งเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี 2005 ภาครัฐของไทยลงทุนเพียง 310 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่เกาหลีลงทุนถึง 62,500 ล้านบาท ดังนั้น สเกลจึงต่างกันมาก

หรือหากจะเปรียบเทียบกับประเทศที่เริ่มทำพร้อม ๆ กับเราอย่างอินโดนีเซีย แต่เขาก็มีการสั่งการในระดับกระทรวงแล้ว จึงมีความชัดเจนในการสั่งการ และมีโฟกัสชัดเจนที่เรื่องสตาร์ตอัพ

ภาครัฐต้องแบ่งภารกิจงานให้ชัดเจน เราไม่สามารถเก่งทุกเรื่องได้ ต้องเลือกเรื่องที่เราเก่ง และคนอื่นเข้าใจว่าเราเก่ง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งวัตถุดิบ สตรีตฟู้ด หรือระดับมิชลินสตาร์ เป็นต้น แต่อะไรที่เราไม่เก่งเราต้องยอมรับ ดังนั้น การจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์จึงมีปัจจัยหลัก คือ นโยบายชัดเจน มีเงิน และมีประเด็นไหนบ้าง นายอภิสิทธิ์กล่าว

สุดท้ายนี้ แพทองธารกล่าวว่า ไม่ว่านโยบายใด ๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น ถ้าจะสำเร็จได้ต้องมีรัฐบาลที่แข็งแรงเพื่อสืบทอดนโยบายตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะมีการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า thai creative content agency ดูแลครบทั้งวงจรของซอฟต์พาวเวอร์ จะสนับสนุนประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ และศึกษาวิจัยว่าซอฟต์พาวเวอร์แบบไหนที่จะดูแลประชาชนได้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ศิลปะ หรือดนตรี เป็นต้น

เวลาเราดูซีรีส์เกาหลีเรายังอยากกินอาหารตามเขา นั่นคือซอฟต์พาวเวอร์ที่แทรกเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งจริง ๆ แล้วส้มตำหรือผัดกะเพราของเราก็ไม่น้อยหน้า และมีอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่เราควรจะไปถึงจุดนั้น

เพื่อไทยเราอยากจะสนับสนุนตรงจุดนี้ โดยการสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อคัดสรรศักยภาพที่กล่าวไปให้มีคุณภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือรัฐบาลและเอกชนต้องร่วมกันพัฒนาสิ่งที่จะสร้างสรรค์เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อพี่น้องประชาชนมากที่สุด