
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่
ชีวิตของผู้หญิงวัย 48 ปี ที่ต้องดูแลครอบครัวและลูก ๆ ก็เหนื่อยมากพอแล้ว แต่ ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ยังต้องทุ่มเทชีวิตให้กับหน้าที่การงานอีกด้วย ทั้งในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และหมวกอีกใบที่ทำงานเพื่อสังคมและการเมืองในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาฝ่ายยุทธศาสตร์และการเงินซึ่งเปรียบเสมือน CFO ของ กทม.ที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันนี้ “ดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปรู้จักไลฟ์สไตล์และตัวตนของหญิงแกร่งผู้นี้กัน
ชีวิตที่เปลี่ยนไปแบบไฮบริด
ปัจจุบันชีวิตของ ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ เรียกได้ว่าเป็นงานไฮบริด ทั้งธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในบทบาทที่ปรึกษาของท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่างไปจากบทบาทที่เคยทำ
“ส่วนตัวไม่เคยคิดและไม่เคยทำบทบาทนี้มาก่อนเลย ถือเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ดีของชีวิตที่เราได้ใช้ความรู้และศักยภาพที่เรามีไปช่วยงานส่วนรวม ซึ่งทำให้เราเห็นภาพกรุงเทพฯ ที่ใหญ่ขึ้น บางจุดเราไม่รู้เลยว่า มีแบบนี้ด้วยเหรอ เหมือนเปิดโลกเปิดใจเรา แล้วเราก็เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดและโตในเมือง ต้องขอบคุณโอกาสและผู้ที่ให้โอกาสมาสัมผัสชีวิตอีกด้าน
จริง ๆ แล้วมาทำงานให้ กทม. ก็ทำให้เราเห็นกรุงเทพฯ ในบทบาทที่ใหญ่มากขึ้น เพราะปกติเราก็อยู่เฉพาะในวงของเรา ตั้งแต่ตอนเริ่มเดินหาเสียงกับพี่ชัชชาติ ก็เห็นกรุงเทพฯใหญ่ขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ใหญ่เท่าตอนที่มาทำงานหลังรับตำแหน่งที่ปรึกษาฯ ซึ่งได้เห็นภาพกว้าง เห็นปัญหาเห็นอะไรมากมาย หวังว่าตัวเองจะมีความสามารถมากพอในการแก้ปัญหาสิ่งที่เราเห็นในกรุงเทพฯบ้าง”
ลดเวลางาน เพิ่มเวลาให้ครอบครัว
ตอนที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่ ๆ ดร.ยุ้ยไม่มีวันหยุดเลยเนื่องจากติดตามผู้ว่าฯ ลงเกือบทุกพื้นที่ ส่วนตัวคิดว่าอยากไปด้วยและต้องการลงพื้นที่จริงให้เห็นกับตา เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง
จะว่าไปแล้ว ชีวิตเรายังมีอีกหลายส่วนสำคัญ โดยเฉพาะครอบครัวและลูก ๆ ก็สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ในช่วงหลัง ๆ มานี้ ดร.ยุ้ยจึงเริ่มแบ่งเวลาให้ลูกมากขึ้น และเริ่มหาวันหยุดให้กับตัวเองได้พักผ่อน ใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ มากขึ้น
“รู้สึกว่าลูก ๆ ก็เริ่มโต วันหยุดเลยต้องให้เวลากับลูกมากขึ้น ยิ่งลูกคนโตเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว ถ้าเราจะทำแต่งาน เราอาจจะไม่ได้คุยกับลูกเลย เราจึงอยากปรับตรงนี้ให้มีวันหยุดอยู่กับลูกมากขึ้นหน่อย อีกมุมเด็กสมัยนี้ก็ใช่ว่าจะต้องการเรามากนะ (หัวเราะ) แต่เราก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรแทนที่การคุยต่อหน้าได้ ไม่ว่าเราจะไลน์หรือข้อความกันขนาดไหน ก็ไม่เท่าการคุยแบบมีมิติสัมผัส เราเลยต้องแบ่งเวลาเพื่อลูกและครอบครัว” ดร.ยุ้ยกล่าว
วันธรรมดาก็ทำงาน แต่ว่าไปแล้วเด็กสมัยนี้ก็ใช่ว่าจะต้องการพี่มากนะ พี่ก็รู้สึกว่ามันก็ไม่มีอะไรแทนที่การคุยต่อหน้าได้ ไม่ว่าเราจะไลน์ text ยังไงก็ตามเนี่ยการคุยแบบมีมิติสัมผัสเนี่ยมันแทนที่ไม่ได้ เลยแบ่งเวลาไว้บ้าง
ไลฟ์สไตล์ ดูหนังเกาหลี-ออกกำลังกาย
ดร.ยุ้ย-เกษรา เป็นซีอีโอหญิงที่รักในการออกกำลังกายมากถึงมากที่สุด เธอว่ายน้ำทุกวันตอนเช้า อย่างน้อย ๆ ต้องว่ายให้ได้ครึ่งชั่วโมง ทำเป็นประจำจนกำหนดให้เป็นระเบียบวินัยของชีวิตไปแล้ว โดยทุกเช้าต้องออกกำลังก่อนอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเริ่มกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ ไม่งั้นเหมือนชีวิตเราขาดอะไรไป
ถ้าเป็นเมื่อก่อนคือ การต่อยมวย แต่ตอนนี้คงไม่สะดวกเพราะกิจกรรมกีฬาบางชนิดเล่นไม่ได้เลยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ครูมาสอนไม่ได้หรือพื้นที่ต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย ดร.ยุ้ยจึงเปลี่ยนไลฟ์สไตล์มาเป็นกีฬาที่จัดการตัวเองได้แบบง่าย ๆ นั่นคือ การว่ายน้ำ
“พี่ต้องออกกำลังตอนเช้าก่อนและค่อยทำอย่างอื่นต่อได้ อันนี้เป็นเหมือนยาเสพติดอย่างหนึ่งนะ ถ้าตอนเช้าตื่นมาอาบน้ำแล้วเลยไปทำงานเลยมันจะรู้สึกผิด คือเราต้องมีออกกำลังก่อนนิดหนึ่ง เรียกเหงื่อให้ได้ก่อน และค่อยทำอย่างอื่นต่อไปได้”
ส่วนช่วงเวลาที่เหลือในหนึ่งวันก็ยังคงทำงานไปตามปกติ เพราะชีวิตมีแต่งาน งานและงาน แต่เนื้อแท้แล้ว ดร.ยุ้ยเป็นคนที่พักผ่อนแบบง่าย ๆ หาความสุขให้ตัวเองได้ตลอดเวลากับสิ่งใกล้ตัว คิดเสมอว่า ถ้าเราต้องการพักจริง ๆ การนั่งนิ่งแล้วหลับตาก็ถือว่าพักแล้ว
ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหนไกล ๆ ส่วนตัวคิดว่า ไม่ต้องถึงขนาดจำเป็นต้องไปเที่ยวไกลถึงต่างประเทศถึงจะรู้สึกผ่อนคลายหรือได้พัก เอาจริง ๆ นะ เพียงแค่ได้นั่งดูหนังเกาหลีก็สบายใจแล้ว วันไหนกลับบ้านแล้วเครียดหรือเหนื่อยก็นั่งพักดูซีรีส์เกาหลี ดื่มน้ำเย็น ๆ ให้ชื่นใจก็เพียงพอแล้ว
“ยุ้ยว่า เราต้องอย่ามีความสุขยาก เนื่องจากชีวิตเราก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว ดังนั้นก็อย่าสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองในการมีความสุขที่ยากมาก พี่บอกตัวเองเสมอ เราจึงมักจะมีความสุขกับเรื่องง่าย ๆ ไม่เช่นนั้นคนที่อยู่ทางโซนยุโรปทุกคนต้องไม่มีความทุกข์แล้ว ถ้าเราบอกว่าต้องอยู่ในที่สวยเท่านั้นถึงจะมีความสุข อันนี้เปรียบเทียบให้เห็นว่า จริง ๆ มันอยู่ในใจเรา อยู่ตรงไหนก็สุขได้ทั้งนั้น”
แต่กว่าจะมีความคิดอยู่ในจุดนี้ได้ก็ใช้เวลา อาจเป็นเพราะช่วงชีวิตของเราที่ต้องผ่านอะไรมาเยอะ เมื่อก่อนตัวเราก็ไม่ได้มีหลักคิดเป็นแบบนี้ แต่ในวันนี้วันที่อายุเริ่มมากขึ้นและใกล้ก้าวสู่วัย 50 ความคิดจึงเปลี่ยนไปตามวัย เหมือนเราจะเข้าใจอะไรที่มากขึ้นโดยอัตโนมัติ
เช่น สิ่งใดที่ทำให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย เราก็เริ่มเบนไปหาสิ่งนั้น เหมือเราเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต ไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่า แต่สำหรับพี่เป็นนะ อย่างสมัยเด็ก ๆ ก็อ่านการ์ตูน โตขึ้นหน่อยก็ชอบดูหนังหรือซีรีส์อีกแบบหนึ่ง และชอบอ่านหนังสือ พออายุมากขึ้นความชอบเราก็ไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามวัย
สมัยก่อนตอนเด็กพอเกิดเรื่องอะไรก็จะคิดว่าต้องบอกพ่อแม่และก็อยากให้พ่อแม่ช่วยคิดและปลอบใจเรา โตขึ้นมาอีกก็อาจจะเป็นเพื่อน โตขึ้นมาอีกก็อาจจะเป็นสามี และโตขึ้นมาอีกก็รู้สึกว่าอยากมีที่ปรึกษา แต่ตอนนี้ตัวพี่กลับรู้สึกว่า วิธีการที่ดีที่สุดคือการปลอบใจตัวเอง การให้กำลังใจตัวเอง เพราะเราคือที่พึ่งตัวเรา เราต้องดึงและนำตัวเองให้ได้ ไม่เช่นนั้นชีวิตจะขึ้นอยู่กับคนอื่น หากไม่มีใครมารับฟัง ไม่มีใครว่างมาปลอบใจ เราอาจจะผ่านปัญหาเหล่านั้นไปไม่ได้เลย
ชีวิตที่ผ่านอะไรมาเยอะ จะรู้สึกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือการให้กำลังใจตัวเอง นอนสักตื่น ว่ายน้ำสักรอบ แล้วก็ฉุดมันขึ้นมาด้วยตัวเองอีกครั้ง ชีวิตเราก็จะไปต่อได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่นเลย “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจึงดีที่สุด”
แม้อายุจะเริ่มมากขึ้น แต่ ดร.ยุ้ยยังคงเป็นผู้บริหารที่สมาร์ท เคล็ดลับหุ่นดีของเธอคือ การระวังเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้น ปกติเป็นคนไม่กินจุบจิบ แต่ที่สำคัญด้วยวัยเราต้องอาศัยการออกกำลังกายเข้ามาช่วยให้ร่างกายเผาผลาญและตื่นตัว
ยุ้ยเป็นคนไม่ค่อยกินจุบจิบและก็ไม่ค่อยกินอาหารที่มัน ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำไรกับร่างกายมากนะ ปล่อยแบบธรรมชาติ ที่สำคัญคือ อย่าให้น้ำหนักขึ้นเยอะ ถ้าขึ้นแล้วกำลังใจเราจะหมด เราต้องพยายามควบคุมน้ำหนักให้ได้
วันนี้กล่าวได้ว่าหญิงแกร่งแห่งเสนาฯ หันมาดูแลตัวเองจริงจัง และเพิ่มเวลาให้กับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเธอมากขึ้น นั่นคือ ครอบครัว เพราะครอบครัวคือรากฐานสำคัญของจิตใจ เป็นสังคมหน่วยที่เล็กที่สุดแต่ก็สำคัญที่สุดอีกเช่นกัน