ทูตฝรั่งเศสเปิดบ้านจัดงานเปิดตัวหนังสือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร”

ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยเจริญกรุง 36 เขตบางรัก เป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ซึ่งซ่อนตัวอยู่ภายในรั้วสูงอันแน่นหนา ไม่สามารถมองเห็นอะไรให้เก็บมาเสริมแต่งจินตนาการ แต่ถ้าใครนั่งเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงระยะทางระหว่างท่าสี่พระยา กับท่าสาธรคงจะเคยได้เห็นความงามของอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปหลังนี้ที่มีธงชาติฝรั่งเศสอยู่เบื้องหน้า

เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ฯพณฯ จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดงานเปิดตัวหนังสือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” ที่แปลมาจากงานวรรณกรรม Le Dernier jour d”un condamne ของนักเขียนชาวฝรั่งเศสนามว่า วิกตอร์-มารี อูโก (Victor-Marie Hugo) ที่เป็นทั้งกวี นักเขียน นักการเมือง รัฐบุรุษ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ผู้มีบทบาทอย่างสูงสำหรับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยุคโรแมนติกในฝรั่งเศส

“วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” แปลเป็นภาษาไทยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิกา จรรย์แสง อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ท่านทูตจิลส์ การาชง ให้การต้อนรับพูดคุยทักทายแขกเหรื่อทั้งชาวไทยและชาวฝรั่งเศสอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะกล่าวปาฐกถาเปิดตัวหนังสือว่า

“สิ่งที่นำท่านมาชุมนุมกันคือความชื่นชอบวรรณกรรม อีกทั้งความปรารถนาที่จะแบ่งปันให้ผู้คนมากมายได้เข้าใจมุมมองเชิงวิพากษ์ของสังคมร่วมสมัยของชายผู้เรืองปัญญาคนหนึ่ง ซึ่งตั้งใจปลุกเร้าให้ผู้คนตื่นตัวและตระหนักถึงความจริงอันโหดร้ายในประเทศฝรั่งเศส ผมเชื่อว่ามุมมองดังกล่าวอธิบายงานเขียนของวิกตอร์ อูโก ได้ดีที่สุด

“ผลงานวรรณกรรมทั้งหมดของวิกตอร์ อูโก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาเขียนในวัยเยาว์ เช่น Le dernier jour d”un condamne, Notre-Dame-de-Paris, Claude Gueux, Ode contre la peine de mort, La Guillotine a Alger หรือเรื่องที่เขียนในเวลาต่อมา เพื่อสะท้อนภาพสังคม เช่น Les Miserables และ Quatre-vingt-treize ล้วนแต่มีสารัตถะต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันของผู้คนและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในยุคการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งสร้างความก้าวหน้าทางสังคมเป็นสำคัญ

“วิกตอร์ อูโก เขียนหนังสือเรื่องนี้ เมื่ออายุเพียง 27 ปี นวนิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่แสดงถึงคุณค่าทางมนุษยธรรมอย่างเด่นชัดที่สุดในยุคนั้น อูโกบรรยายช่วงชั่วโมงสุดท้ายที่เหลืออยู่ในชีวิตของชายผู้หนึ่งก่อนที่เขาจะเข้าสู่แดนประหาร

“อูโกจัดฉากให้ตัวละครเอกเป็นชายนิรนามในห้องขัง ไม่มีผู้ใดทราบว่าเขาต้องโทษด้วยความผิดอันใด ผู้เขียนดำเนินเรื่องผ่านการบรรยายความคิดคำนึงของนักโทษใกล้ตายผู้นี้ ในช่วงเวลาตั้งแต่ไปรับฟังคำพิพากษาจนไปขึ้นตะแลงแกง

“ชายผู้นี้แสดงความรู้สึกทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวง เขาเล่าความจริงอันโหดร้ายของการถูกจองจำ และเมื่อต้องเผชิญกับความตายที่กำลังคืบเข้ามาใกล้ เขารำลึกถึงข้อผิดพลาดและความสุขที่เขาเคยมีในอดีต ตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครเอกแสดงให้เห็นว่าเขายอมรับในโชคชะตา ขณะที่ความคิดพรั่งพรู เขาไม่รู้ตัวว่ากำลังประณามระบบการลงโทษอันป่าเถื่อนที่เขาต้องตกเป็นเหยื่อในเรื่อง Le Dernier jour d”un condamne อูโกคัดค้านโทษประหารที่ไร้มนุษยธรรม โดยให้เหตุผลลึกซึ้งกินใจ เขายืนยันถึงอย่างแข็งกร้าวว่าสังคมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะกำหนดความเป็นความตายของคน ไม่ว่าจะเป็นใคร และผิดในเรื่องใด

“บางคนอาจคิดว่าข้อถกเถียงนี้เป็นเรื่องต่างยุค แต่ในความเป็นจริงแล้วโทษประหารเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สังคมปัจจุบันต้องร่วมกันหาทางออก ถึงแม้รัฐทั่วโลกจำนวน 2 ใน 3 จะไม่ใช้โทษประหารแล้ว ไม่ว่าจะโดยนิตินัยหรือพฤตินัยก็ตาม แต่ยังมีพลเมืองในโลกอีกมากที่ยังได้รับโทษประหาร ผมทราบดีว่าประเทศของท่านไตร่ตรองเรื่องนี้อย่างกล้าหาญ

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย กระทรวงยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ให้ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในการจัดประชุมสัมมนาว่าด้วยการลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชนเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา โดยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงเป็นประธานในการประชุม ในการนี้ เอกสารรายงานการประชุมสัมมนาที่ท่านจะจัดพิมพ์ รวมทั้งข้อแนะนำที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเสนอต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระดับสูงสุดจะสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการปรับแก้กฎหมายอาญา โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน

“ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า หากท่านคิดว่าเป็นประโยชน์ ประเทศฝรั่งเศสพร้อมเสมอที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในการไตร่ตรองถกเถียงอย่างยาวนานร่วม 2 ศตวรรษที่ส่งผลให้ประเทศของผมได้มีโครงสร้างระบบกฎหมายอาญาที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญมากขึ้น

“มิตรสหายที่รักยิ่งต้องรอจนวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1981 กว่าที่จะมีการยกเลิกโทษประหารในประเทศฝรั่งเศส อันเป็นผลจากความมุ่งมั่นของชายผู้หนึ่ง คือ ประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ มิตเตอรองด์ ประกอบกับการรณรงค์ต่อสู้ของผู้คนอีกมากมาย เช่น วิกตอร์ อูโก โรแบรต์ บาเด็งแตร์

“อย่างไรก็ตาม การทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมฝรั่งเศสที่คัดค้านการยกเลิกโทษประหารเปลี่ยนใจมายอมรับนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานยิ่งทีเดียว

“แน่นอนว่า การยกเลิกโทษประหารเป็นการดำเนินงานทางการเมือง แต่ทางเลือกนี้ขึ้นอยู่กับประเทศไทย ในทำนองเดียวกับที่ Le Dernier jour d”un condamne เคยเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศฝรั่งเศส ผมหวังว่าหนังสือเรื่อง วันสุดท้ายของนักโทษประหาร จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านทั้งหลายในการพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ รวมถึงในการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนส่วนหนึ่งตระหนักว่าการลงโทษมนุษย์ด้วยการปลิดชีพนั้นเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมอย่างแท้จริง”