เพราะยากจนจึงเจ็บปวด …รายได้น้อยมีผลต่อการเกิดมะเร็ง

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control หรือ UICC) กำหนดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยอันร้ายกาจของโรคมะเร็ง และดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกายของตัวเองก่อนจะสายเกินไป

มะเร็งคืออะไร หลีกเลี่ยงได้ไหม

มะเร็ง คือ กลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติที่ดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วและมากกว่าปกติ ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติ และเซลล์ในก้อนเนื้อนั้นจะตายในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงจากเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็ง เป็นผลมาจากการทำปฏิกิริยาระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมของบุคคลบวกกับปัจจัยภายนอก 3 ประเภท ได้แก่ 1.สารก่อมะเร็งทางกายภาพ เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต และรังสีไอออนิก 2.สารก่อมะเร็งทางเคมี เช่น แร่ใยหิน, องค์ประกอบของควันบุหรี่, แอฟลาทอกซิน และสารหนู 3.สารก่อมะเร็งทางชีวภาพ เช่น การติดเชื้อจากไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิตบางชนิด

นอกจากนั้น อายุเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคมะเร็ง ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากการสะสมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นเวลานาน บวกกับกลไกการซ่อมแซมเซลล์มีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น

ประมาณ 30-50% ของมะเร็งสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และป้องกันตามแนวทางที่ทางการแพทย์แนะนำ อย่างเช่น การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของมะเร็งบางชนิด

พิษภัย-ผลกระทบ

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตทั่วโลก และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลองค์การอนามัยโลกรายงานว่ามะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก เมื่อปี พ.ศ. 2558 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 8.8 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 6 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก

ชนิดของโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.มะเร็งปอด จำนวน 1.69 ล้านคน 2.มะเร็งตับ 7.88 แสนคน 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 7.74 แสนคน 4.มะเร็งกระเพาะอาหาร 7.54 แสนคน 5.มะเร็งเต้านม 5.71 แสนคน

แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น แต่มีโรคมะเร็งบางชนิดเท่านั้นที่สามารถป้องกันได้

ดังนั้นตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งจึงยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก องค์การอนามัยโลกรายงานว่า เมื่อปี พ.ศ. 2555 ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 14 ล้านคน และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้น 70% ใน 2 ทศวรรษข้างหน้า

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในแต่ละปีทั่วโลกต้องใช้เงินในการจัดการรักษาโรคมะเร็งถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความก้าวหน้าการรักษา

ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากรักษาหายถ้าตรวจพบเร็วและได้รับการรักษาอย่างเพียงพอ การรักษาโรคมะเร็งที่ใช้แพร่หลายทั่วไปคือ การผ่าตัด การฉายแสง และการทำเคมีบำบัด ในยุคหลังวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปอีกขั้น คือ ค้นพบการรักษาแบบใช้ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ซึ่งยาออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งโดยตรง ต่างจากการทำเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์ทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ

การรักษาแบบมุ่งเป้าได้นำไปสู่การพัฒนาการแพทย์แบบจำเพาะบุคคล (personalize healthcare) เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

ผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความน่าจะเป็นที่จะตอบสนองต่อยาและการรักษาต่างกัน ดังนั้นจึงมีการพัฒนาเทคนิคในการตรวจหาตัวชี้วัดทางชีวภาพ (biomarker) เพื่อตรวจหาลักษณะจำเพาะของเซลล์มะเร็ง เพื่อเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ป่วย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การตรวจหาตัวชี้วัดทางชีวภาพนั้นตรวจจากชิ้นเนื้อและเลือด ซึ่งมีข้อจำกัดตรงที่เก็บชิ้นเนื้อได้น้อย และการตรวจยังไม่แม่นยำ แต่เมื่อไม่นานมานี้

มีการคิดค้นเทคโนโลยี “Comprehensive Genomic Profiling” หรือ “การตรวจรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเออย่างครอบคลุม” ซึ่งสามารถตรวจได้ครอบคลุมดีเอ็นเอส่วนใหญ่ด้วยการตรวจเพียงครั้งเดียว ช่วยลดปริมาณชิ้นเนื้อที่ต้องเก็บจากคนไข้ ลดระยะเวลา และให้ข้อมูลที่แม่นยำและละเอียดมากขึ้น

ความยากจนเกี่ยวอะไร

อย่างที่บอกว่าโรคมะเร็งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ซึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เลือกยากดีมีจน แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลที่เชื่อมโยงว่า ฐานะทางการเงินของประชาชนและประเทศเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อจำนวนอุบัติการณ์และจำนวนการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เพราะประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถจ่ายค่าฉีดวัคซีน ค่าตรวจคัดกรอง และค่ารักษาโรคเองได้ หากไม่ได้รับการบริการจากภาครัฐ เช่นกัน ประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางก็ไม่สามารถให้สวัสดิการการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรอง และการรักษาแก่ประชาชนได้ดีและทั่วถึงเทียบเท่าประเทศรายได้สูง

ดังนั้นในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง จึงมีผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่าประเทศรายได้สูงถึงสามเท่า อีกทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมีสัดส่วนสูงมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมด

ยืนยันด้วยตัวเลขขององค์การอนามัยโลกที่เปิดเผยว่า ประมาณ 70% ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกิดขึ้นในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง

สัมพันธ์กับข้อมูลที่สำรวจเมื่อปี 2558 พบว่ามีเพียง 35% ของประเทศรายได้น้อยที่ภาครัฐให้บริการตรวจคัดกรองทางพยาธิวิทยา และ 30% เท่านั้นที่มีการให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ขณะที่มากกว่า 90% ของกลุ่มประเทศรายได้สูง ภาครัฐมีสวัสดิการให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งยังมีข้อมูลอีกว่า โรคมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อ อย่าง โรคมะเร็งตับ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคมะเร็งปากมดลูกซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV เพิ่มขึ้นเป็น 25% ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง

สถานการณ์ในไทย

อัตราการเกิดโรคมะเร็งในประเทศไทยก็คล้ายกับทั่วโลก คือ พบอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย

ประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 จากนั้นมาก็มีการผลักดันยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง กิจกรรมส่วนหนึ่งในการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งที่ประชาชนพบเห็นบ่อย ๆ ก็อย่างเช่น การเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง การรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รณรงค์ให้ตรวจคัดกรอง และฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งที่มีวัคซีนป้องกัน

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะปัญหาสำคัญคือผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จึงไม่เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน อีกทั้งงานวิจัยพบว่าผู้หญิงหลายคนแม้จะรู้ถึงอันตรายของมะเร็งปากมดลูก แต่ก็ไม่กล้าไปตรวจ เพราะความอาย

ในประเทศไทย แม้ว่าภาครัฐจะมีการให้บริการตรวจคัดกรองและรักษาโรคมะเร็งในมาตรฐาน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการตรวจที่ซับซ้อนและต้องใช้เครื่องมือราคาสูง อีกทั้งแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ราคาสูงและมีประสิทธิภาพสูงยังจำกัดอยู่แค่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ประชาชนทั่วประเทศจึงไม่เข้าถึงการบริการในมาตรฐานเดียวกัน

ได้แต่หวังว่าในอนาคตอันใกล้เราจะมีสวัสดิการจากภาครัฐที่ครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น เพื่อลดการเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยพิษภัยของทุก ๆ โรค ไม่ใช่เพียงโรคมะเร็งเท่านั้น