
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทอดพระเนตร นิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เฝ้าฯรับเสด็จ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ, คณะอนุกรรมการ, ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
องค์ประธานที่ปรึกษาการจัดนิทรรศการ-ภัณฑารักษ์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และหัวหน้าภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” จัดแสดงฉลองพระองค์ พระมาลา ฉลองพระบาท พระพัชนี และพระกลดของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยพระองค์เอง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นักออกแบบชาวไทยและชาวต่างชาติ ออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์จากผ้าไทย ในการเสด็จฯไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการส่งเสริมผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 ส.ค. 2565 พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีกำหนดจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ผ่านฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายในแต่ละยุคสมัย โดยจัดแสดงตั้งแต่วันนี้-30 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.
เพื่อให้คนไทยและผู้มาเยือนจากทั่วโลกได้เห็นถึงความงดงามของฉลองพระองค์ ที่ส่วนใหญ่ออกแบบและตัดเย็บด้วยผ้าจากฝีมือคนไทย ด้วยทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลงานจากช่างฝีมือของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ไปจัดแสดงด้วย เพื่อส่งเสริมให้ผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล ทำให้ทุกคนตระหนักถึงพระวิริยอุตสาหะ ที่ทรงอุทิศพระองค์ส่งเสริมงานหัตถกรรมการทอผ้าพื้นเมือง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎร และอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่
ฉลองพระองค์มีเอกลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น
บนชั้น 2 จัดแสดงฉลองพระองค์ทั้งแบบไทยและสากล พระมาลา และพระพัชนีด้ามจิ้ว ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงใช้ เนื่องจากทรงเห็นคุณค่าความสวยงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น ถือเป็นพระราชกุศโลบายในการเผยแพร่ และส่งเสริมผ้าทอจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รวมทั้งวัฒนธรรมด้านการแต่งกายของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลก
ห้องฉลองพระองค์สีทอง สีที่แสดงพลังอำนาจและความสำคัญ นิยมใช้ในหมู่ชนชั้นสูงและราชสำนัก ฉลองพระองค์ในงานพระราชพิธีและฉลองพระองค์ชุดไทยส่วนใหญ่ มักเป็นสีทองและประดับด้วยวัสดุสีทอง เช่น ลูกปัด ดิ้น เลื่อม เพื่อเพิ่มมิติ ความสวยงาม และทรงนำผ้ายกทองจากลำพูนมาใช้ตัดเย็บฉลองพระองค์ชุดไทยในยุคแรก ๆ
ต่อมาทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูการทอผ้ายก ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตผ้ายกทองให้ราชสำนักมาแต่โบราณ จนพัฒนาฝีมือสามารถทอผ้ายกทองเมืองนครได้อย่างงดงาม ปัจจุบันนำไปตัดเย็บเป็นชุดของนักแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯด้วย
นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา นำเสนอเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และผ้าบาติกทรงสะสมจากเมืองต่าง ๆ บนเกาะชวา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผ้าบาติกในราชสำนักและผ้าบาติกที่ใช้ทั่วไป ที่ทรงซื้อและได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวา 3 ครั้ง กว่า 300 ผืน
ส่วนชั้น 1 แบ่งเป็นส่วนห้องสมุด รวบรวม และให้บริการหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผ้า เครื่องแต่งกาย การออกแบบและแฟชั่นเครื่องแต่งกายทั้งของไทยและต่างประเทศ หนังสือรวมพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
โดยสงวนสิทธิการใช้บริการหนังสือภายในห้องสมุดเท่านั้น ส่วนร้านพิพิธภัณฑ์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากนิทรรศการที่จัดแสดง อาทิ การนำลวดลายจากฉลองพระองค์มาดัดแปลง ถ่ายทอดสู่ชุดเซรามิก ลายร่ม ลายพัด และเครื่องประดับ แต่ยังคงอนุรักษ์การใช้ผ้าไหมเป็นวัตถุดิบหลัก
ห้องการเรียนรู้ ปัก ถัก ทอ จัดแสดงผ้าที่เป็นเอกลักษณ์จากภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย ได้แก่ ผ้าขิด ผ้าจก ผ้ายก ผ้าฝ้าย ผ้าแพรวา ผ้าชาวไทยภูเขา ผ้ามัดหมี่ ผ้าปักซอยแบบไทย และผ้าบาติก ผ่านผลงานศิลปะสื่อผสมร่วมสมัยที่ผลิตจากผ้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯในภูมิภาคต่าง ๆ
ทั้งจัดแสดงตัวอย่างผ้า อุปกรณ์ทอผ้า และกรรมวิธีการทอผ้า เพื่อให้ความรู้ในแต่ละท้องถิ่น โดยคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผ้าทอในประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และสืบสานสมบัติแห่งวัฒนธรรมของชาติ
ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด “เทศกาลไหมไทย 2565”
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดงานใหญ่ เทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) การแสดงแบบผ้าไทยร่วมสมัย และผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พร้อมพระปณิธาน และพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด เผยแพร่ความงดงามของหัตถศิลป์ไทย ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2565 บริเวณหน้าฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภายในงานได้จัดแฟชั่นโชว์ผลงาน 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ ได้แก่ SIRIVANNAVARI Couture, KAI, TIRAPAN, PICHITA, PISIT, THEATRE, ASAVA, ISSUE, VATIT ITTHI และ WISHARAWISH รังสรรค์ผลงานสุดประณีตที่ได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
โดยนำผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค มาตัดเย็บเป็นชุดดีไซน์ทันสมัย สะท้อนมุมมองของผ้าไทยในอีกมิติหนึ่ง และเห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์
พร้อมเลือกซื้อเลือกหาผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ผลงานหัตถกรรมจากลวดลายพระราชทาน และผลงานจากศิลปินโอท็อปชั้นสูง เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนทั่วประเทศ