กลางในกลางแบบชนุดม “เพลงของฉันไม่ต้องมีเพศ”

พัด น้องร้องนำชนุดม

ในซีนดนตรีนอกกระแสของบ้านเราช่วง 2-3 ปีมานี้มีศิลปินหน้าใหม่ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมามากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ชนุดม” วงดนตรีร็อกที่ผสานศาสตร์ละครเวทีเข้ามาในการแสดงสด ด้วยนิยาม “Theatrical Rock” ทำให้ทุกคอนเสิร์ตของพวกเขา ไม่ว่าจะเวทีเล็กหรือใหญ่ก็ดึงดูดคนดูให้จับจ้องที่การแสดงบนเวทีแบบไม่กล้าละสายตา

อีกจุดเด่นของวงนี้คือมีนักร้องที่มีทั้งความเป็นเพศชายและเพศหญิงในตัวคนเดียว เวลาสาวเธอก็จริตจะก้านจัดเต็ม แต่บทจะแมนก็แมนได้อย่างเหลือเชื่อราวกับเป็นคนละคน เธอคือ พัด-ชนุดม สุขสถิตย์ นักร้องวงร็อกที่รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าตัวเองไม่ได้ “เป็น” อย่างเพศสภาพที่ทุกคนมองเห็น

พัดรวมวงกับรุ่นพี่ผู้ชาย 2 คนคือ แพท (กีตาร์) และ ต๊อบ (กลอง) โดยมีจุดเริ่มต้นจากการร่วมงานกัน ในละครเวทีเรื่อง Hedwig and the Angry Inch หลังจากนั้นยังรู้สึกสนุกและอยากทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน จึงเกิดเป็นวงชนุดมขึ้นมา โดยไม่ได้คิดว่าจะทำกันจริงจังและมาถึงจุดที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

“เราเพิ่งคุยกันตอนปลายปีที่แล้วว่าตอนนี้เรามาทำอะไรขนาดนี้ มันมาไกลมาก” เธอว่า

เราคุยกับ พัด ชนุดม ทั้งเรื่องงานเพลง และความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศของตัวเธอเอง ซึ่งก็สะท้อนออกมาเป็นหนึ่งเดียวกับงานเพลงของวงชนุดม

Q : บางคนเริ่มจากการมีความฝัน เช่นอยากเป็นร็อกสตาร์ แต่ชนุดมไม่ใช่ แล้วเหตุผลที่อยากทำวงดนตรีคืออะไร

แค่อยากสนุกกับการร้องเพลง การเต้นบนเวที ได้เอ็นเตอร์เทนคน จนทุกวันนี้มีคนจ้างเรา มีคนอยากให้ทำนู่นทำนี่ ถามว่าฝันใหญ่ขึ้นไหม มันยังเป็นเค้กชิ้นเดิมที่ขนาดเท่าเดิม แต่มันมีความเข้มข้นมีสีสันมากขึ้น มีชั้นเพิ่มขึ้นบนเค้กนั้น มันเหมือนจะใหญ่ขึ้น

แต่พัดรู้สึกว่ามันยากขึ้น ควอลิตี้มันต้องมากขึ้น อยากให้มันดีกว่านี้อีก จุดหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาคือรู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรให้สังคมได้ มีเพลงที่เขียนเกี่ยวกับสังคม มีเพลงหลาย ๆ เรื่อง เรารู้สึกว่ามันแข็งแรงขึ้น

คนอินกับเรามากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเพลงต่อไปต้องมีคุณภาพ ต้องมีอะไรพูดกับสังคม ต้องเห็นว่ามีคุณค่าต่อสังคม

Q : ไม่ถึงกับมีโจทย์ แต่ตั้งใจว่าเพลงเราต้องให้อะไรกับสังคม ?

ใช่ ๆ ไม่ถึงขนาดที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ เป็นธรรมะอะไรขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าเราร้องเพลงนี้แล้วมันได้บำบัดตัวเอง ยกตัวอย่าง มีเพลงชื่อว่า สบประมาท มันเป็นเรื่องที่เกิดกับตัวเอง แต่คนอื่นก็เจอด้วย ทุกคน

เคยเจอคำสบประมาท อยู่ที่ว่าเราคิดกับมันมากแค่ไหน พัดก็เจอ ก็นำมาใช้ในผลงานตัวเอง

Q : เพลงที่จะทำต่อไป จำเป็นต้องมีชื่อเพลงแรง ๆ ดึงดูดแบบเพลงแรก ๆ ไหม

คือมันเริ่มจากสมัยก่อนวงเราอยู่กันสามคน แล้วเราเป็นคนห่าม ๆ การเขียนเพลงก็จะมีทั้งความเป็นผู้หญิงและผู้ชายในตัว ทุกวันนี้พอมาอยู่กับค่าย What The Duck ค่ายก็คอยตบให้ คอยบอกให้คิดดี ๆ เราก็ต้องหลีกเลี่ยงการเป็นตัวเองเกินไป มันไม่ใช่ว่าไม่ดีนะคะ มันดีที่เรารับฟังบ้างว่าสังคมรู้สึกอะไร คือหลัง ๆ มานี้เริ่มรู้แล้วว่าเพลงไม่จำเป็นต้องภาษาแรงขนาดนั้น ก็ลองปรับ แล้วก็จริงใจที่สุด เราต้องเรียนรู้ เราเข้ามาในวงการนี้ได้ไม่เท่าไหร่เอง

บางครั้งเราคิดว่าตัวเองเจ๋งแล้ว แต่เราควรกลับมามองว่าเราต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มไหม ต้องให้เกียรติอะไรเพิ่มบ้าง บางทีเราทำงานตามใจตัวเองเต็มที่ แต่งานของเราต้องไปสื่อสารกับสาธารณชน อันนี้คือสิ่งที่เราโตขึ้นค่ะ เราเรียนรู้ที่จะมองให้เพลงเราไปไกลมากขึ้น ไม่ใช่เขียนให้ตัวเองฟัง เราไม่ได้อินไม่ได้ร้องให้ตัวเองฟังคนเดียว สิ่งที่มันได้กลับมาเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตคือคนอินด้วย แสดงว่าเราต้องให้เกียรติคนฟังด้วย เราไม่ได้พยายามจะเป็นคนของเขา แต่เราแชร์ความรู้สึกที่เราเป็นคนประเภทเดียวกันได้

Q : การเอาศาสตร์การละครมาใส่ในโชว์ ไอเดียมายังไง

เวลาที่ไปดูโชว์ ยกตัวอย่างโชว์ต่างประเทศ คอนเสิร์ตฝรั่ง มันสนุกมาก เพราะว่าเขามีเรื่องราวเรื่องเล่า เราคิดว่าพอมาร้องเพลง 10 เพลง ร้องทีละเพลง ขอบคุณครับ ต่อไปจะเป็นเพลงนี้นะครับ มันไม่มีอะไร ถ้าเราดูโชว์เราก็เบื่อ ได้แต่ร้องตามเพลงที่มันดัง ก็เลยคิดว่าเราจะทำยังไงให้คนเข้าใจเพลงที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักว่าเรื่องเป็นอย่างนี้นะ มู้ดแอนด์โทนเป็นอย่างนี้นะ ถ้าเขาชอบโชว์ เขาจะมาถามเองว่าเพลงเมื่อกี้ชื่อเพลงอะไร ซึ่งสตอรี่บนเวทีมันต้องมีการวางโครงเรื่อง

Q : สตอรี่ในโชว์นี่ใช้แบบเดิมไหม หรือว่าต้องปรับบ่อย ๆ

ปรับตามสถานที่ของงาน อย่างเช่นงานที่อยากจะพูดถึงอวกาศ เราต้องทำสคริปต์อย่างไร ต้องมีอะไรมาต้องหวือหวาขนาดไหน บางงานที่เป็นคอนเสิร์ตปกติ แต่ว่าอย่างเช่นถ้าเล่นที่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นงานช่วยน้ำท่วม เราก็ต้องคิดว่า เราจะทำยังไงให้คนฟังแล้วอยากช่วยงานน้ำท่วม มันไม่ใช่แค่ฉันจะเอาเพลงดังมาเล่นอย่างเดียว อย่างล่าสุดได้ร้องเพลงธีมของงาน Japan Expo เราต้องทำการบ้านเกี่ยวกับญี่ปุ่นเยอะ เป็นงานที่ยากมาก เพราะว่าปกติงานตัวเอง มันสามารถครีเอต สามารถอิมโพรไวซ์นู่นนี่ได้ อันนี้มันมีกรอบดนตรีที่เป๊ะ ๆ ตอนไปอัดเสียงก็ต้องทำการบ้านมาก ๆ แต่ละงานมันมีโจทย์ของมัน เราต้องใส่ใจรายละเอียด เราทำอย่างนี้มันไม่ได้เหนื่อยนะคะ มันสนุก

Q : เรื่องเพศมีปัญหาอะไรไหม ทั้งในสังคมทั่วไปและสังคมดนตรี

พัดว่าตอนนี้มันเป็นอะไรที่ฟรีมากเลยนะคะ คนมองข้ามตรงนี้ไป ส่วนใหญ่คนชอบที่ผลงาน มันง่ายขึ้น ซึ่งอันนี้ต้องขอบคุณพี่จีน กษิดิศ เป็นผู้เบิกทาง นางเล่าสิ่งหนึ่งให้ฟังแล้วอยากจะร้องไห้ นางบอกเมื่อก่อนไปเล่นคอนเสิร์ต เคยมีคนปารองเท้า คนตะโกนด่า ทุกวันนี้นางบอก “ฉันไปไฟต์มาแล้วนะ แกเป็นเจนใหม่ แกต้องสู้”

Q : ถ้ามองว่าสังคมยอมรับผลงานของเรา มันก็ดี แต่กลายเป็นว่า ถ้าใครไม่มีผลงาน เป็นคนไม่มีอะไรโดดเด่น ก็อาจจะโดนเหยียดอยู่ มองตรงนี้ยังไง อยากสื่อสารอะไรไหม

พัดคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการออกไปทำอะไรที่ตัวเองรัก และทำให้มันดีที่สุด ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันดี เราว่าอันนี้

มันเป็นตัวตัดสิน ตอนนี้เรื่องเพศไม่มีแล้ว เรามองเรื่องความพยายามของมนุษย์มากกว่า อย่างที่ถามว่า ถ้าคุณไม่มีผลงาน ไม่เก่งอะไร เราไม่เชื่อว่ามีใครที่ไม่เก่งด้านไหนเลย คนเรามันมีฮีโร่ในตัวเองที่ทำอะไรบางอย่างได้ ไม่จำเป็นต้องทำแล้วสาธารณชนรับรู้ คุณเป็นคนดีของพ่อกับแม่ก็ได้

Q : คือจะบอกว่าถ้าคนอื่นไม่ยอมรับเรา เราแค่ยอมรับและภูมิใจในตัวเอง ?

ถูกต้อง มันโคตรนางงามเลยนะ แต่เรารู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ สิ่งที่เราได้รับมาทุกวันนี้ เพราะเราต่อสู้มาตลอด คือเราภูมิใจที่เป็นตัวเอง ถามว่าวันหนึ่งให้เราเปลี่ยนเพศ ก็ไม่เปลี่ยนนะ เราชอบแบบนี้

Q : เพราะอะไรถึงชอบแบบนี้ ถ้ามองทั่ว ๆ ไป คนเป็นตุ๊ดก็คืออยากข้ามไปเป็นผู้หญิง

เราว่าเราได้ทำตรงนี้มันอยู่ตรงกลางพอดี เป็นตุ๊ดเป็นเกย์ก็อยู่กลางละ อันนี้ก็อยู่กลางอีก คือมันเกี่ยวกับผลงานที่เราทำ เราเชื่อมกับผลงานที่ออกมาแล้วมันเข้ากันได้หมดเลย

สมมุติว่าเราแปลงเพศ เสียงเราต้องดัดไหม คือมันไม่ใช่เรา เราภูมิใจในตรงนี้เพราะว่ามันกลางในกลาง ฉันจะร้องเพลงในเสียงที่แมนบ้างสาวบ้าง เพลงของฉันไม่ต้องมีเพศ ฉันรู้สึกว่ามันเป็นฉัน มันเข้ากับสิ่งที่พูดออกมา แล้วถ้าพูดออกมามีน้ำหนัก แสดงว่าสังคมยอมรับ

Q : คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำ การสื่อสารเรื่องพวกนี้ เป็นความตั้งใจเรียกร้องไหม

ไม่เลย ๆ จริง ๆ เราไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมาเป็นตัวแทน กะเทยที่ต้องมานั่งพูดแบบนี้ เรารู้สึกว่าคนเราต้องรับผิดชอบในตัวเองทุกคน ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งนั้น เราก็เป็นเสียงหนึ่งที่บอกว่า เอาละฉันทำแล้ว ฉันรับผิดชอบแล้ว มันได้ดีเว้ย มันโอเค เฮ้ยมันทำให้เรามีชีวิตในสังคมที่โอเคขึ้น