ถอดรหัสหลังม่านทีมฮอกกี้หญิงรวมชาติเกาหลี

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ – เรื่อง

โอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เปียงชาง ประเทศเกาหลีใต้ เปิดฉากไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ มหกรรมกีฬาครั้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่านอกจากเป็นเกมกีฬาที่ฝั่งยุโรปและ อเมริกันให้ความสนใจเป็นพิเศษ ครั้งนี้ยังถูกจับตามากในฐานมหกรรมกีฬาที่มีนัยการเมืองแฝงอยู่มากมาย จากที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จับมือร่วมกัน (ทางกีฬา) หลายครั้ง

พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เดินพาเหรดเข้าสนามพร้อมกันภายใต้ธงรวมชาติ โดยไม่แบ่งแยกกลุ่มนักกีฬาตามประเทศ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ถูกพูดถึงมากในแวดวงกีฬา แต่สิ่งที่เป็นการร่วมกันแบบเป็นรูปธรรมในเกมกีฬาที่หาได้ยากคือ การรวมทีมฮอกกี้หญิงลงแข่งครั้งประวัติศาสตร์

ผลจากการเจรจาระดับสูง ที่ประสบความสำเร็จนำมาสู่ผลลัพธ์ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเกาหลีเหนือส่งนักกีฬา 22 คน ลงแข่งใน 5 ชนิดกีฬาใต้ธงรวมชาติ

กีฬาที่ถูกจับตามากที่สุดคือฮอกกี้ทีมหญิงซึ่งเกาหลีเหนือส่งผู้เล่น 12 ราย และเจ้าหน้าที่อีก 1 ราย รวมไปกับผู้เล่นเกาหลีใต้ที่มีอยู่แล้ว 23 ราย ขณะที่โค้ชของทีมรวมชาติจะเป็นโค้ชของฝั่งเกาหลีใต้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีผู้เล่นเกาหลีเหนืออย่างน้อย 3 คนได้รับเลือกลงเล่น

ทีมฮอกกี้ประวัติศาสตร์ มี ซาราห์ เมอร์เรย์ อดีตผู้เล่นและโค้ชเชื้อสายแคนาเดียนดูแลทีม การเตรียมทีมชุดนี้ไม่ค่อยราบรื่นนัก หลังรวมตัวพวกเธอมีโอกาสเล่นเกมกระชับมิตรกับสวีเดนแค่เกมเดียว ซึ่งทีมเกาหลีแพ้ไป 1-3 ขณะที่อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการสื่อสาร รายงานข่าวเผยว่า เมอร์เรย์ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษและให้เจ้าหน้าที่แปลต่ออีกทอด ถึงจะเป็นเรื่องปกติสำหรับทีมกีฬาหลายชนิด แต่ขั้นตอนการสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้นกับทีมที่ไม่ได้เตรียมพร้อมมากนักยิ่งทำให้ทีมขลุกขลักกว่าเดิม

เกมแรกของการแข่งฮอกกี้หญิงทีมรวมชาติเกาหลีประเดิมด้วยเกมพบกับสวิตเซอร์แลนด์ ถึงจะเป็นเกมระหว่างคู่แข่งที่ฝีมือห่างชั้นพอสมควร เกมนี้มีผู้ชมระดับบิ๊กมากมาย โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล นายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และคิม โยจอง น้องสาวของนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ทำให้เป็นเกมที่สื่อต่างประเทศสนใจมากที่สุด ผลการแข่งจบลงด้วยสกอร์ 8-0 เป็นชัยชนะของสวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม เกมนี้ไม่ได้มีไฮไลต์ที่การแข่งแบบเข้มข้นหรือเน้นผลการแข่งเพื่อมอบให้ ประชาชนของตัวเอง แต่ประเด็นสำคัญของแมตช์กีฬาแบบนี้คือภาพบรรยากาศและนัยทางการเมืองมากกว่า ไม่อย่างนั้นประธานาธิบดีของประเทศอย่างนายมุน แจ-อิน ก็ไม่น่าจะมาปรากฏตัวถึงสนามในเกมที่รู้ดีว่าทีมจะแพ้คู่แข่งอย่างแน่นอน แต่ผู้นำระดับสูงใช้เกมกีฬาเป็นเวทีเพื่อมาทำกิจกรรมโดยมีเป้าหมายทางการเมือง

ฮอกกี้เกมนี้คล้ายกับภาพสะท้อนโต๊ะการเจรจาเล็ก ๆ ระหว่างสองเกาหลี โดยมีนายบาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลเป็นตัวกลางพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ให้เป็นจริง ต่อยอดจากเกมกีฬาออกมาสู่บริบทระดับใหญ่กว่า

ฉากหน้าที่น่าลุ้นและน่าสนใจแย่งซีนกีฬาหลายชนิดในโอลิมปิกครั้งนี้ไป แต่ใครจะเชื่อว่าเบื้องหลังแล้ว ผู้เล่นเกาหลีเหนือก็ยังต้องถูกควบคุมในระเบียบของตัวเอง โดยพวกเขาพักคนละที่กับผู้เล่นเกาหลีใต้ และเดินทางมาเล่นด้วยรถบัสคนละเที่ยวกัน

หนึ่งในผู้เล่นเกาหลีใต้เชื้อสายอเมริกันเล่าให้สื่อต่างประเทศฟังว่า พวกเธอไม่ได้รับประทานอาหารร่วมกับผู้เล่นเกาหลีเหนือ จะได้อยู่ด้วยกันก็เมื่อเข้ามาในห้องแต่งตัว นั่นหมายความว่ามีช่องว่างด้านการสื่อสารนอกสนาม แม้ในสนามผู้เล่นอาจสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านธรรมชาติของเกมกีฬาก็ตาม ขณะที่เครื่องมือยึดเหนี่ยวให้ทั้งสองฝ่ายได้สื่อสารกันในห้องแต่งตัวคือ ดนตรีเคพ็อป ซึ่งผู้เล่นทั้งเกาหลีเหนือและใต้ต่างสามารถเต้นไปกับจังหวะเพลงได้

เช่นเดียวกับจุดสนใจอีกอย่างในมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้ อย่างทีมเชียร์ลีดเดอร์สาวของเกาหลีเหนือร่วม 200 ชีวิตที่ถูกส่งมาทำหน้าที่ให้กำลังใจนักกีฬา “เกาหลี” เพลงที่ทีมเชียร์ร้อง ท่าทางและลีลาการเชียร์ที่พร้อมเพรียงราวกับอยู่ในแถวทหารเป็นจุดสนใจของแฟน กีฬาและสื่อต่างประเทศ

แมตช์ฮอกกี้ทีมหญิงรอบแรกของเกาหลี 2 เกมแรกจบลงด้วยความพ่ายแพ้ 0-8 ทั้งสองเกม โอกาสผ่านเข้ารอบแทบริบหรี่ ขณะที่แมตช์สุดท้ายที่จะพบกับญี่ปุ่นก็ถือเป็นอีกแมตช์เชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเกาหลีทั้งสองฝ่ายจะได้พบกับคู่ปรับร่วมทวีป

เรียกได้ว่าการทูตในเกมกีฬาครั้งนี้กลบความสนใจและโอกาสการลุ้นผลการแข่งขัน ในเกมกีฬาไปมากพอสมควร มีเพียงเกมกับญี่ปุ่นที่สาวแดนโสมเชื่อว่าพวกเธอไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก เอาชนะ เป้าหมายและความหมายของเกมเกาหลี-ญี่ปุ่น ไม่เหมือนกับเกมกับทีมจากยุโรป

ทีมรวมชาติเกาหลีเหมือนกลับมาเน้น มิติที่หลากหลายของกีฬาที่มีบทบาทได้หลากหลาย จะเป็นเครื่องมือ เป็นเกม หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นได้ทุกอย่างจริง ๆ