นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร CEO รพ.สมิติเวช “ร้อยปัญญา ไม่เท่าหนึ่งความอยาก”

นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร
นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช

ท่ามกลางการแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจ องค์กรต้องรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ไม่คาดฝัน แต่การดำเนินงานจะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้เลย หากขาดหัวเรือใหญ่ที่แข็งแกร่งคอยขับเคลื่อนการบริหารงานและบริหารคน

“คุณต้องคิดว่าการบริหารคนเป็นเรื่องง่ายที่สุด” นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เจ้าของรางวัล People Management Award 2022 ประเภท The Best of CEO People Leader จากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการขับเคลื่อนองค์กร

ทั้งเป็นผู้นิยามกลยุทธ์การบริหารองค์กรแบบสไตล์นอกตำรา ที่ย้ำถึงไมนด์เซตสำคัญในการบริหารคน แบบไม่มีแบบแผน ไม่มีคัมภีร์สู่ความสำเร็จ หากแต่ใช้ประสบการณ์การทำงานมาสร้างสรรค์การบริหารองค์กรให้ตอบโจทย์คนทุกเจน

“เราต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้คนทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล เพราะคนเหล่านี้คือครูของเรา”

นพ.ชัยรัตน์กล่าวอีกว่า การบริหารคนที่แตกต่างทั้งวัฒนธรรม ความต้องการ พฤติกรรม จะใช้วิธีเดิมไม่ได้ การทำตามตำราอาจผิดจากความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ผิดจากวัฒนธรรม ในตำราไม่อาจครอบคลุมเรื่องของการบริหารคนได้ทั้งหมด จึงต้องอาศัยประสบการณ์การทำงาน เรียนรู้จากการเจอคนที่หลากหลาย ทั้งหน้าที่ของการทำงาน ความหลากหลายของสถานการณ์ ทำให้สามารถมองออกว่าคนนี้เก่งเรื่องไหนแล้วให้ไปทำเรื่องนั้น เมื่อทุกคนทำงานร่วมกันก็จะบรรลุเป้าหมายขององค์กร

ด้วยขนาดขององค์กรขนาดใหญ่ ความแตกต่างสำคัญในสังคมประกอบด้วย พนักงานแต่ละรุ่น คนละเจน ในฐานะผู้บริหารจึงต้องมองให้ออกว่าเจนไหนเก่งเรื่องใด ทำอย่างไรให้สังคมการทำงานเอื้อไปด้วยกัน การบริหารจึงต้องมีวิธี A สำหรับคนรุ่นเก่า วิธี B สำหรับคนรุ่นใหม่

ในแต่ละเจนก็มีข้อดีของตัวเอง คนรุ่นใหม่มีความคิดต่าง มีโจทย์ที่ดี มีสกิลใหม่ติดตัว การบริหารคนจึงต้องคิดถึง WWW ประกอบด้วย 1.โวย มองให้ออกว่าจุดอ่อนคืออะไร เพนพอยต์คือเรื่องไหน 2.วอนต์ ความต้องการของพนักงานคืออะไร และ 3.ว้าว เสนอสิ่งที่น่าสนใจให้เขาว้าว ซึ่งต้องประเมินทุก 6 เดือน เพื่อกระตุ้นการทำงานโดยผลักดันให้เกิดพลัง

“ส่วนคนรุ่นเก่าก็บริหารอีกแบบ การทำงานนั้นคนรุ่นเก่าต้องเสียสละ ยอมตัดเชือกจากประสบการณ์เดิม แล้วมารับฟังคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่ปลดล็อก สู่การประสานงาน สร้างทีมเวิร์กให้มาร่วมมือกัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างทีมเพื่อมาแข่งกันในการทำงานควบคู่กันไปด้วย วิธีนี้จะช่วยพัฒนาจุดแข็งให้องค์กรเจริญต่อไป”

ไม่ใช่แค่ “คนเก่ง” หรือ “คนดี” แต่ต้องเป็นคนที่มีเป้าหมายเดียวกับองค์กร นพ.ชัยรัตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของคนกับเป้าหมายขององค์กรต้องไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่ากระจก 1 กับกระจก 2

ตัวเราเองต้องรู้ว่าเป้าหมายที่ต้องการในชีวิตเป็นอย่างไร เช่น อยากส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็ต้องลงมือทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร ที่นี่จะตอบแทนผลของการทำงาน ผ่านการประเมินก็จะได้รับโบนัสอย่างสาสม องค์กรจึงมีแต่คนที่ทำงานจริง ๆ

แต่ก็ต้องมีกระจก 3 ที่อยู่ตรงกลาง คอยเช็กตลอดว่าคนที่ทำงานอยู่นั้น healthy wealthy happy หรือไม่ ด้านสวัสดิการต้องให้ครบความต้องการของคนทุกเจน อย่างคนรุ่นเก่าอยากให้มีการตรวจเช็กอัพร่างกาย แต่คนรุ่นใหม่ต้องการเรื่องความสวยความงาม การบริหารคนจึงเป็นเรื่องการบริหารกิเลสคน เสนอสิ่งที่คนแต่ละเจนต้องการให้เกิดความมุ่งมั่น สร้างแพสชั่นในการทำงาน

การคัดคนที่มีเป้าหมายชีวิตและอุปนิสัยตรงกับแนวทางขององค์กรจึงสำคัญ คนที่เข้ามานั้นต้องมี passion ตั้งแต่แรกเข้า ส่งผลให้ passion score ของพนักงานโรงพยาบาลสมิติเวชสูงถึง 89% ตลอดการทำงานยังต้องประเมินผลงาน เพื่อบริหารจัดการคนอย่างเหมาะสม

โดยเรียกว่า บวก ลบ คูณ หาร คนที่ทำงานบวกกับคูณจะได้รับการตอบแทนที่มากยิ่งขึ้น เงินเดือนขึ้นเต็มที่ ให้โบนัสเต็มที่ ส่วนผู้ที่เป็นลบกับหาร จะได้รับการตอบแทนอย่างสาหัส ไม่เพิ่มเงินเดือน ไม่มีโบนัส เพราะไม่ค่อยยอมทำงาน พนักงานที่นี่จึงมี engagement score สูงถึง 88%

รพ.สมิติเวช

สำคัญกว่านั้นคือ การพัฒนาคนให้อัพเดตตามเทรนด์ให้ทัน ตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนไป แต่หากยังไม่พร้อมเปลี่ยนก็ต้อง upskill ช่วยทำสิ่งเดิม แต่เพิ่มเติมให้ดีขึ้นไปอีก

“โรงพยาบาลสมิติเวชมีการประเมินคนอย่างต่อเนื่อง แต่ละระดับก็ประเมินไม่เหมือนกัน ผู้บริหารระดับสูงยิ่งถูกประเมินเยอะ คนทำงานดี เรียกว่าเป็นตัวคูณ ทำแล้วสามารถต่อยอดอะไรได้เยอะ ตัวบวกคือคนที่ทำงานบวกขึ้นทีละ 10% ตัวลบคือแย่ ไม่ค่อยยอมทำงาน และตัวหารคืออยู่ไปก็ทำลายองค์กร

องค์กรของเราไม่ต้องการให้ทุกคนในองค์กรมารักผู้บริหาร ไม่เหมือนสมัยก่อนผู้บริหารจะทำให้คนกลัว ทำให้คนเกลียด แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยน ผู้บริหารต้องเอาใจคน ซึ่งถ้าทำให้ทุกคนรักก็จะไม่มีจุดยืนของตัวเอง ไม่กล้าตักเตือน เท่ากับทำร้ายองค์กร เพราะฉะนั้น ต้องกล้าที่จะฟัน คุณต้องทำให้คนเก่งคนดีรักเรา ให้เงินเดือนให้โบนัสพวกเขาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคนที่ไม่ยึดติดกรอบระบบ มีความมุ่งมั่น”

หรือที่เรียกว่า “ร้อยปัญญา ไม่เท่าหนึ่งความอยาก หนึ่งความอยากสามารถสร้างวิธีการได้มากกว่าร้อยปัญญา” นพ.ชัยรัตน์กล่าวย้ำ

เมื่อบุคลากรก้าวหน้า องค์กรต้องพัฒนาเพื่อก้าวต่อไป จุดมุ่งหมายใหม่ของโรงพยาบาลสมิติเวช มุ่งสู่ความยั่งยืนด้วยการฝึกให้คนเท่าทันปัจจุบันและอนาคต ปลูกฝังให้เอื้อคนอื่น สร้าง eco system ดูแลผู้รับบริการ พนักงาน แพทย์ คู่ค้า ชุมชน ให้ดีกว่า เพื่อนำพาสู่ความยั่งยืน ด้วย ESG : E (environment) S (social) G (governance) สร้างความสุขครบวงจร ผู้ให้บริการมีความสุข สู่การทำให้ผู้รับบริการมีความสุข แล้วความสำเร็จขององค์กรจึงจะตามมา