เปิดที่มาชุมชนคลองเตย จากท่าเรือสู่สลัม ถึง ครูประทีป ผู้อุทิศตนให้ชุมชน

ชุมชนคลองเตย
ภาพจาก มติชน

เปิดที่มาสลัมคลองเตย จากแคมป์คนงานก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ สู่ชุมชนแออัด ถึงครูประทีป ผู้อุทิศตนให้การศึกษาของเด็กและเรียกร้องสิทธิ์ให้คนในชุมชน

วันที่ 8 มีนาคม 2566 สืบเนื่องจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลงพื้นที่ครั้งแรกพร้อมแกนนำพรรค ที่ชุมชน 70 ไร่คลองเตย พร้อมรับฟังปัญหาในพื้นที่จากนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนเปิดที่มาของชุมชนแออัดคลองเตย และทำความรู้จักกับนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือ ครูประทีป ผู้อุทิศชีวิตให้แก่การศึกษาของเด็ก ๆ และเรียกร้องสิทธิ์ให้คนในชุมชนคลองเตยมานานกว่า 50 ปี

จากแคมป์แรงงานสู่ชุมชนแออัด

เมื่อปี 2481-2490 เป็นช่วงที่มีการสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ ขึ้น ทำให้เกิดความต้องการและการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานเป็นจำนวนมากจากต่างจังหวัด เริ่มต้นด้วยการเป็นแคมป์คนงาน จนกระทั่งเกิดการลงหลักปักฐานกันบริเวณตอนเหนือของท่าเรือ

ประกอบกับการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ในปี 2504 ที่รัฐมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า นำไปสู่การลงทุนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

ช่วงที่กรุงเทพฯ กำลังพัฒนานี้เอง ทำให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยและปัญหาแรงงานดังกล่าว บริเวณท่าเรือคลองเตยจึงกลายเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่ขยายตัวออกไปอย่างไม่มีทิศทางในที่สุด จากเดิมที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 200 ครอบครัวและมีอาชีพเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด และปลูกผัก

ปัจจุบันชุมชนแออัดคลองเตยมีเนื้อที่กว่า 197 ไร่ แบ่งออกเป็นชุมชนในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวน 26 ชุมชน และชุมชนใต้ทางด่วน 5 ชุมชน รวมทั้งหมด 31 ชุมชน กว่า 13,000 ครัวเรือน ตามแนวสองฝั่งของทางรถไฟสายแม่น้ำ

ความแออัดและสภาพความเป็นอยู่นำมาซึ่งปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด อาชญากรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนทั้งสิ้น

ปัญหาหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญคือ การศึกษาของคนในชุมชน เนื่องจากประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีความยากจน และเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานในสังคม การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ได้

ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยในสลัมคลองเตย ทำให้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะอุทิศตนต่อสู้และเรียกร้องสิทธิ์ ตลอดจนตั้งใจจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น เธอคือนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือ ครูประทีป

ดวงประทีปแห่งชุมชนคลองเตย

นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “ครูประทีป” เกิดเมื่อปี 2495 และเติบโตที่ชุมชนแออัดคลองเตย เมื่อถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำต้องออกจากโรงเรียนปัญญาวุธ เพราะปัญหาความยากจน ทำให้ต้องไปทำงานในโรงงานผลิตดอกไม้ไฟและเป็นคนทำความสะอาดเรือ

แต่ด้วยความพยายาม มุ่งมั่น และไฝ่รู้ในการอ่านหนังสือ ทำให้ครูประทีปเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในขณะนั้น ด้วยการเรียนภาคกลางคืน

ย้อนกลับไปตอนยังเรียนไม่จบปริญญาตรี และอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น จากความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม กลับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญทำให้ครูประทีปเลือกที่จะอุทิศตนเพื่อการศึกษาของเด็ก ๆ ในสลัมคลองเตย ด้วยการเปิดสอนหนังสือในปี 2511

ครูประทีปในวัย 16 ปีเปิดสอนหนังสือให้เด็กสลัมที่ใต้ถุนบ้าน เนื่องจากเด็กเล็กต้องถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง เพราะผู้ปกครองต้องออกไปทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ บางบ้านหลายวันกว่าจะกลับ เด็ก ๆ จึงต้องดูแลตัวเองและไม่ได้เรียนหนังสือ โดยคิดค่าสอนเพียงคนละ 1 บาทต่อวัน ชาวบ้านจึงเรียกโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนวันละบาท”

แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายในเวลานั้น เนื่องจากตัวเธอเองไม่มีวุฒิการศึกษาใด ๆ โรงเรียนก็ไม่มีใบอนุญาต และที่ดินตรงนั้นก็เป็นของการท่าเรือฯ

ต่อเมื่อสังคมเริ่มรับรู้ถึงการอุทิศชีวิตของเธอเพื่อการศึกษาของเด็กในชุมชน จึงเกิดการพูดคุยกับภาครัฐหลายครั้ง นำไปสู่การเลื่อนปิดโรงเรียน จนกระทั่งครูประทีปสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จึงสามารถเปิดโรงเรียนได้

ภาครัฐจึงโอนโรงเรียนวันละบาท มาอยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ในชื่อ “โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา” และแต่งตั้งครูประทีปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในที่สุด ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3

นอกจากนี้ ครูประทีปยังได้ก่อตั้งสถานเลี้ยงเด็กชุมชนคลองเตย มูลนิธิดวงประทีป และมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือชาวสลัมเท่าที่จะสามารถทำได้

ปัจจุบันโครงการอนุบาลดวงประทีป มีเด็กจากชุมชนแออัดคลองเตยอยู่ในความดูแลจำนวน 230 คน และพบว่าเด็กจำนวน 118 คน มีฐานยากจน และ 89 คนมาจากครอบครัวที่แตกแยก

การทุ่มเทอุทิศชีวิตให้กับคนในสลัมคลองเตย ครูประทีปจึงเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องจากทั้งในไทยและต่างประเทศ จนในปี 2517 สถานีโทรทัศน์ NHK ของประเทศญี่ปุ่นคัดเลือกให้เธอเป็นเยาวชนดีเด่นประจำเอเชีย ที่สำคัญที่สุดคือในปี 2521 เธอได้รับรางวัล แมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ในปี 2524 ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นของโลก จากมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “The Order of the Rising Sun, Gold Rays with Neck Ribbon” ประจำฤดูใบไม้ผลิ ปี 2564 ให้ในฐานะผู้อุทิศตนเพื่อเด็กด้อยโอกาส และยังส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น