ประวัติจันตรี ศิริบุญรอด บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย ครบรอบ 106 ปี

จันตรี ศิริบุญรอด

ครบรอบ 106 ปีชาตกาล “จันตรี ศิริบุญรอด” บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย ผู้บุกเบิกยุคทองแห่งบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์กับผลงานนิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์กว่า 100 ฉบับ

จันตรี ศิริบุญรอด เกิดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2460 ที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ในแผนกวิทยาศาสตร์ (ไม่ปรากฎชื่อโรงเรียน) หลังจากนั้นในช่วงปี 2493-2496 ได้ประกอบอาชีพเป็นครูในโรงเรียนหลายแห่ง ขณะเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี จังหวัดลำปาง จันตรีได้เริ่มเขียนนิยายรวมทั้งบทความวิทยาศาสตร์และเผยแพร่ในวงแคบ ๆ

ต่อมาจันตรีได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความสามารถด้านการเขียน จัดพิมพ์นิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ ร่วมกับ ดร.ปรีชา อมาตยกุล ในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สร้างคุณูปการด้านการเรียนรู้และส่งเสริมวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนไทยตั้งแต่ปี 2498 เรื่อยมา นับเป็นผลงานมากกว่า 100 เล่ม

ยุคที่จันตรีเริ่มจัดพิมพ์นิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ แม้เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ตั้งแต่ปี 2498-2502 แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองยุคแรกของบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์เลยทีเดียว ด้วยผลงานกว่า 100 ฉบับ ก่อนต้องยุติการพิมพ์เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพของจันตรี จนกระทั่งเขาถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไตเมื่อปี 2511 ในวัย 51 ปี

ดร.ปรีชา อมาตยกุล อดีตบรรณาธิการวิทยาศาสตร์ มหัศจรรย์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อนสนิทและผู้สนับสนุนงานเขียนของจันตรี ศิริบุญรอด มาโดยตลอดตั้งแต่ยุคเริ่มแรก กล่าวถึงจันตรีในหนังสือผู้ดับดวงอาทิตย์ รวมนิยายวิทยาศาสตร์ของไทย เล่ม 1 ว่า

จันตรีเป็นคนแรกของไทยที่มีแนวการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในแบบไทย ไม่ใช่การแปลมาจากต่างประเทศ และสอดแทรกทฤษฎี แนวคิด พร้อมเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ ผ่านการใช้สภาพภูมิประเทศและชื่อตัวละครไทยในการเดินเรื่อง ทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ ตลอดจนผู้อ่านต้องคิดตามตั้งแต่ต้นจนจบ

การเขียนนิยายหรือสารคดีวิทยาศาสตร์ของจันตรี เรียกได้ว่าเป็นพรสวรรค์ หรือสารคดีทางวิทยาศาสตร์ เขาสามารถสร้างงานเขียนเหล่านั้นขึ้นได้ในระยะเวลาไม่นาน ด้วยภาพในสามัญสำนึกที่มีแต่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมาจากประสบการณ์ หลักฐาน และข้อมูลในตำราต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยจันตรีมีความสนใจเรื่องเอกภพและอวกาศเป็นพิเศษ สืบเนื่องกับโครงการบุกเบิกอวกาศที่กำลังเริ่มมีขึ้นในสมัยนั้น

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือ ผู้ดับดวงอาทิตย์ เผยว่า แม้จันตรีจะไม่ใช่ผู้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนแรกสุดในวงการวรรณกรรมไทย แต่เขาได้อุทิศตนเพื่อหนังสือประเภทนี้มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก ดังนั้น ไม่เกินจริงเลยที่จะกล่าวว่า จันตรีเป็นผู้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไว้มากที่สุดในสังคมไทย จนได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็น “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย”


เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและคุณูปการด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ นานมีบุ๊คส์, ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นวจท.), สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด” สำหรับโครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2548