sundogs : ปรากฏการณ์หนีตามวิทยาศาสตร์ จากเรื่องรอบตัวถึงดาวพลูโต

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่
ช่างภาพ : พัทรยุทธ ฟักผล, สุทธิพจน์ เพชรแสน

ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ และ ชยภัทร อาชีวะระงับโรค พร้อมด้วย แทนไท ประเสริฐกุล ผู้ดำเนินรายการ ร่วมเสวนาบนเวที “sundogs : Science Odyssey ปรากฏการณ์หนีตามวิทยาศาสตร์” สัมผัสเรื่องรอบตัวจนถึงดาวพลูโต โดย sundogs สำนักพิมพ์น้องใหม่ของมติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21

ชยภัทร ยกคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ Neri Oxman จากสถาบันวิจัย MIT Media Lab ว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้จบในตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่มีวัฏจักรที่ประกอบสร้างกันระหว่างสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนศิลปะ วิทยาศาสตร์จะทำให้มุมมองของคนในยุคนั้น ๆ เปลี่ยนไป สู่การสร้างศิลปะต่าง ๆ ขึ้นมา กลับกันศิลปะก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ในการคิดค้นอะไรใหม่ ๆ

เช่น พัฒนาการของภาพยนตร์ Sci-Fi ที่สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าวิทยาศาสตร์พาทุกคนไปไกลเพียงใด ไม่ใช่แค่ว่าได้รับรู้อะไรในธรรมชาติ แต่คือการพัฒนาจินตนาการที่เปลี่ยนไปตามค่านิยมของยุคนั้น ๆ วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าก็ทำให้ Sci-Fi สมัยนี้ดูล้ำไปไกล วิทยาศาสตร์ในจินตนาการจึงสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ในชีวิตจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.นำชัยกล่าวว่า วิทยาศาสตร์ทำให้เข้าใจตนเองและโลกมากขึ้น รู้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีที่มาอย่างไร ท่ามกลางความเชื่อมายา วิทยาศาสตร์ทำให้มองเห็นความจริงด้วยการทดสอบ ทำซ้ำได้ และทุกคนต้องรับรู้ร่วมกันได้ด้วยประสาทสัมผัส

Need to Know

วิทยาศาสตร์กับการเมือง

ดร.นำชัย ยกพาร์ตหนึ่งในหนังสือ “Need to Know รู้แล้วรู้รอด” ที่วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะถึง โดยมีงานวิจัยรองรับ ผ่านคำถาม เช่น ผู้นำที่ดีควรเป็นอย่างไร, อำนาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนฉ้อฉลหรือคนโกงเองอยู่แล้ว, นักการเมืองที่พูดเก่งจริง ๆ แล้วมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะเก่งจริงแบบที่พูด เป็นต้น

คนส่วนใหญ่จะประเมินตนเองสูงกว่าที่เป็นจริงเสมอ นี่คือเรื่องที่งานวิจัยทำมานับไม่ถ้วนหลายยุค ที่สำคัญคนที่เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานกลับเป็นคนที่อวดอ้าง หรือมั่นใจในตัวเองสูงเกินไปกว่าความเป็นจริง แต่ทำให้คนอื่นพลอยเชื่อไปด้วยว่าเก่งจริง มันเป็นภาพลวงที่ดันเข้าที คนที่โปรโมตตัวเองเก่งกว่ามักเจริญเติบโตกว่าคนในรุ่นเดียวกัน

บนคำถาม การเมืองทำให้คนโง่ลงหรือไม่ ชยภัทรกล่าวว่า แม้ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ ส่วนตัวคิดว่าคนที่รับรู้เกี่ยวกับการเมือง และเชื่อเรื่องอะไรสักอย่างอาจเกิดการเอียงข้างได้ ซึ่งจะนำไปสู่การตีความฝั่งเดียวและเข้าหาตนเองมากขึ้น เราอาจเรียกสิ่งนั้นว่าโง่ลงก็ได้

ดร.นำชัยเสริมว่า ในมุมของการเมืองแบ่งคนได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกพวกฮอบบิต (Hobbit) คือไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เพราะมีความสุขดีอยู่แล้ว การเมืองไม่ส่งผลกระทบอะไรกับตน และถัดมาคือ กลุ่มวัลแคน (Vulcan) พวกนี้จะตัดสินอะไรต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลและหลักการชัดเจนมาก

สองกลุ่มแรกรวมกันแล้วยังน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ฮูลิแกน (Hooligan) คำเรียกที่มาจากพฤติกรรมใช้ความรุนแรงและเป็นอันตรายที่แสดงออกโดยกลุ่มผู้สนับสนุนทีมกีฬาแบบหัวรุนแรง คนที่สนใจการเมืองและเล่นการเมือง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ โดยมีนิสัยต้องเอาชนะให้ได้ ไม่ยอมแพ้

ผลที่ตามมาคือ กลไกในธรรมชาติและร่างกายจะทำให้เราคิดน้อยลง เวลาเห็นคนหรือพรรคการเมืองที่ชอบและไม่ชอบทำสิ่งใด จะเกิดปฏิกิริยาในร่างกายที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า “Confirmation Bias” หรือการมีอคติตอกย้ำเรื่องที่เราเชื่อ เมื่อเชื่อว่าพรรคนี้ดี พูดอะไรก็จะคิดว่าดี แต่ถ้าเกลียดอีกพรรค พูดอะไรก็คิดว่าไม่ดี

เวลาที่เกิดอารมณ์ จะไปบดบังสมองส่วนที่ใช้ความคิด ซึ่งสมองส่วนอารมณ์พัฒนามานานกว่าและทำงานได้ดีกว่าส่วนความคิด คนเราไม่ชอบคิด ชอบใช้อารมณ์ ดร.นำชัยกล่าว

วิทยาศาสตร์ สมอง ความจำ

ในหนังสือ Need to Know รู้แล้วรู้รอด มีพาร์ตหนึ่งคือ “ฉลาด โง่ ลืม จำ” เป็นการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมอง ผ่านคำถามที่ว่า เทคโนโลยีทำให้คนโง่ลงจริงหรือ, ทำไมเราทำผิดซ้ำซาก, ลืมทำไม, ทิ้งไว้ทำไมกลับจำ และอัจฉริยะกับคนบ้า

มีงานวิจัยมากมายที่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง มีปรากฏการณ์บางอย่างที่หลายคนอาจถามกับตนเองว่าการที่เราหลงลืมนั้นเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ดร.นำชัย กล่าวว่า การที่เราลืมเป็นเรื่องปกติมาก งานวิจัยชี้ว่าใครไม่ลืมถือว่าประหลาด ต้องเป็นโรคอะไรบางอย่าง

มนุษย์จำนวนไม่น้อยเป็นโรคไม่ลืม สามารถจำรายละเอียดวันต่อวันในอดีตได้อย่างชัดเจน ซึ่งขึ้นอยู่กับการจำข้อมูลได้เพียงอย่างเดียวหรือจำอารมณ์ขณะนั้นได้ด้วย หากจำอารมณ์ได้ น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่าการผิดหวังในความรักจะส่งผลกระทบกับคนผู้นั้นได้มากน้อยเพียงใด

มนุษย์มีธรรมชาติของความจำอะไรหลายอย่าง สาเหตุที่ต้องลืมเพราะว่าสมองในทุกวันมีข้อมูลไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากต่อให้ผ่านการกรองแล้ว เวลานอนสมองจะจัดระเบียบจากพฤติกรรมว่าต้องทิ้งหรือจัดเก็บสิ่งไหน เช่น การทบทวนการเรียน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมอีกเช่นกัน

Chasing New Horizons

ออกนอกโลกสู่ดาวพลูโต

ชยภัทร ผู้แปล “Chasing New Horizons ภารกิจพิชิตดาวพลูโต” ที่เขียนโดย Alan Stern และ David Grinspoon เล่าถึง นิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ยานอวกาศลำแรกที่สำรวจดาวพลูโตว่า เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้คนที่มีความรู้หลายแขนงเป็นสมาคมในยุค 80-90’s สุดท้ายนิวฮอไรซันส์เป็นจริงหลังจากผลักดันโครงการเป็นสิบปี จากการเปลี่ยนแปลงในนาซ่าที่ลดโครงการขนาดใหญ่ลงและผลักดันโครงการเล็ก ๆ ให้ถี่ขึ้น รวมทั้งนักการเมืองในสมาคมที่สนับสนุน

ตอนเริ่มพลูโตยังเป็นดาวเคราะห์อยู่ และถูกลดสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระระหว่างภารกิจ แต่โครงการนี้ก็ยังพยายามยืนยันสถานะเดิมของพลูโตต่อไปอย่างแน่วแน่

ในที่สุดเมื่อปี 2015 นิวฮอไรซันส์ก็บินสำรวจผ่านดาวพลูโต และส่งข้อมูลที่น่าตื่นเต้นกลับมายังโลก เปลี่ยนภาพดาวพลูโตที่ดูเป็นก้อนอะไรไม่รู้ให้มีความคมชัด เดิมทีคาดว่าพูลโตเป็นเพียงดาวที่ตายแล้ว หลังสำรวจกลับพบธารน้ำแข็ง ของเหลวไหลหมุนเวียนอยู่เรื่อย ๆ และมีระบบบรรยากาศที่ซับซ้อนมาก

ดร.นำชัยเสริมว่า พลูโตมีอะไรที่น่าสนใจมาก ทั้งโครงสร้าง ลักษณะการโคจร ทำให้เกิดการถกเถียงและถอดออกจากการเป็นดาวเคราะห์ อีกส่วนคือรูปหัวใจบนดาวที่เกิดจากทุ่งโล่งและธารน้ำแข็งที่มีสีเด่นขึ้นมา

การมีธารน้ำแข็งบนดาวอื่น ไม่ได้บอกเพียงแค่มีของเหลวอื่นอยู่นอกโลก อาจหมายถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลก ข้อแม้สำคัญคือต้องมีน้ำและต้องอยู่ในสภาวะของเหลว ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่พบน้ำในสถานะของเหลวอยู่นอกโลก นั่นคือความหวังเล็ก ๆ ว่าอาจเคยมี กำลังมี หรือจะมีสิ่งมีชีวิตได้ในอนาคต ณ ที่นั้น

หนังสือวิทยาศาสตร์ ดีต่อคนอ่าน ดีต่อประเทศ

ชยภัทรกล่าวว่า ยิ่งหนังสือวิทยาศาสตร์และหนังสือความรู้เริ่มเข้ามาตีตลาดในประเทศ ทำให้ตัวเลือกในการอ่านมากขึ้น การหนีตามวิทยาศาสตร์จะเปิดประตูให้คนจำนวนมากได้รับองค์ความรู้ไม่สิ้นสุด

ดร.นำชัยทิ้งท้ายว่า ถ้าหันมาอ้างอิงและเชื่อถือความรู้จากข้อเท็จริงมากขึ้น หนังสือความรู้จะดีทั้งกับคนอ่านและอนาคตของประเทศ ถ้าเอาแต่เชื่อว่าสิ่งที่เราคิดดีสุดและถกเถียงกันไม่ได้นั้นพัฒนายาก

โลกวิทยาศาสตร์ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแนวคิดอยู่เสมอ วิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ความจริง เพราะความจริงเปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงอยู่นิรันดร์

พบกับสำนักพิมพ์มติชนได้ที่บูท M49 กับ “Matichon x ไข่แมว” ในธีม “BOOKSELECTION” ถ่ายทอดเส้นสีแสบสันล้อไปกับการเมืองช่วงเลือกตั้ง ผ่านงานศิลปะผสมอารมณ์ขันหยิกแกมหยอกที่ถูกออกแบบอยู่ภายในบูท ของพรีเมี่ยม และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยกขบวนหนังสือใหม่หลากหลายแนวกว่า 26 ปกมาเสิร์ฟนักอ่าน