กรมศิลป์ เชิญประชาชนสักการะพระธาตุและเทวดานพเคราะห์รับปีใหม่ไทย

กรมศิลปากร นำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ ออกให้ประชาชนสักการะ สรงน้ำ และขอพรรับปีใหม่ไทย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถึงวันที่ 14 เม.ย.นี้

วันที่ 13 เมษายน 2566 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนได้ร่วมกันบวงสรวงสมโภชพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวานนี้ (12 เม.ย.)

นายพนมบุตร จันทรโชติ
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

โดยกรมศิลปากรจะนำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ออกให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ 2566 ถึงวันที่ 14 เมษายนนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ในสมัยโบราณคนไทยมักไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับตามการขึ้นศักราชใหม่ในช่วงปีใหม่ไทยหรือสงกรานต์ หากปีใดมีความป่วยไข้หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษาโดยเฉพาะเจ้านายก็จะขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่

กรมศิลป์

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงได้จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์เป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลในปีใหม่ไทย

โดยอัญเชิญพระธาตุในพระกรัณฑ์ที่ประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล มาเป็นประธานในพิธี และเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายตามความเชื่อโบราณ มาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำขอพรกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต  สืบสานประเพณีไทย และต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้คงอยู่

กรมศิลป์

สำหรับประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ที่อัญเชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนสักการะสร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70

เมื่อเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทยและรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงที่คาดว่าได้รับอิทธิพลจากตะวันตก จึงสันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 12 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

กรมศิลป์

ประติมากรรมเทวดานี้มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพยดาบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้าง

ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ ถ่ายทอดเทวดานพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัวและแสดงท่าทางลักษณะได้อย่างมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์

กรมศิลป์

สำหรับเทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) โดยมีเทพบริวารอีก 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์ และเป็นเทพที่คอยปกปักรักษาผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย

พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง, พระจันทร์ ทรงม้า, พระอังคาร ทรงมหิงสา, พระพุธ ทรงคชสาร , พระพฤหัสบดี ทรงกวาง, พระศุกร์ ทรงโค, พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์, พระราหู ทรงพญาครุฑ และพระเกตุ ทรงนาค