คุยมัน ๆ กับ ALEX FACE สตรีตอาร์ตคือการเรียกร้อง เรื่องราวสำคัญกว่าเทคนิค

สตรีตอาร์ต (street art) หรืองานศิลปะข้างถนน ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เวลาเนิ่นนานก็ไม่ได้ทำให้มันแมสขึ้นมา แม้จะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่สตรีตอาร์ตทั่วโลกก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมย่อย คนรักก็รัก คนชังก็ชัง แม้แต่ในประเทศที่ว่ากันว่ามีความเสรีและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ street artist มากที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีปัญหา พ่นตรงไหนก็โดนตามลบ แม้ว่าจะพ่นบนผนังตึกของเอกชนที่ขออนุญาตเจ้าของแล้วก็ตาม

ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน …พ่นแล้วลบ ลบแล้วพ่น วนกันไป แต่บรรดาศิลปินก็ยังขยันสร้างผลงานบนกำแพงดึงให้ผู้คนหันมอง เปลี่ยนกำแพงร้างให้มีสีสัน เปลี่ยนจุดอับให้มีเสน่ห์

พัชรพล แตงรื่น หรือ ALEX FACE เป็นศิลปินคนหนึ่งที่พ่นสีบนกำแพงมาแล้ว 15 ปี เริ่มต้นแบบวัยรุ่นมือบอน แต่ก็เอาจริงเอาจังกับมันมาเรื่อย ๆ พัฒนาความคิด ฝีมือ แล้วเวลา ผลงาน และการยืนหยัดในเส้นทางนี้ก็พิสูจน์ว่าเขาคือ “ตัวจริง”

น่าจะอย่างน้อย 5 ปีแล้วที่ ALEX FACE ก้าวขึ้นมาเป็นสตรีตอาร์ติสต์อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย มีชื่อปรากฏในสื่อเกือบทุกสำนัก และโกอินเตอร์เป็นที่รู้จักในหมู่คนชอบสตรีตอาร์ต ขนาดที่ว่าขณะกำลังพ่นกำแพงในลอนดอนก็มีคนตะโกนว่า “ALEX FACE from Bangkok”

งานสร้างชื่อของเขาคือแคแร็กเตอร์ “น้องมาร์ดี” เด็กหญิง 3 ตาในชุดกระต่ายที่เที่ยวเล่นซุกซนกับพื้นที่และประเด็นสังคมอย่างโตเกินวัย เขาคือเจ้าของผลงานสตรีตอาร์ตในเมืองเก่าภูเก็ตที่เป็นข่าวโด่งดัง และล่าสุดผลงานเด็กหญิงมาร์ดีมีจมูกพินอกคิโอในชุดเสือดำ

นอกจากการสร้างสรรค์งานสตรีตอาร์ตของตัวเองแล้ว เขาเป็นมือศิลปินที่งานคอมเมอร์เชียลวิ่งเข้าหามากจนต้องปฏิเสธไปครึ่งต่อครึ่ง

เราชวน ALEX FACE มาพูดคุยแบบมัน ๆ ถึงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับ “สตรีตอาร์ต” แม้จะดูกวน ๆ เริ่มแรกเหมือนขี้เกียจตอบ แต่พอคุย ๆ ไปเริ่มสนุก เขาพรั่งพรูความในใจออกมา จนออกปากเองว่า“นี่เหมือนมานั่งปรับทุกข์”

Q : มองว่าสตรีตอาร์ตเป็นศิลปะเพื่อชีวิตมั้ย หรือมองว่ายังไง

สตรีตอาร์ตมันเป็นการเรียกร้องอะไรบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง พื้นฐานมันมาจากการขบถ อย่างที่อังกฤษมันเริ่มจากมีโรงงานข้ามชาติเข้าไปตั้งในชุมชนของเขา แล้วเขาไม่เห็นด้วย วิธีการที่แสดงออกได้คือการทำงานอาร์ตไปประท้วง บางคนบอกว่าสตรีตอาร์ตคืองานที่อยู่บนถนน บางทีจัดงานแล้วเอาชอล์กไปเขียนถนนกัน แบบนั้นมันเหมือนกิจกรรมมากกว่า

Q : ถึงแม้ว่าได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งยังโดนตามลบ อยากสื่อสารให้คนเข้าใจมั้ยว่าสตรีตอาร์ตมันสร้างมูลค่าให้เมืองได้ อย่างเช่นกับหน่วยงานที่เขารับผิดชอบพื้นที่

ผมว่าถ้าเราไม่ได้พ่นประเด็นที่ไปเสียดสีหรือทำร้ายจิตใจใครขนาดนั้น มันก็ไม่น่ามีปัญหา แต่อาจจะเป็นเรื่องความเซนซิทีฟ เรื่องวัฒนธรรม

Q : “ไม่ทำร้ายจิตใจใคร” ก็เป็นประเด็นที่พูดยาก จะเอาจิตใจใครตัดสิน

ถ้าเราพูดแบบนี้หมายถึงว่าเราจะทำอะไรไม่ให้ทำร้ายจิตใจใคร ก็ไม่ต้องทำอะไรดีกว่า การทำอะไรสักอย่างมันไม่มีใครเห็นดีเห็นงามด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องมีคนชอบคนไม่ชอบ แต่ว่าถ้าเราจัดงานเป็นเรื่องเป็นราว มันมีการออร์แกไนซ์มีการจัดการก็ถือว่ามีการคิดมาแล้วระดับหนึ่ง ไม่ได้เรื่อยเปื่อยมั่วซั่ว แต่เมื่อก่อนเรามั่วซั่วพ่นกันเอง

Q : ตอนนี้ทุกครั้งที่ทำ เป็นตึกที่ขอเจ้าของแล้ว

การทำเฟสติวัลผ่านการขอถูกต้องแล้ว ต้องขอเมือง ขอเขต แต่ถ้าเป็นศิลปินอิสระไม่ได้ทำในงานที่มีออร์แกไนซ์ก็ไม่ยากหรอกครับ ผมก็ทำกันเอง เราสนใจเราก็ทำ ลองเข้าไปเจรจาดู บางครั้งมันง่ายด้วยซ้ำ หมายถึงง่ายในความรู้สึกเรา มันอิสระ ตอนนี้มีเจ้าของตึกมาเชิญเราไปทำมากกว่า มันอยู่ในช่วงที่เราอาจจะต้องเลือก

Q : ความสนุกในการทำงานมันต่างไหม ระหว่างทำกันเองกับทำในงานที่มีออร์แกไนซ์

ถ้าออร์แกไนซ์ค่อนข้างเปิดในเรื่องความคิด ให้เราทำอะไรก็ได้ มันก็ยังสนุกอยู่ แต่ถ้าเป็นงานคอมเมอร์เชียล มันคนละแบบกัน การทำคอมเมอร์เชียลกับการทำอะไรที่เราอยากพูดจริง ๆ ความสนุกมันต่างกันอยู่แล้ว คอมเมอร์เชียลเราทำหารายได้ มันต้องรักษาบาลานซ์ให้ดีครับ

Q : เป็นคนที่มีงานคอมเมอร์เชียลเข้ามาเยอะ การเลือกว่าจะร่วมงานกับแบรนด์ไหน ไม่รับแบรนด์ไหน พิจารณาอะไรบ้าง

หลัก ๆ ก็ดูว่าแบรนด์นั้นมันไปด้วยกันได้กับสไตล์งานของเรามั้ย มันขัดกับไลฟ์สไตล์เรามั้ย หรือว่าขัดอุดมการณ์เรามั้ย ก็ดูประมาณนั้นครับ ถ้าแบรนด์ไหนไม่ใช่ เราอาจต้องปฏิเสธ หรือถ้าเรื่องเวลา หรือดีลไม่เวิร์ก เวลาเราไม่พอ แต่หลัก ๆ ดูเรื่องสไตล์มากกว่า

ถ้าเขาติดต่อมา 5 งานในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน ผมก็ไปไม่ได้ ถ้าผมไปพ่นให้ทุกคน ผมอาจไม่ได้ทำอย่างอื่น ชีวิตเรามันมีรายละเอียดอย่างอื่น เช่น เราต้องหยุดพัก เราต้องหาแรงบันดาลใจใหม่ เราต้องดูแลลูก เรามีอะไรที่อยากทำ อย่างผมจะต้องวาดรูป ปัญหาของผมคือพอออกนอกสตูดิโอ ผมไม่ได้ทำงานในสตูดิโอเลย ผมก็อยากตื่นเช้ามาสบาย ๆ นั่งวาดรูป ตกตะกอน แล้วอีกอย่างเราพ่นสี สารเคมีมันเข้าในร่างกาย แต่ว่าการออกข้างนอกมันก็สนุกไง ตอนนี้เป็นช่วงที่เรามีแรง คิดว่าลุยได้ก็ลุยไปก่อน แต่ก็ต้องรักษาบาลานซ์ ต้องมีเวลาทำงานในสตูดิโอด้วย เพราะว่ามันเอื้อกัน เราได้ไอเดียจากการทำงานในสตูดิโอ และบางทีเราไปทำงานข้างนอก เราก็ได้ไอเดียมาทำงานในสตูดิโอ

Q : งานสตูดิโอหมายถึงงานของเรา ไม่ใช่งานที่รับงาน ?

งานเพนติ้ง งานส่วนตัวที่เราอยากวาด งานที่ทำโชว์ โปรเจ็กต์ที่เราสนใจ ซึ่งมันก็มีที่ผมอยากลงพื้นที่มาก อยากไปวาดรูปริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมทำไว้แล้วเซตหนึ่ง แต่อยากลงไปอีก มันมีประเด็นที่เราอยากโฟกัสครับ อยากเก็บบรรยากาศไว้ อีกหน่อยมันจะหายไป จะไม่เห็นวิวแบบนี้ …น่าเศร้า ผมไปวาดมากขึ้นก็รู้สึกเสียใจกับมันมากขึ้น มันไม่ถูกวิเคราะห์ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เราลงทุนในสิ่งไม่คุ้มค่า การที่ผมได้ลงพื้นที่ได้คุยกับชาวบ้าน อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าเขาคิดอะไร การที่ผมไปนั่งริมแม่น้ำ มันได้บันทึกความทรงจำของตัวเอง ผมไม่มีสิทธิ์ ไม่มีปัญญาจะไปต่อต้านอะไรได้หรอก ถ้าผมเป็นก็อดซิลล่า เป็นอุลตร้าแมนตัวใหญ่ ๆ จะเดินรื้อให้หมดเลย แต่เราไม่ใช่อย่างนั้นไง ผมก็ทำได้แค่วาดรูปเก็บไว้ พอผ่านไป 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือผมตายห่าไปแล้ว เอารูปนี้กลับมาดูแล้วค่อยคิดว่ามันเกิดอะไรกับสังคมเราตอนนี้

Q : จะลงไปวาดกำแพงในพื้นที่ไหม

กำลังคิดหาโลเกชั่นอยู่เหมือนกัน เวลาเราไปลงพื้นที่เราได้ไอเดีย ถ้าเรานั่งอยู่บ้าน เราจะทำอะไรดีวะ แต่ถ้าเราไปได้คุยกับคน ได้เจอวิถีชีวิตเขา ได้ไปเจออะไรที่กำลังจะเกิดกับเขา มันก็ได้ไอเดีย มันเหมือนไปหาข้อมูล

Q : มีเรื่องอะไรบ้างที่อินหรือสนใจเป็นพิเศษ

ถ้าเลือกมุมใดมุมหนึ่งของสังคมมันก็ยากเนาะ เพราะว่ามันมีประเด็นที่ซับซ้อนมากในสังคมเรา มันทุกเรื่องอ่ะ มันควรจะแก้ไขทุกเรื่องเลย แต่เราก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เราสนใจหมดแหละ พูดรวม ๆ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมเรา

Q : สตรีตอาร์ตเป็นงานที่คนอาจจะไม่มีเวลาไปยืนพินิจพิเคราะห์นาน บางคนแค่นั่งรถผ่าน ในมุมคนทำคิดว่าต้องทำให้เห็นแล้วเข้าใจง่ายไหม

โดยทั่วไป คนดูเขาตีความตามประสบการณ์ของเขาอยู่แล้ว ถ้าเข้าใจง่ายมันก็มีเส้นของมันอยู่ว่าจะกลายเป็นภาพประกอบหรือเปล่า เราจะเล่าเรื่องแบบเข้าใจโป้งมาเลย หรือทิ้งพื้นที่กลางไว้ให้เขาเห็นว่ามีประสบการณ์ร่วมกับเรา เราเลือกแบบหลังมากกว่า มันไม่ได้เล่าเรื่องเป็นฉาก ๆ หรืออธิบาย แต่มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า

Q : แต่สัญลักษณ์หรืออะไรที่ทิ้งไว้มันต้องเห็นชัดว่าเป็นรูปอะไร ก่อนจะเก็บไปตีความ ?

เราก็ทำให้เข้าใจง่ายในสเต็ปหนึ่ง ปังแรกอาจจะเป็นว่าเราพูดถึงเรื่องอะไร ต่อไปก็มาดูว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในอันนั้นอีก อย่างเช่น ชิ้นที่ผมทำที่มีนกพิราบบิน เห็นนกพิราบก็รู้แล้วว่าเป็นเรื่องสันติภาพ แต่มันมีสายไฟรัด มันไม่สามารถบินขึ้นไปได้จริง ให้เขาคิดต่อว่าทำไมมันถึงบินไม่ได้ มันถูกรั้งไว้ทำไม ตามที่แต่ละคนจะคิดต่อ มันเป็นอารมณ์นั้นมากกว่า

Q : มองว่าเรื่องเทคนิคสำคัญหรือไม่สำคัญ เคยได้ยินเขาแบ่งแยกกันว่าอันนั้นเจ๋งกว่าอันนี้ อย่างเช่น Banksy เคยโดนว่าไม่เจ๋งจริงหรอก ใช้เทคนิค stencil ง่าย ๆ

โดยส่วนตัวเราว่าเรื่องมาก่อน แล้วเทคนิคตามมา ใช้เทคนิคอะไรก็ได้ ยกตัวอย่างกลับไปที่ประเด็นแม่น้ำเจ้าพระยา มันมีเรื่องไง เราก็เพนต์แลนด์สเคปด้วยสีน้ำมัน มันเรียบง่ายแต่ตอบโจทย์ที่เราจะพูด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเพนต์ สเตนซิล หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันตอบโจทย์ มันไม่ได้มีอะไรเจ๋งหรือไม่เจ๋งกว่ากัน ความเจ๋งมันอยู่ที่ไอเดีย สเตนซิลออกแบบมาเพื่อความรวดเร็ว มันไม่มีอะไรง่ายหรอก ลองไปนั่งตัดบล็อกสิ เพื่อนเราทำสเตนซิลเป็นตึก ตัดอยู่เป็นเดือน มันก็ไม่ง่าย มันต้องใช้ความพยายามทั้งนั้น

Q : ประเด็นงานสตรีตอาร์ตโดนตัดเอาไปขาย มีศิลปินแสดงความเห็นว่าสตรีตอาร์ตสร้างมาเพื่ออยู่ข้างถนนเท่านั้น ไม่ควรเอาไปประดับบ้านหรือโชว์ในพิพิธภัณฑ์ มองประเด็นนี้ยังไง

ตอนนี้ประเทศไทยมันยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็คงน่าสนใจ เรามองว่าถ้าเราไปทำไว้ในที่สาธารณะ ถ้าพ่นเสร็จแล้ว ถ่ายรูปเสร็จแล้ว เราต้องปล่อยนะ มันไม่ใช่กำแพงเรา ใครจะเอามันไปทำอะไร มันไม่ใช่สิทธิ์ของเรา ถ้ามีคนตัดก็ต้องยอมใจมันอ่ะ

Q : ในเชิงอุดมการณ์ของศิลปิน มีปัญหามั้ยที่มันถูกเอาไปไว้ที่อื่น

ตอนที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นกับ Banksy ในมุมศิลปินมันควรอยู่ตรงนั้น ให้มันหายไปตามธรรมชาติ ถ้าเป็นงานของเรา โดยส่วนตัวเราก็คงรู้สึกกลัวเหมือนกันว่ะ คงรู้สึกแปลก ๆ ถ้าทำอะไรแล้วมีคนจ้องเอาไปขนาดนั้น แต่เราว่ามันคงมีวิธีแก้ เช่น ทำบนตึกใหญ่ ๆ มันจะตัดยังไงได้หมด เราว่าไม่ต้องห่วงประเด็นนี้หรอก มันค่อนข้างยุ่งยาก คนตัดต้องใช้งบประมาณสูงในการตัด เคลื่อนย้าย มันไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ๆ เราจะมองว่าไอ้นี่บ้าดีว่ะขอคุยกับมึงหน่อยเหอะ ก็คงไม่รู้จะยังไงกับมันเหมือนกันว่ะ (หัวเราะ)

Q : ก่อนจะดังและทำเงินได้จากชื่อ ALEX FACE ทำอาชีพอะไร

ทำหนัง ทำโฆษณาอยู่พักหนึ่ง รู้สึกว่าเราไปทำงานให้คนอื่นเยอะไป ก็เลยออกมารับจ้างวาดรูป เราพยายามทำจ็อบที่ยังใช้ทักษะวาดรูปอยู่ เพราะมันเป็นการฝึกสกิล บางคนทำศิลปะแต่หางานอย่างอื่นทำ มันจะเสียเวลาฝึก เรารับวาดรูปไปเรื่อย ๆ และค่อย ๆ รักษาบาลานซ์ จนกระทั่งวันหนึ่งงานศิลปะที่เราทำมันขายได้ เราก็ค่อย ๆ เฟดจ็อบลง

ถ้าเป็นรายได้จากงานของ ALEX FACE มันมีจุดเปลี่ยนช่วงที่ทำโชว์ The Underground Adventure ปี 2012 เป็นปีที่กลับมาทำหน้าเด็ก เราคิดว่าทำเอ็กซิบิชั่นครั้งนี้ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงชีวิตบ้างวะ เราใช้เวลาทำอยู่ 3 ปี ตั้งใจมาก มีการเปลี่ยนเทคนิคใหม่ จากที่เคยพ่นเร็ว ๆ มาใช้เทคนิคแบบที่เราไปวาดรูปให้คนอื่น เราทำงานให้คนอื่นใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ทำงานตัวเองทำแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง ก็เลยเอาสมาธิทั้งหมดมาใส่กับงานตัวเอง แล้วงานชุดนั้นก็ขายได้ ยกเซตเลย เป็นงานแรกที่เอาหน้าเด็กมาทำแคแร็กเตอร์ หลังจากนั้นก็พ่นมาเรื่อย ๆ

Q : มีอะไรอยากสื่อสารไปถึงรุ่นน้องมั้ย

ก็อาจจะพูดประเด็น… ถ้าอยากประสบความสำเร็จมันต้องแลกกับการทำงานหนัก ต้องแลกกับการฝึกฝน แลกกับวินัยในการทำงาน เราเคยคุยกับรุ่นน้อง มันบอกว่า พี่…ผมอยากเป็นศิลปิน แต่ผมจะลองสักสองปี ถ้าไม่เวิร์กผมจะไปทำอย่างอื่น เราบอกงั้นก็ไปทำอย่างอื่นเลย ไม่ต้องทำหรอก เพราะการทำงานอย่างนี้มันต้องแลกมาทั้งชีวิตนะ ถ้าตอนนี้เรายังไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีคนมาสนใจ เราก็คงวาดรูปให้คนอื่นเหมือนเดิมหรือทำอย่างอื่นที่มันเลี้ยงตัวได้ แต่เราก็ยังวาดรูปของตัวเองอยู่

ตอนที่เรายังเป็นเด็กเพิ่งจบใหม่ ความฝันเรามันไม่ใช่อยากดังหรืออยากอู้ฟู่ ความฝันของเราคืออยากเป็นศิลปินที่ได้ทำงานศิลปะของตัวเอง ตอนนี้เราประสบความสำเร็จแล้วที่ได้ทำงานศิลปะที่เราอยากทำ เราวาดรูปมาตลอด วาดไม่หยุด มันไม่มีทางลัด เราอาจจะโชคดี แต่เราขยันด้วย และมีการวางแผนด้วย ไม่ใช่วาดอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี มันหลายอย่าง เราต้องพยายามโฟกัส ต้องมีระเบียบ มันเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันนะ ดูเหมือนว่าเราเป็นศิลปินอีเหละเขละขละ แต่จริง ๆ ต้องทำงานเยอะมาก ตื่นมาต้องโฟกัสและทำงาน มันไม่มีใครมาบังคับเรา เราต้องลุย อะเลิร์ตตลอดเวลา หาไฟให้ตัวเอง อ่านหนังสือ หรือว่าไปอยู่กับคนที่เก่ง ๆ ไปดูคนที่เก่ง ๆ ที่ทำไม่หยุด

Q : ศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจที่สุดคือใคร

หลายคนมาก ศิลปินทุกคนอ่ะ ที่เราชอบ ๆ ที่เคยพูดถึงมากที่สุดก็คือ โมเน่ต์ เราไปฝรั่งเศส ตามไปดูบ้านเขา หรือ แวน โก๊ะเขาวาดรูปทุกเวลา ศิลปินเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้หมดเลย ศิลปินระดับมาสเตอร์ที่โลกจารึกทุกคนทำงานหนัก เขาทำงานไม่หยุด เขาทุ่มเทชีวิตจริง ๆ มันทำให้เราคิดว่าเราเลือกจะทำงานศิลปะแล้ว เราก็ต้องเอาเขามาเป็นต้นแบบ ทำงานไม่หยุด ทำงานจริงจังและทุ่มเท ศิลปินทุกคนมันให้พลังแก่กันได้ เราก็หวังว่างานของเราจะให้พลังกับรุ่นน้องหรือรุ่นถัด ๆ ไป ให้เขาเห็นงานเราแล้วคิดว่าอยากทำแบบนี้ แล้วเขาทำได้ดีกว่าเรา ยิ่งใหญ่กว่าเรา เต็มที่ไปเลย เราว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องส่งต่อแรงบันดาลใจให้รุ่นต่อไป ซึ่งเราก็ได้รับมาจากรุ่นก่อน อาจารย์ รุ่นพี่

Q : ตอนนี้มีโปรเจ็กต์ทำคีย์วิชวลบูทมติชน ภาพเด็กนอนอ่านหนังสือ สื่อตรง ๆ เลย หรืออะไรยังไง

สื่อตรง ๆ ง่าย ๆ เป็นเรื่องคอมโพซิชั่นที่ต้องไปวาง พื้นที่มันยาว โจทย์มันมาแบบนั้น ถ้าไม่นอน พอไปวางมันจะตัวเล็ก แต่ก็พยายามใส่นัย ในหนังสือมีลูกตาอยู่หลายดวง คือหนังสือเป็นการเปิดลูกตาในการมองอะไรต่าง ๆ การอ่านหนังสือทำให้มองเห็นอะไรเยอะขึ้น

Q : ตอนที่ได้รับการติดต่อ คิดอะไรก่อนจะตัดสินใจ ลังเลมั้ย

ไม่มีอารมณ์ลังเลครับ เพราะจริง ๆ ผมทำงานหลายอย่าง หลากหลายอยู่แล้ว โปรเจ็กต์นี้ ผมคิดถึงประเด็นที่ผมสามารถพูดถึงเรื่องการอ่าน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจตรงที่การอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาคนได้ ลูกผม ภรรยาผม ก็เป็นครอบครัวชอบอ่านหนังสือ เป็นโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ มันน่าจะกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือหรือพัฒนาตัวเองจากการอ่าน


ใครเป็นแฟน ALEX FACE หรือเป็นคนรักการอ่านหนังสือ ติดตามภาพน้องมาร์ดีนอนอ่านหนังสือได้ที่บูทมติชนในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 29 มีนาคม-8 เมษายนนี้