เรื่อง : รุ่งนภา พิมมะศรี, ปนัดดา ฤทธิมัต ภาพ : ชินวัฒ สมหวัง
กระแสความนิยมวง Paper Planes (เปเปอร์ เพลนส์) ในหมู่เด็ก ๆ ที่เรียกกันว่า “วัยรุ่นฟันน้ำนม” ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นภาพชัดจนไม่จำเป็นต้องสาธยายถึงความเป็นที่นิยมของพวกเขาอีกแล้ว
งานโชว์ และแบรนด์สินค้าต่าง ๆ วิ่งเข้าหาพวกเขาเพื่อหวังทำการตลาดกับเด็ก ๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยที่ศิลปินร็อกซึ่งมีรอยสักตามเนื้อตัวจะได้รับงานเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าเด็ก
แม้ว่าคนทั่วไปเห็นกระแสความโด่งดังของวงผ่านความนิยมในหมู่เด็ก ๆ ฟันน้ำนมที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพาไปดูคอนเสิร์ตกันเป็นครอบครัว แต่ ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ (ร้องนำ กีตาร์) และ เซน-นครินทร์ ขุนภักดี (เบส) สองสมาชิกวง Paper Planes บอกในการให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความจริงแล้ว แฟนเพลงส่วนใหญ่ของวงยังเป็นวัยรุ่นตอนกลาง ๆ อยู่ เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมากระแสแฟนเพลงรุ่นเด็กได้รับความสนใจจากสื่อ และถูกนำเสนอภาพออกไปมากกว่ากลุ่มแฟนเพลงทั่วไป
Paper Planes เริ่มต้นจากการเป็นวงไซด์โปรเจ็กต์ของฮายกับเพื่อน ๆ ก่อนที่เซนจะเข้าวงในเวลาต่อมา ใช้เวลาหลายปีกว่าจะมาถึงจุดที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างเกินความคาดหวัง ซึ่งก่อนจะมาดังระเบิดกับเพลง ทรงอย่างแบด พวกเขามีเพลง เสแสร้ง ที่ดังมากเช่นกัน
นอกจากผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมแล้ว สองหนุ่ม Paper Planes ยังได้รับคำชื่นชมถึงความคิด-ทัศนคติที่ดีในหลาย ๆ ครั้งที่คำพูดของพวกเขาถูกสื่อสารออกมา ซึ่งคำชื่นชมหลาย ๆ ครั้งจะมาพร้อมกับคำที่สื่อว่าอยากรู้จักพวกเขามากขึ้น
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา Paper Planes เพิ่งปล่อยเพลงใหม่ชื่อว่า ขอให้โชคเลว (Good luck, Not!) เนื้อหาอวยพรประชดประชันแฟนเก่าที่นอกใจ กับดนตรี pop punk ท่วงทำนองที่ฟังติดหูง่าย
“ประชาชาติธุรกิจ” ถือจังหวะนี้ ชวนรู้จักกับ Paper Planes ให้มากขึ้น จากบทสนทนาขนาดค่อนข้างยาวที่จะค้นตัวตนและความคิดของฮายและเซนในย่อหน้าถัดจากนี้
Q : อยากให้เล่าเส้นทางการเล่นดนตรีของแต่ละคนก่อนจะเป็น Paper Planes
ฮาย : ผมเริ่มต้นทั่วไปครับ เร่ิมจากการหัดเล่นกีตาร์ พอเริ่มหัดเล่นก็ได้เล่นงานร้านอาหารในท้องที่ แล้วพอเราโตขึ้นเล่นผับได้ก็ขยับไปเล่นผับ เล่นงานลานเบียร์ หารายได้ไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าเราอยากทำเพลงของตัวเอง เรามีความอยากเป็นศิลปินมากกว่า ก็เลยเลือกออกจากตรงนั้นมาเลย มาดูลู่ทางว่าเราจะทำยังไงได้บ้าง ก็เลยเริ่มจากการเล่นเป็นวงใต้ดิน
การเล่นร้านมันได้เงิน พอมาเล่นวงอันเดอร์กราวนด์มันไม่ได้เงิน แต่มีเพลงเป็นของตัวเอง ก็เลยหาอาชีพประกอบไปด้วย ตอนนั้นผมก็เลยได้ทำงานเป็น technician (เซตอุปกรณ์เครื่องดนตรี และดูแลแก้ปัญหาทางเทคนิคระหว่างการแสดง) ให้กับวงซีล (Zeal) ก็ทำแบบนี้ควบคู่กันไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นก็ทำเพลงของเราไปด้วย ก็เลยได้หัดทำเบื้องหลัง แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ จนขยับ ๆ ไปทำเบื้องหลังให้ศิลปินใต้ดิน แล้วค่อย ๆ ขยับไปทำให้ศิลปินบนดิน
แล้วหลังจากนั้นก็แยกตัวจากวงที่เป็นวงอันเดอร์กราวนด์มารวมกับเพื่อน ๆ อีกวง เป็นไซด์โปรเจ็กต์ ทำเพลงที่ย่อยง่ายมากขึ้นแต่ยังคงเป็นเพลงร็อกอยู่ ณ ตอนนั้นก็เลยเกิดเป็น Paper Planes ขึ้นมา ส่วนเซนเข้ามาทีหลัง ช่วงทำซิงเกิลที่สอง มีเพื่อนบางส่วนออกจากวงไป
เซน : ผมก็คล้าย ๆ กันครับ เริ่มจากเด็กชอบดนตรี ผมเริ่มจากเล่นวงของโรงเรียนตอนมัธยม เป็นวงลูกทุ่งที่สามารถออกงานจ้างตามอีเวนต์ในจังหวัดได้ ก็เริ่มคิดว่าเราหารายได้จากสิ่งที่เราชอบได้ ก็เลยทำมาเรื่อย ๆ พอถึงช่วงเรียนมหา’ลัย ก็ไปเล่นดนตรีตามร้าน เริ่มมีวงของตัวเอง
ตั้งแต่เด็กเราก็รู้สึกว่าเราอยากเล่นเพลงของตัวเอง จนมาถึงวันหนึ่งได้มาเจอกับ Paper Planes ได้มาทำงานด้วยกัน แล้วเรารู้สึกว่าสไตล์นี้แหละคือสไตล์ที่เราชอบจริง ๆ เรารู้ตัวเองแล้ว รู้ทั้งความฝัน รู้ทั้งความชอบของตัวเองว่าเป็นแบบไหน แต่ช่วงแรก ๆ ก็เหนื่อย Paper Planes ไม่มีงาน ผมมาอยู่ Paper Planes แล้วก็ยังเล่นดนตรีกลางคืนอยู่ และไปเล่นแบ็กอัพให้วงอื่นด้วย
ฮาย : แต่ละคนยังมีเส้นหลักของตัวเอง เป็นงานประจำที่หาเงิน เซนเล่นกลางคืน ของผมก็เป็นโปรดิวเซอร์ ทำเบื้องหลังเป็นงานหลัก และทำ Paper Planes คู่ไปด้วย ซึ่งก็เพิ่งมาสำเร็จช่วงหลัง ๆ แต่งานหลักของผมยังเป็นงานโปรดิวเซอร์อยู่
เซน : ช่วงนั้นปีนึง Paper Planes เรามีงานไม่กี่งานหรอก เต็มที่ก็เฟสติวัลปลายปีงานสองงาน
Q : ช่วงนั้นเข้ามาค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดส หรือยัง
ฮาย : เข้าแล้วแต่ว่ายังไม่ได้มีกระแส จะเป็นเฉพาะกลุ่มมาก ๆ มีแฟนเพลงเฉพาะ เพลงร็อกของพวกผมมันไม่ใช่ร็อกแบบสแตนดาร์ด มันคือร็อกที่ขุดลงไปใต้ดิน มันเฉพาะกลุ่ม มันเลือกกลุ่มคนฟังมาก ๆ
Q : มาในช่วงที่เพลงร็อกแบบนั้นมันไม่เป็นกระแสในสังคมไทยแล้ว ถ้ามาในช่วงที่วงรุ่นพี่อย่าง Retrospect กับ Sweet Mullet ดัง ๆ น่าจะได้แรงหนุนจากเทรนด์ของยุคนั้น
ฮาย : ใช่ครับ ถ้าช่วงนั้นจะมีแรงบูสต์ค่อนข้างเยอะ ผมรู้สึกว่าพอหมดยุคพี่ ๆ Retrospect กับ Sweet Mullet แล้วมันไม่มีอีกเลย ผมเองก็ทำเบื้องหลังให้พี่ ๆ ด้วย ก็ไม่เห็นอีกเลย และไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีกแล้ว ถ้ากลับมาก็คงจะไม่ใช่ฟอร์มเดิมแล้ว คงเป็นเรื่องของพลังงาน เป็นเรื่องฟังแล้วให้ความรู้สึกร็อก แต่ไม่ได้กลับมาใน genre (แนว) ของเพลงร็อก
Q : สรุปได้ไหมว่าเราเข้ามาในช่วงที่สิ่งแวดล้อม-บรรยากาศมันค่อนข้างยากลำบากสำหรับแนวเพลงของเรา
ฮาย : ใช่ ก็คือมาผิดที่ผิดทาง ว่าง่าย ๆ เหมือนทุกคนกำลัง T-Pop กันอยู่ แล้วเราเข้ามา อ๊ากกก (ทำท่าว๊าก) แล้วทุกคนก็… อะไรเนี่ย
เซน : ตอนก่อนหน้าเราออกอัลบั้มแรก ตอนนั้นฮิปฮอปบูมมาก
Paper Planes : เราก็ผิดที่ผิดทาง อยู่ดี ๆ มาเขียนขอบตาอะไรไม่รู้ แต่เราก็จะมีกลุ่มคนฟังของเรา เราก็ได้แฟนเพลงเดนตายที่อยู่กับเรามาตลอด
Q : แล้วมีความหวังไหมว่า เอ๊ะ หรือเราอาจจะเป็นอีกเวฟหนึ่งที่ทำให้เพลงร็อกกลับมาเป็นที่นิยมก็ได้
ฮาย : ผมไม่สถาปนาตัวเองขนาดนั้น แต่พวกผมร็อกกันอยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าถ้ามันจะกลับมา มันจะกลับมาเหมือนสร้างสีสัน มาลดความจำเจของวงการเพลงลง แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะมาประกาศจุดยืนขนาดนั้น ที่พวกเราคิดในวันนั้นนะ มันก็เลยเป็นแนวทางการทำงานของพวกเราว่าทำยังไงก็ได้ให้งานเรามันชัดที่สุด แล้วก็สื่อสารมากขึ้น
Q : ซึ่งจากช่วงนั้นมาถึงตอนที่ “ทรงอย่างแบด” ดัง เป็นเวลาประมาณกี่ปีแล้ว
Paper Planes : 5-6 ปีแล้วครับ ถ้าอายุวง ช่วงแรก ๆ เราปล่อยซิงเกิลปีละเพลงสองเพลง ถ้าตามวิธีการทำงาน ก็ผิดอยู่แล้ว
Q : หมายความว่า เราคิดว่าถ้าอยากเป็นที่รู้จักเร็วก็จะต้องมีงานถี่กว่านั้น ?
ฮาย : ต้องมีงานถี่กว่านั้น แล้วต้องรู้ว่าลีกของเราคืออะไร ต้องรู้ว่าเราแข่งอยู่ในเกมแบบไหน ถ้าเราไม่รู้ธรรมชาติของวง มันจะกลายเป็นว่าเราลงสนามไปแข่งกับความ pop เราจะต้องไปเจอคนที่เป็นชาว pop ซึ่งเราไปแข่งกับเขามันไม่ได้อยู่แล้ว
เซน : มันจะกั๊ก ไปได้ไม่สุดเท่าเขา
ฮาย : คือเรื่องดนตรีมันสอดคล้องกับการใช้ชีวิต มันสอดคล้องกับเรื่องอารมณ์ของคน เวลาเราเจอคนแหกปากเราก็จะไม่ชอบ มันมันเชื่อมโยงกับเรื่องของดนตรีเหมือนกัน เวลาที่เจอแนวเพลงที่ค่อนข้างรู้สึกว่าไม่สบายหู คนก็จะไม่สนใจมันไปเลย ซึ่งแรก ๆ เราเจอนะ ตอนช่วง “ทรงอย่างแบด” คนเขาแบบ “เพลงอะไรวะ” ทำไมจะต้องแหกปากท่อนนี้ด้วย ทำไมไม่ร้องธรรมดา ซึ่งมันก็ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของคนว่า คนคนในยุคเราผ่านอะไรมาเยอะ มันเลยทำให้เกิดการตั้งแง่ได้มากกว่า
เซน : คนโตแล้วมี input มากกว่า มีอะไรให้เปรียบเทียบนู่นนั่นนี่
ฮาย : เขาจะไม่ได้เป็นแบบถ้าชอบก็ฟัง แต่พอเป็นเด็ก เหมือนเขาเพิ่งเกิดมา เขาเป็นศูนย์ เขาก็เลยจะใช้ความรู้สึกข้างในมากกว่า ถ้าเขาชอบ แพตเทิร์นของเพลงมันจะเป็นแบบไหนก็ไม่สำคัญ ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องรู้ว่าเราแข่งในลีกไหนอยู่ เรารู้สึกว่า Paper Planes ไม่ควรไปแข่งกับลีก pop แต่ควรสร้างลีกของตัวเอง ที่ที่เราจะเป็นเพียงหนึ่งเดียว อาจจะเรียกว่าเป็น “niche market” (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) ก็ได้ครับ ถ้าคนชอบก็จะชอบเลย love it or hate it ประมาณนั้น ซึ่งพอมันอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนเจนพอดี มันก็เลยเซตสแตนดาร์ดได้ เป็นจังหวะของพวกเราพอดี
Q : ย้อนกลับไป การที่เข้ามาในช่วงที่เพลงร็อกยากลำบาก Paper Planes สู้มายังไงบ้างจนกว่าจะถึงจุดที่เป็นที่นิยม
ฮาย : ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้ต่อสู้ขนาดนั้น เพราะว่าเราเป็นโปรดิวเซอร์ เราจะเข้าใจธรรมชาติของมัน เราไม่ค่อยเชื่อเรื่องที่ว่า วงดังเท่านั้นถึงจะทำรายได้จากมันได้ ต้องยอดวิวเยอะเท่านั้นถึงจะทำรายได้จากมันได้ มีหลายคนเลยที่เขาไม่ได้ร้อยล้านวิว แต่เขามีงานพรีเซนเตอร์เป็น 10 ตัว หรือเขามียอดในสตรีมมิ่งสูงมาก ๆ หรือเขามีงานอีเวนต์ มีทุกอย่าง และสร้างรายได้ได้
เซน : ฐานแฟนเพลงที่ซัพพอร์ตมีเพียงพอ
ฮาย : ใช่ เราแค่ต้องทำให้เรามีแฟนเพลงที่พร้อมจะซัพพอร์ตเรา ถ้าจะมองในแง่มาร์เก็ตติ้งนะ ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องดัง แต่ให้เราชัด ให้มันเกิดลอยัลตี้ (ความภักดี) ผมว่าลอยัลตี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้ต่อสู้เรื่องแนวเพลงกับกระแสสังคมอะไรขนาดนั้น แค่ต้องหาทางของตัวเองให้เจอ ก็เลยเป็นการค้นหาตัวเอง แล้วตอนนั้นเราก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่อง… (กูนะ – ฮายหันไปพูดกับเซน) ไม่ได้ซีเรียสเรื่องเงิน เพราะว่าเรามีงานหลักของเราอยู่แล้ว แต่นี่… (ฮายยิ้มและแตะแขนเซน)
เซน : ผมเข้าใจธรรมชาติ ด้วยความที่เราเข้าใจธรรมชาติของมันตั้งแต่แรกว่ามันไม่ได้ “มา” ขนาดนั้น ก็แค่ทำสนุก ๆ
ฮาย : ใช่ เหมือนเป็นแพสชั่น เป็นงานเสริม ก็เลยคิดว่าไม่ได้ต่อสู้ ต่อสู้กับตัวเองมากกว่า
Q : แล้วคิดว่าถึงจุดที่เราพอใจตอนไหน ที่ผ่านมาพอใจหรือยัง ในเรื่องที่ว่าเราต้องชัดและมีแฟนเพลงที่มีลอยัลตี้กับเรา
ฮาย : ช่วงแรก ๆ ยังไม่พอใจ เพราะเรายังค้นหาตัวเองอยู่ว่าเราชอบอะไร เราชัดพอหรือยัง เราสื่อสารพอหรือยัง จนเรามาพอใจจริง ๆ ในช่วงที่เราปล่อยเพลง “กำหมัด” แล้วเรารู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เราจะสื่อสาร รู้สึกว่าตัวเองชัดมาก ๆ ในแนวทาง แนวเพลง วิธีการสื่อสาร การเติบโตของวง จนมันมาตอกย้ำอีกรอบตอนเพลง “เสแสร้ง” อันนี้คือชัดมาก ๆ ว่านี่คือสิ่งที่ใช่ นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะบอกทุกคนเลย แต่มันก็ไปไกลเกินกว่าที่เราคาดไปอีก
ถ้าผมถอยออกมาดูตัวเอง ถ้าผมเป็นโปรดิวเซอร์แล้ววิเคราะห์วงการเพลง คือ มันไม่มีเพลงร็อกที่จะได้ร้อยล้านวิวมากี่ปีแล้วก็ไม่รู้ ผมเลยรู้สึกว่าเพียงพอ พอใจมาก ๆ แต่เพิ่งมาพอใจตอนหลัง ๆ เพราะเราปลดล็อกตัวเองหลาย ๆ อย่าง
พอมาถึงเพลง “ทรงอย่างแบด” มันก็เกินไปแล้ว เราปล่อยไปแล้ว ไม่ได้คาดหวังอะไรแล้ว ตอนทำ “ทรงอย่างแบด” ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แค่ทำยังไงก็ได้ให้รู้สึกประทับใจกับมันเหมือนตอนที่เราทำเพลงเสแสร้ง แค่นั้นเลย
Q : ตั้งใจตั้งแต่แรกไหมว่าอยากสื่อสารกับวงกว้าง หมายความว่าเราไม่ได้คิดตั้งแต่แรกใช่ไหมว่าเราอยากอยู่อันเดอร์กราวนด์โดยจะไม่ขึ้นบนดิน
ฮาย : ผมไม่คิดเรื่องบนดินหรือใต้ดินเลย ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่คน catagorize (จัดหมวดหมู่) กันเอง เราแค่อยากทำเพลงในแบบที่เราชอบ และเรามีความเป็นตัวเองสูง ณ ตอนนั้น แต่พอเราโตขึ้น เราก็ไม่ได้อินกับเพลงที่มันว๊ากทั้งเพลงอย่างเดียวแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างที่เราชอบ แล้วพอโตขึ้นเรื่อย ๆ มันก็จะไปของมันเอง มันก็จะโตขึ้นไปเรื่อย ๆ
เราเลยไม่ได้กำหนดเพดานของตัวเอง เราแค่อยากทำในสิ่งที่เราชอบ แล้วที่เราคิดเรื่องการสื่อสารว่า เราสื่อสารหรือไม่สื่อสาร มันเป็นเพราะว่าเราอยากให้เพลงของเราเข้าไปอยู่ในใจของคนฟัง และผมเชื่อว่าเราก็อยากมีชื่อเสียงเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ทำเพลงลงสตรีมมิ่ง ลง YouTube เราก็อยากมีคนชอบเพลงของเราเยอะ ๆ มันชัดเจนมาก ๆ ที่เหลือผมก็แค่ทำไปตามทีละสเต็ป
Q : ทุกอย่างที่มีตอนนี้เกินคาดไปหมดแล้วใช่ไหม
ฮาย : ถ้าจะพูดว่าเรามีอยู่มันก็ครบหมดแล้วครับ เราสามารถนำเสนอสิ่งนี้ให้กับสังคมแล้วทำให้สังคมยอมรับสิ่งนี้ได้แล้ว
เซน : มันเกินกว่าการทำสิ่งที่ตัวเองชอบให้คนอื่นชอบไปแล้ว มันเหมือนเพลงของเรามันพาเราไปเปลี่ยนสังคมได้ ถึงขั้นนั้นไปแล้ว ผมรู้สึกดีมาก
ฮาย : คนเปิดใจ ทำให้รู้สึกว่าเพลงมันก็แค่เพลง ถ้าเราชอบมันก็คือจบ ไม่เกี่ยวว่าฟังเพลงร็อกหนวกหู ผมว่ามันหมดยุคแล้ว เด็ก ๆ ก็คงจะเฉย ๆ กับสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว มีแต่พวกเราที่มีกรอบให้กับตัวเอง
Q : พอมาอยู่ในจุดนี้ ซึ่งคนที่เข้าหาเราเป็นกลุ่มที่เราไม่ได้มองไว้ตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ปกครองของเขา และโปรดักต์-แบรนด์ต่าง ๆ เรารับมือหรือมีวิธีประนีประนอมตัวตนของเรากับการทำงานกับเด็กและครอบครัว รวมถึงกับลูกค้าแบรนด์ต่าง ๆ ยังไง
ฮาย : ย้อนกลับไปวิธีการสื่อสารของพวกเรากับเด็ก ๆ เราพยายามสื่อสารให้มันเป็นสิ่งที่จริงจากเรามากที่สุด เราจะไม่ชี้นำเด็กอะไรเลย อย่างเช่นตอนที่มีไวรัลเรื่องการแปรงฟัน ทุกอย่างมันธรรมชาติมาก ไม่มีอะไรเลย คือมันเป็นช่วงแรก ๆ ที่เราเจอเด็ก ๆ งานแรก ๆ เลย แล้วเราไม่รู้จะคุยอะไรกับเด็ก (เซน : ไม่รู้จะคุยแบบไหน เอนเตอร์เทนน้อง ๆ ยังไง) เราก็เลยบอกว่าไปแปรงฟันด้วยนะ มันแค่นั้นเลย แล้วจนมาถึงการล้างจมูก มันเป็นสิ่งที่พวกเราทำกันอยู่แล้ว ล้างกันบ่อยมาก
วิธีการของเราคือประนีประนอมบ้างในบางเรื่อง แต่หลัก ๆ แล้วเราจะไม่ครอบเด็ก ผมเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ตั้งความหวังไว้ที่เราแน่ ๆ แต่ถ้าให้พูดตรง ๆ เลยเราไม่อยากครอบเด็ก เราอยากให้เขาโตมาด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นเขา ผมว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญกว่า เราอาจจะช่วยได้ประมาณหนึ่ง แต่ว่าสุดท้ายก็ต้องเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลเขา
เราเองไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ไปซะทุกอย่าง เราเองก็มีเรื่องที่ผิด-ที่ถูก-ที่เทา-ที่ดำ-ที่ขาว เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ยากมากที่จะวางตัวให้โอเค เราทำให้ได้ แต่ว่าเราไม่อยากช่วยทุกคนเลี้ยงลูก เพราะเรารู้สึกว่ายังไงคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูแลเขาเอง แต่ว่าถ้ามันเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว อย่างเช่น ดื่มนม พวกเราดื่มนมกันอยู่แล้วเป็นธรรมชาติเลย พวกเราไม่ได้ดื่มเหล้า หรือต่อให้เราดื่มเหล้า เราก็คงไม่ได้มากินนมเพื่อเด็ก ๆ แต่มันเป็นเพราะเราดื่มนมกันอยู่แล้ว และเราก็อยากจะเล่นอะไรสนุก ๆ
ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าจะให้ประนีประนอมคือขอให้เราเป็นคนคิดเองดีกว่า ทุก ๆ สิ่งที่ทุกคนคิดว่ามันไม่มีผลเสีย เราขอคิดดีกว่าว่าการที่ไปครอบเด็ก ๆ มันมีผลเสียยังไง ผมรู้สึกว่าการกินนมไม่ได้มีผลเสียอะไร ถ้าไม่ได้กินแต่นมอย่างเดียว ที่เหลือก็ให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยกันต่อ หรืออย่างการกินผัก เราก็คิดอยู่ว่ามันควรจะต้องบอกให้เด็กกินไหม ผมไม่อยากให้เป็นการที่คุณพ่อคุณแม่มาบอกให้เราทำแล้วเราทำ ทุกสิ่งที่ผมทำมาคือผมอยากทำเอง ไม่อยากให้มันเป็นเพราะว่ามีใครมาบอกเรา
เซน : ไม่งั้นมันเหมือนเราเป็นคนถูกครอบเหมือนกัน
ฮาย : ใช่ และเราก็ไม่อยากครอบเด็ก ถ้าเขาไม่ชอบกินผัก ผมพูดตรง ๆ ว่าผมก็ไม่บังคับนะ เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่เขามีตัวเลือกทางด้านอาหารเยอะกว่ายุคของพวกเรา หรือเผลอ ๆ ผักบางอย่างอาจจะสร้างผลเสียกับเขามากกว่าการไม่กินเลย เขาอาจจะมีแคปซูลที่มีสารอาหารด้านผัก โลกมันไปไกลแล้วครับ ไม่ใช่ว่าต้องมานั่งกินผักกันเป็นกอง ๆ ก็เลยคิดว่าไม่อยากครอบใคร
แต่ถ้าเราชอบกินบร็อคโคลีเราอาจจะกินให้เด็ก ๆ ดูได้ ถ้าลูกค้าเข้า เราก็ขายได้ แต่สิ่งที่เราทำเสมอไม่ว่าจะมีแบรนด์อะไรเข้าก็คือ เราจะไม่พยายามเอาเด็กมาเป็นเครื่องมือ สินค้านั้นจะต้องใช้ได้ในทุก ๆ เพศในทุก ๆ วัยจริง ๆ เราจะไม่บอกว่า “เด็ก ๆ ต้องมากินตามพี่นะ” ไม่เลย (ส่ายหัว) เราเวิร์กเรื่องนี้หนัก เราปัดพรีเซนเตอร์ไปหลายตัวมาก ก็เสียดายเงินอยู่เหมือนกัน ว่าง่าย ๆ เราจะรับผิดชอบสังคมในทุก ๆ แง่ให้ได้มากที่สุด ให้บาลานซ์กับการที่เราได้เงินเข้ากระเป๋าเราด้วย
เซน : มันยังเป็นตัวเราอยู่ด้วย
ฮาย : ใช่ มันเป็นตัวเราอยู่ แล้วมันก็ไม่ได้ยาก เราก็รวยขึ้นด้วยสังคมดีขึ้นด้วย
Q : รวยขึ้นมากหรือยัง ค่าตัวเพิ่มขึ้นเยอะไหมหลังจากกลายเป็นไอดอลของเด็ก ๆ
ฮาย : โห ผมสามารถซื้อเกาะส่วนตัวได้นะ ล้อเล่น ๆ ๆ ก็ขึ้นมาค่อนข้างเยอะ ราคาโชว์ขึ้นแบบสมเหตุสมผล
เซน : จริง ๆ มันค่อย ๆ ปรับขึ้นมาเรื่อย ๆ ครับ ก่อนจะมีงานเข้ามาเยอะเราต้องปรับขึ้นก่อน เพราะว่าถ้ามีงานเข้ามาเยอะเราอาจจะปรับขึ้นไม่ทัน
ฮาย : ไม่เคยเลยนะที่อยู่ดี ๆ ปรับโดดเลย เราเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นจนเป็นหลักแสน แล้วเราไม่ได้ปรับแค่ค่าตัวของเรา เราปรับให้ทีมงานด้วย ทุกคนโตขึ้นไปพร้อม ๆ กับเรา ส่วนค่าตัวงานพรีเซนเตอร์ การรับงานก็ค่อย ๆ ปรับขึ้น
Q : จะว่าไปก็นานแล้วเหมือนกันที่เราไม่เห็นศิลปินร็อกเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าให้แบรนด์ต่าง ๆ
ฮาย : ผมไม่เคยเห็นใครที่มีรอยสักถือสินค้าเด็กเลย ผมรู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณที่ดีมาก ๆ
เซน : อย่างที่บอกว่ามันมากกว่าการทำเพลงให้คนชอบ แต่ผลงานของเรามันขับเคลื่อนสังคมไปด้วย
Q : สิ่งที่เรารู้สึกดีไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ “การยอมรับ” เป็นสิ่งที่สำคัญ ?
ฮาย : ใช่ ๆ ผมคุยกันตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีกระแสเลยว่า ในวันหนึ่งที่เราเสียงดังขึ้น เราอยากเปลี่ยนสังคมในแบบที่เรารู้สึกว่ามันจะดีกับเด็กรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะว่ารุ่นเราคือคนที่เกิดมาแล้วถูกครอบมาก ๆ ถูกสังคมบอกให้ต้องเป็นแบบนั้นต้องเป็นแบบนี้ ทุกคนไม่มีทางเลือก แต่เด็กรุ่นใหม่เขาต้องมีทางเลือก เรารู้สึกว่าถ้าไม่ตอนนี้แล้วจะตอนไหน
เราอยากจัดการหลายอย่างมาก ที่ผมคิดแรก ๆ เลย คือ อยาากจัดการปัญหาหมาจรจัด ผมคิดไว้ตั้งนานแล้ว เพราะผมรักหมามาก สิ่งนี้สิ่งแรกเลย ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะมารันเรื่องเด็กด้วยซ้ำ แต่ผมว่าอันไหนที่มี potential (ศักยภาพ) จะทำได้ก่อนก็ทำก่อนเลย
Q : ตอนนี้คิดไว้หรือยังว่าจะไปทำเรื่องหมาจรจัดยังไง
ฮาย : ผมคิดว่าต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้วย ผมเองมีแค่ passion (ใจรัก) แต่ว่าเราต้องรู้โครงสร้างก่อนว่า จริง ๆ แล้วการจัดการมันมีโมเดลแบบไหนบ้าง อย่างเช่น เราลองศึกษาจากประเทศที่เจริญแล้วมั้ย ว่าเราสามารถทำได้มากแค่ไหน อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศที่เขาจัดการเรื่องสัตว์ได้ดี เราทำได้จริงไหม เราต้องเข้าไปถึงขนาดไหน จะไปภาครัฐ ภาคเอกชน หรืออะไรได้บ้าง ผมกำลังศึกษาอยู่นะ
แล้วก็สิ่งที่ผมกำลังรันอยู่ตอนนี้คือ เรื่องการลดช่องว่างทางการศึกษา เพราะผมรู้สึกว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เรียนในที่ที่ดีจริง ๆ ถ้าไม่มีเงิน ซึ่งมันเสียเวลา เพราะว่าการเรียนในระบบการศึกษาที่ไม่ดีเป็นเวลา 5-10 ปี มันคือการทำลายชีวิตคนคนหนึ่ง ผมเลยไม่พยายามครอบทุกคนว่า ทุกคนควรเรียน สำหรับผมนะ อาจจะเป็นเรื่องที่ผิด แต่ถ้าวัดจากปัจจัยของประเทศไทยตอนนี้ ผมมองว่าการเรียนอาจจะทำร้ายทุกคนได้ การเรียนสำหรับบางคนมันดีจริง ๆ มันมีสิ่งที่การันตีได้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่การเรียนสำหรับบางคนคือการทำร้าย
เซน : มันไม่สามารถใช้ตรรกะนี้ได้กับทุกคน
ฮาย : ผมไม่สามารถบอกทุกคนได้ว่าให้เรียนดีกว่า ผมอยากให้ทุกคนเลือกเอาเอง แต่ถ้าในวันที่การศึกษามันดีจริง ๆ และช่องว่างทางการศึกษามันแคบมาก ๆ แล้ว ผมอาจจะสนับสนุนให้ทุกคนเรียน แต่ตอนนี้ผมยังไม่พูด
ผมตั้งใจจะลดช่องว่างทางการศึกษา อยากให้ทุก ๆ คนมีโอกาสเลือกเรียนในแบบของเขาได้ คือต่อให้ไม่ได้เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ผมยังอยากให้ทุกคนเลือกเรียนรู้ในแบบของตัวเองได้ อย่างเช่น ผมอาจจะเปิดแพลตฟอร์มการเรียนการสอนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในราคาที่จับต้องได้และมีคุณภาพจริง ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนสิ่งนี้ได้ ไม่งั้นก็ต้องเป็นลูกคนมีเงินเท่านั้นถึงจะได้เรียนสิ่งนี้ ผมว่ายุคนี้เราควรจะได้บุคลากรจากความสามารถของเขาจริง ๆ ไม่งั้นมันจะเป็นคอขวด มันจะเป็น snowball effect (ปัญหาที่เริ่มจากเล็ก ๆ แล้วสะสมใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ) คนรวยก็จะยิ่งมีโอกาสมากขึ้น คนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาก็จะอยู่ที่เดิม นี่คือสองเรื่องที่ผมจะทำ
Q : ทราบมาว่าฮายก็หยุดเรียน ที่ออกมาเพราะเหตุผลนี้หรือเปล่า
ฮาย : ใช่ แต่ว่าผมไม่อยากเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ผมไม่อยากจะบอกว่า เจ้าของเฟซบุ๊กสำเร็จได้ หรือว่ากูเกิลสำเร็จได้ หรือว่าไมโครซอฟต์ สำเร็จได้โดยไม่ต้องเรียนจบ ผมว่าอันนั้นมันวาทกรรมไปนิดนึง ผมพูดแค่ในประเทศไทยแล้วกันที่การศึกษามันยังไม่ได้ดีขนาดนั้น ผมเห็นมาหลายคนแล้ว เซนเองเขาก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าการเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้ทำให้เขารู้ในสิ่งที่อยากรู้ ส่วนสิ่งที่เขาอยากรู้ เขาเรียนรู้เอง
เซน : การที่เรารู้ว่าเราต้องศึกษาอะไรแล้วตรงไปตรงนั้นเลย แล้วศึกษาด้วยตัวเอง ทำความเข้าใจด้วยตัวเองมันตรงกว่า
ฮาย : มันตรงกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า และทำให้มีโอกาสพัฒนาทักษะได้รอบด้านมากกว่า นอกจากมีทักษะที่ฉลาดช่ำชองแล้วยังมีทักษาในการใช้ชีวิตอีก
Q : พูดอีกมุมหนึ่งก็คือ มองว่าการอยู่ในระบบการศึกษาทำให้เราเสียเวลาชีวิตที่จะเอาไป explore สิ่งต่าง ๆ ที่เราสนใจ ?
ฮาย : ใช่ ผมสามารถบอกได้เลยนะครับว่าคนรอบตัวผมตอนนี้ สิ่งที่เขาใช้ทำงานอยู่ไม่ได้มาจากสิ่งที่เขาเรียนเลย แล้วผมก็นึกในใจว่าแล้วเราจะเสียเวลา 5-6 ปีไปทำไม แต่ถ้าเกิดเขาเรียนหมอ โอเค มันเป็นคนละเรื่อง
ผมว่าเราต้องสร้างความเข้าใจให้สังคมใหม่ว่า อย่าตัดสินกับแค่คำพูดแบบสั้น ๆ เป็นประโยค ๆ ต้องไปดูบริบทของมัน ผมไม่ได้บอกว่าการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ดี และผมไม่ได้บอกว่ามันดี และผมไม่ได้บอกว่าการเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยไม่ดีหรือดี แต่ว่าให้ลองเลือกเอาว่าคุณอยากจะเป็นอะไร ถ้าอยากเป็นหมอ ก็เรียนมหาวิทยาลัย แต่ถ้าคุณอยากเป็นศิลปินก็ลองดูก่อนว่าตอนนี้มีที่ไหนที่เรียนได้บ้าง และคุณต้องใช้เงินเท่าไหร่
Q : ช่วงที่ผ่านมาเวลามีบทสัมภาษณ์หรือมีโคว้ตคำพูดของ Paper Planes ออกไป จะเห็นว่ามีคนจำนวนมากชมว่า “ความคิดดีจัง ทัศนคติดีจังเลย … โตมายังไง” เราก็เลยอยากเอาคำถามนี้มาถามว่า ชีวิตของฮายกับเซนเป็นยังไง โตมายังไง
ฮาย : ผมเป็นคนที่โตมานอกระบบการศึกษา ผมรู้สึกว่าการเรียนรู้ไม่ควรจะบอกว่าต้องจบมหา’ลัยเท่านั้น คนเราเรียนรู้จากอะไรก็ได้ ขอแค่เรารู้ว่าเราจะเรียนรู้อะไร เราอยากจะเป็นอะไรแค่นั้น มันตรงจุดกว่า แต่ว่ามันใช้ได้แค่บางอาชีพ อย่างที่บอกว่าถ้าอยากเป็นหมอ คุณจะมาเรียนรู้เองจาก YouTube แล้วไปผ่าตัดคนอันนั้นมันไม่ได้ มันก็ต้องมี certificate มันแล้วแต่บริบท แต่ว่าที่สำคัญคือเราต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะนอกหรือในมหา’ลัยก็ตาม ผมโตมาแบบนั้น
เซน : ของผม ผมโตมาด้วย… (มองหน้าฮายแล้วยิ้ม)
ฮาย : ด้วยระบบการศึกษา แต่สำเร็จได้ด้วย…
เซน : วิธีคิด – ตอนเด็ก ๆ ของผม สิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นเด็กที่พร้อม ด้วยฐานะ ด้วยความอยู่ต่างจังหวัดด้วย ก็คิดว่าถ้าไม่มีวิธีคิดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเราว่าเราต้องทำแบบนี้หรือไปทางนี้ ก็คงดึงชีวิตให้เติบโตขึ้นมาไม่ได้ ผมรู้สึกว่า “วิธีคิด” สำคัญ
- Paper Planes ปั้นเพลงให้ความรู้ไข้เลือดออก ตอกย้ำไอดอลวัยรุ่นฟันน้ำนม
- ไอศกรีมแมกโนเลีย ดึง Paper Planes เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรก
- Paper Planes งานเข้ารัว ๆ ขนมนมเนยแบรนด์ดัง คว้าตัวร่วมงาน
- วันเด็กซาฟารีเวิลด์คึกคัก วัยรุ่นฟันน้ำนมแห่ชมคอนเสิร์ต Paper planes
- เปิดประวัติ “Paper Planes” ในวันที่ “ทรงอย่างแบด” ฮิตติดปากวัยรุ่นฟันน้ำนม