ประวัติศาสตร์ไทย-สหรัฐ จากจดหมายฉบับแรก…สู่มิตรภาพ 200 ปี

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

“Great and Good Friend” คือคำขึ้นต้นจดหมายที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเขียนกราบบังคมทูลพระกรุณาพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม ในช่วงเริ่มแรกความสัมพันธ์ของสยามกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2361 และครบรอบ 200 ปีในปีนี้

พ.ศ. 2361 ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ขุนนางผู้มีอำนาจมากในสมัยนั้นได้มีจดหมายไปยัง ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการติดต่อกันทางหนังสือเป็นครั้งแรกระหว่างสองประเทศ ในจดหมายฉบับนั้นใช้ภาษาโปรตุเกสติดต่อราชการเนื่องจากสยามคุ้นเคยกับภาษาโปรตุเกสมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ใจความในจดหมาย พระยาสุริยวงศ์มนตรีกล่าวถึงนายสตีเฟน วิลเลียมส์ กัปตันเรือชาวอเมริกันที่นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนน้ำตาลที่กรุงเทพฯ และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ภายหลังเสด็จครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) พระยาสุริยวงศ์มนตรีแนะนำประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ว่า พ่อค้าชาวอเมริกันที่ประสงค์จะทำการค้ากับราชอาณาจักรไทยให้นำปืนคาบศิลามาด้วย ด้วยเหตุนี้ ช่วงปี พ.ศ. 2363-2372 เรืออเมริกันหลายลำจึงเดินทางมากรุงเทพมหานครตามคำแนะนำ

จุดเริ่มต้นจากจดหมายฉบับนั้นนำมาสู่มิตรภาพของสองประเทศ

ต่อมาพระยาสุริยวงศ์มนตรีมีส่วนช่วยเจรจาสนธิสัญญาฉบับแรกของสยามกับสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2376 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับแรก ที่สหรัฐอเมริกาทำกับประเทศในเอเชีย และเป็นสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของราชอาณาจักรสยาม สนธิสัญญาฉบับแรกนี้เขียนเป็น 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน และโปรตุเกส ในสมัยนั้นจำเป็นต้องมีภาษาจีนและโปรตุเกสกำกับไว้ เพราะชาวไทยยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เข้าใจชัดเจนนัก ในเวลาต่อมาไทยและสหรัฐได้แก้ไขปรับปรุงสนธิสัญญาฉบับนี้หลายครั้ง

ในช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์ คณะทูตชาวอเมริกันได้เข้าร่วมงานพระราชพิธีของราชสำนักสยามหลายวาระ รวมทั้งได้นำของขวัญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์สยามด้วย

เช่นกัน ราชสำนักสยามก็ได้มีพระราชสาส์นหรือจดหมายไปยังประธานาธิบดีสหรัฐหลายฉบับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ในช่วงต้นของสองประเทศ

อีกทั้งจดหมายเหล่านั้นยังสะท้อนว่า ในช่วงนั้นสยามเริ่มเปิดรับธรรมเนียมตะวันตก เห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการประทับตราพระราชลัญจกรและลงพระปรมาภิไธยกำกับแบบตะวันตก ต่างจากก่อนหน้านั้นที่ทรงประทับตราพระราชลัญจกรเพียงอย่างเดียว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเพิ่มเติมแนวพระราชดำริของพระบรมราชชนกด้วยการย่อพระปรมาภิไธยของพระองค์จาก “Somdet Phra Paramindr Ma-ha” เป็น “S.P.P.M.”

จดหมายที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดระหว่างไทย-สหรัฐ คือ พระราชสาส์นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ทรงส่งไปยังประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน แสดงพระราชประสงค์ที่จะส่งช้างหนึ่งคู่เพื่อ “ไว้ให้สืบพันธุ์ในทวีปอเมริกา” เนื่องจากทรงทราบว่า ไม่มีช้างอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในพระราชสาส์นทรงอธิบายถึงความสำเร็จของโครงการแพร่พันธุ์ช้างในที่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานงาช้างอีกหนึ่งคู่ “เพื่อจะให้เปนยศปรากฏนามของกรุงสยามยิ่งขึ้นไป”

เมื่อพระราชสาส์นเดินทางไปถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อับราฮัม ลินคอล์น ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐ ประธานาธิบดีลินคอล์นจึงปฏิเสธพระราชประสงค์อย่างสุภาพในปี พ.ศ. 2405 โดยขึ้นต้นจดหมายฉบับนี้ว่า “Great and Good Friend” ก่อนจะชี้แจงว่า ภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกาไม่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ช้าง สยามจึงไม่ได้ส่งช้างข้ามโลกไปสหรัฐอเมริกา แต่ความสัมพันธ์ของสยามและสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้สะดุดแต่อย่างใด

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 สยามได้เข้าร่วมการแสดงนิทรรศการนานาชาติ หรือเวิลด์แฟร์ ที่สหรัฐอเมริกา 4 ครั้ง ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ปี 2419, เมืองชิคาโก ปี 2436, เมืองเซนต์หลุยส์ ปี 2447, ซานฟรานซิสโก ปี 2458 หลังเสร็จสิ้นนิทรรศการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานศิลปวัตถุจัดแสดงให้แก่สถาบันสมิธโซเนียน และยังเก็บรักษามาจนถึงปัจจุบัน

สมัยรัชกาลที่ 8 ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2488 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ส่งกล่องบุหรี่ทองประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มอบให้ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เพื่อสื่อถึงความปรารถนาดีของประเทศไทยในการมุ่งให้เกิดสันติภาพ

ของขวัญชิ้นนี้ได้ส่งไปถึงประธานาธิบดีรูสเวลต์ ซึ่งประธานาธิบดีรูสเวลต์ได้แสดงความขอบคุณผ่านทางเจ้าหน้าที่สำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ในไทย แม้จะเป็นของขวัญเล็กน้อย แต่กล่องบุหรี่ทองใบนี้สามารถพลิกประวัติศาสตร์สำคัญได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ไทยไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ตลอดระยะเวลาความสัมพันธ์ 200 ปี นอกจากสนธิสัญญาและจดหมาย ทั้งสองประเทศมีของขวัญส่งมอบให้กันเรื่อยมา ทั้งจากราชสำนักไทยไปยังประธานาธิบดีสหรัฐ และจากสหรัฐมายังราชสำนักไทย

ของขวัญชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ กลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (คนปัจจุบัน) บอกว่าชอบมากเป็นการส่วนตัวก็คือ ฉลองพระองค์ครุยถักด้วยเส้นทอง เป็นของขวัญที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ประทานแก่สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อ พ.ศ.2490 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

ในวาระครบรอบ 200 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้นำของขวัญแห่งมิตรภาพ พร้อมทั้งสนธิสัญญาและจดหมายสำคัญ ๆ มาจัดนิทรรศการในประเทศไทย ซึ่งสิ่งของเหล่านี้บอกเล่าประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ “ของขวัญแห่งมิตรภาพ : ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561” จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 09.00-16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 150 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษา 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี