อ่านโลก อ่านไทย 6 เล่มไฮไลต์ สนพ.มติชน

งานมหกรรมหนังสือฯวนมาถึงอีกครั้ง กับจำนวนหนังสือที่มีให้เลือกสรรหลายหมื่นหลายพันปก งานครั้งนี้สำนักพิมพ์มติชนนำเสนอหนังสือไฮไลต์ แบ่งเป็นฝั่งหนังสือต่างประเทศกับฝั่งหนังสือไทย ซึ่งมีทั้ง fiction และ non-fiction ที่ฉายให้เห็นสภาพสังคมนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี อ่านแล้วจะเข้าใจโลกและเข้าใจเรามากขึ้นกว่าเดิม

พระราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ ๖)

ผู้เขียน : ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล

หมวด : ประวัติศาสตร์

เมื่อคนในราชสำนักบันทึกเรื่องราวราชสำนักในรัชกาลที่ 6 จึงเกิดประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่สมัยรัชกาลที่ 6 บันทึกเรื่องนี้

ม.จ.พูน พิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์จากเรื่องราวที่พระองค์ทรงพบเห็น เนื้อหาว่าด้วยพระราชประวัติในรัชกาลที่ 6 ซึ่งบางเรื่อง เราก็ไม่เคยรับทราบ เช่น การปรึกษาเรื่องการตั้งรัชทายาท การแต่งตั้งพระราชินี และยังมีส่วนที่ ม.จ.พูนพิศมัย ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องราวของพระองค์เองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในราชสำนักรัชกาลที่ 6

ราชสำนักรัชกาลที่ ๖

ผู้เขียน : วรชาติ มีชูบท

หมวด : ประวัติศาสตร์

ทำไมถึงต้องสนใจเรื่องราวในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะราชสำนักในสมัยนี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สืบเนื่องด้วยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงศึกษาที่ต่างประเทศเป็นเวลานาน จึงได้รับวัฒนธรรมตะวันตกกลับเข้ามาด้วย

เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงเกิดราชสำนักยุคใหม่ที่ผสานตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ต่างจากราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมเรื่องราวในราชสำนักรัชกาลที่ 6 อย่างสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงประวัติที่มาของหลาย ๆ อย่างในราชสำนักที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

The Glass Palace,

ผู้เขียน : อมิตาฟ โฆษ

ผู้แปล : ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์

หมวด : นวนิยายอิงประวัติศาสตร์

The Glass Palace เป็นชื่อที่หยิบยืมมาจาก The Great Royal Chronicle of the Glass Palace หรือ “พงศาวดารฉบับหอแก้ว” บันทึกประวัติศาสตร์ของพม่า

ในฉบับนวนิยายนี้เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่อังกฤษยื่นคำขาดและรุกคืบมายึดกรุงมัณฑะเลย์ ถอดถอนพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตจากราชบัลลังก์ และเนรเทศไปอยู่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

เรื่องราวถูกบอกเล่าผ่านมุมมองของสองตัวละครเด็ก (ซึ่งเป็น central character ของรุ่นแรก) ได้แก่ ราชกุมารกับดอลลี่

แม้จะเริ่มเรื่องด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่น้ำหนักของเรื่องเทไปทางดราม่า เน้นชีวิตครอบครัว ทางเลือกของตัวละครมากกว่าจะนับว่าอิงประวัติศาสตร์ ผู้เขียนถ่ายทอดชีวิตส่วนตัวของผู้คนอย่างมีชีวิตชีวา ให้เป็นภาพสะท้อนเหตุการณ์และประเด็นทางสังคม ทุกการตัดสินใจหรือการกระทำของตัวละครค่อนข้างมีที่มาที่ไป ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากสังคมและประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งภาคบรรยายและบทสนทนาเต็มไปด้วยถ้อยคำที่คมคาย ตรงไปตรงมา แต่สะเทือนใจ

สุดา ชาห์ ผู้เขียนหนังสือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดินฯ” กล่าวว่า นิยายเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เธอค้นคว้าข้อมูลจริงของครอบครัวกษัตริย์ธีบอจนกลายเป็นหนังสือขายดี

อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา

(I Did Not Kill My Husband)

ผู้เขียน : หลิวเจิ้นหยุน

ผู้แปล : ศุณิษา เทพธารากุลการ

หมวด : นวนิยาย (จีน)

นวนิยาย เรื่องดังของนักเขียนรางวัลเหมาตุ้น เรื่องราวของหลี่สวี่เหลียนซึ่งแต่งงานกับฉินหยู่เหอมาสักพัก พวกเขาก็มีลูกคนที่สอง เรื่องนี้น่าจะเป็นข่าวดี แต่ไม่ใช่ที่ประเทศจีน ที่มีนโยบายลูกคนเดียว และการมีลูกคนที่สองถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง แล้วพวกเขาจะจัดการอย่างไร สองผัวเมียคิดได้วิธีเดียวเท่านั้นคือ ต้องหย่ากันก่อนที่ลูกจะเกิด

นวนิยายเรื่องนี้ของหลิวเจิ้นหยุน ตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อเสียดเย้ยและถากถางนโยบายลูกคนเดียวของจีนได้อย่างถึงพริกถึงขิง ยั่วล้อโชคชะตาของคนสามัญที่ต้องต่อสู้ทั้งที่ไม่มีทางเป็นไปได้กับกระบวนการยุติธรรม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงตั้งแต่คนเล็กคนน้อยเรื่อยขึ้นไปจนถึงระดับบน

หลิว เจิ้นหยุนเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงที่ตลกขบขันกับความตลกร้ายของชีวิต และยังสะท้อนปัญหาคอร์รัปชั่นขนาดมหึมาในประเทศจีนด้วย พลอตเรื่องและกลวิธีการเล่าเต็มเปี่ยมไปด้วยการเสียดเย้ยที่แหลมคม

A Strangeness in My Mind

ผู้เขียน : ออร์ฮาน ปามุก

ผู้แปล : นพมาส แววหงส์

หมวด : นวนิยายแปล

เช่น เดียวกับเรื่อง The Museum of Innocence ออร์ฮาน ปามุก ยังคงสะท้อนสภาพสังคมตุรกีที่มีทั้งการแบ่งชนชั้นทางฐานะ และการกดขี่ทางเพศ

A Strangeness in My Mind แสดงอิสรภาพอันจำกัดของผู้หญิงตุรกีในยุคนั้น ทั้งสิทธิที่จะเลือกคู่แต่งงาน หรือบทบาทหน้าที่ในฐานะแม่และเมีย แม้ผู้หญิงในเรื่องนี้ไม่ได้ถูกทำร้ายทางกาย แต่พวกเธอก็มีชีวิตที่ลำบากยากเข็ญ และตกเป็นเพียงเบี้ยล่างในสังคมชายเป็นใหญ่

สิ่งหนึ่งที่ A Strangeness in My Mind แตกต่างจาก The Museum of Innocence คือตัวละครในเรื่องนี้เป็นชนชั้นแรงงาน ปามุก เล่าชีวิตของชนชั้นแรงงานอย่างซื่อตรง ไม่ได้วาดภาพสวยงามของชีวิตยากแค้น เขาสะท้อนบทบาทของการเมืองและศาสนาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชนชั้นแรงงานได้อย่างชัดแจ้ง

นอกจากการสะท้อนประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองของอิสตันบูล A Strangeness in My Mind ยังตั้งคำถามเรื่องความรักและพรหมลิขิตผ่านเรื่องราวของคู่รักสองคู่ ที่สุดแล้ว เราคาดหวังอะไรจากความรัก พรหมลิขิตกำหนดเส้นทางอะไรให้เรา การตัดสินใจของเราสามารถทำให้เรามีความสุขได้จริง ๆ หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วความสุขเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

แม้น้ำเสียงการเล่าจะราบเรียบไม่เร้าอารมณ์ แต่ก็แฝงด้วยความโหยหาอาลัยต่อบ้านเมืองอันเป็นที่รัก และวันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป นับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นบทกลอนอาวรณ์ของปามุกต่อเมืองอิสตันบูลก็ว่าได้

The Godfather

ผู้เขียน : มาริโอ พูโซ

ผู้แปล : ธนิต ธรรมสุคติ

หมวด : นวนิยาย

“ข้าจะมอบข้อเสนอที่มันปฏิเสธไม่ได้”

เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ถูกยกย่องให้เป็นอมตะอาชญนิยายที่สามารถวาดภาพของโลกสีเทาให้เราอย่างละเอียด เปิดให้เราได้สำรวจวิธีคิดของตัวละครและวัฒนธรรมมาเฟียอิตาลี ราวกับว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

สำคัญที่สุดคือ เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ทางอำนาจมาเฟียว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่เกื้อหนุนให้มาเฟียมีอิทธิพลอยู่ได้คือ “อยุติธรรม” ความไม่เท่าเทียม ข้อบกพร่อง และช่องโหว่ของกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคม

ตราบใดที่ยังมีปัญหาเหล่านี้ ผู้เดือดร้อนถูกกดขี่ก็จะคอยมองหา เดอะ ก็อดฟาเธอร์ เพื่อช่วยเหลือตนเอง โดยไม่สนว่าต้องแลกมาด้วยอะไร หรือราคาแพงแค่ไหนก็ตาม