ผู้เขียน : กษมา ศิริกุล
ชีวิตการทำงานในเมืองกรุง อาจทำให้หลาย ๆ คนเหนื่อยล้าหมดแรง พอถึงเสาร์-อาทิตย์ก็อยากนั่งดูเน็ตฟลิกซ์ไปเรื่อย ๆ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับกลุ่มเพื่อนรักแก๊งนี้ ที่รวมตัวกันก่อการดี สร้างงานเพื่อสังคม นำมาสู่จุดเริ่มต้น “ม่อนแบรี่” วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
จุดเริ่มจากแก๊งเพื่อนเรียนประถม
ชื่อเต็มคือ โครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม MonBarree (ม่อนแบรี่) เกิดจากด็อกเตอร์นัท หรือ ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ และ คุณแสง ภรรยา, ขิ่น หรือ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร และ คุณเล็ก ภรรยา และเด้อ หรือ อเล็กซ์ซานเดอร์ สรรประดิษฐ์ ที่เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่วัยประถม ต่อเนื่องมาถึงสาธิตจุฬาฯ
หากพูดถึงชื่อเสียงของ 3 คนในวงธุรกิจ เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักแน่นอน เพราะด็อกเตอร์นัทเป็นผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาและความร่วมมือทางธุรกิจ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารที่รับหน้าที่ปั้นนวัตกรรมให้กลุ่มทียู เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งในโครงการนี้เขารับบทเป็นผู้ช่วยดูแลด้านการแปรรูปอาหาร
ดร.ณัฐพล อัษฎาธร ก็ไม่ธรรมดา เป็นถึงเจ้าของน้ำตาลลิน และโรงแรมแชงกรี-ลา ริมเจ้าพระยา ส่วนคุณเด้อคือ สถาปนิกชื่อดังที่ออกแบบโครงการใหญ่ ๆ มาแล้วนักต่อนัก
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ด็อกเตอร์นัท” ซึ่งเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า ผลงานสร้างชื่อของผมในโครงการนี้คือ การแปรรูปไอติมจากผลเบอรี่ที่ไร่ ที่ผสมเบอรี่สัดส่วนมากถึง 70% มาขายแค่แก้วละ 50 บาท ซึ่งคิด ๆ ดูแล้วได้กำไรเพียง 10% ต่อถ้วยเท่านั้น (หัวเราะ)
ในโครงการนี้เราแบ่งงานกันทำ ขิ่นกับผมเป็นวิศวกร จะดูเรื่องการทำธุรกิจภาพรวม ผมดูผลิตภัณฑ์และการแปรรูปอาหาร เพราะเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร ส่วนเด้อร์ออกแบบทุกอย่างในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้หรือสถานที่
จากบ้านพักตากอากาศสู่ไร่เพื่อชุมชน
ด็อกเตอร์นัทเล่าว่า “เดิมผมมีบ้านที่แม่ริม เป็นบ้านตากอากาศ อยู่มา 28 ปีแล้ว และทำสวนเบอร์รี่ฮิลล์ แล้วเรารู้จักชาวบ้านที่เขาปลูกผักมาขายให้เรา อย่างบัวคำปลูกมะเขือเทศข้าง ๆ บ้านเรา ขายกิโลละ 40 บาท แต่ภรรยาผมซื้อมะเขือเทศจากห้างในกรุงเทพฯ กิโลกรัมละ 150 บาท เราจึงคิดว่าราคาต่างกันมาก
แม้เกษตรกรจะผลิตได้ดีแค่ไหน สุดท้ายจะไปติดที่พ่อค้าคนกลาง ราคาที่ขายได้ที่สวน 40 บาท ไปปากคลองตลาดก็ขยับขึ้นไปอีก ไปห้างก็ขยับขึ้นไปอีกราคาหนึ่ง แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามาขายในโครงการนี้บวกนิดหน่อยเป็นค่าแพ็กค่าดำเนินงาน แล้วนำกำไรกลับไปพัฒนาสังคม
“วิสาหกิจเพื่อสังคม จะอาศัยกฎหมาย พ.ร.บ.ปี 2562 ซึ่งจะแตกต่างจากวิสาหกิจเพื่อชุมชนที่เป็นกฎหมายเมื่อปี 2545 หลักการคือ เป็นการทำเพื่อสังคม โดยผลกำไรที่หักค่าใช้จ่ายแล้วทั้งหมด 100% จะถูกนำไปส่งต่อให้กับสังคมทั้งหมด ไม่ได้เอามาหารแบ่งกันในกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากทำ เพราะเราอยากทำธุรกิจด้วยกัน แต่ไม่อยากมานั่งคิดผลกำไรแบ่งกัน เรื่องเงินทอง แต่อยากแบ่งปัน สร้างประโยชน์ต่อสังคมคือ สิ่งแวดล้อม For People and Planet”
แง้มว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม จะต้องมีการจัดทำบัญชี จัดส่งบัญชี ไม่ใช่จะมาแบ่งกำไรกันงุบงิบไม่ได้
ชาวบ้านเข้าใจวิถีชีวิต
จากการที่เราคลุกคลีอยู่ในชุมชน ทำให้รู้ว่า อย่างปัญหาการเผา ในหมู่บ้านที่เราอยู่ก็มีปัญหานี้ เราถามชาวบ้านว่า ทำไมไม่เก็บไปทำปุ๋ยแทนที่จะเผา ชาวบ้านบอกว่า ถ้าทำปุ๋ยต้องใช้แรงงาน ใช้เงิน และกว่าจะได้เป็นปุ๋ยก็สู้ไม่ไหว หากสะสมจำนวนมากก็พื้นที่ไม่พอ หรือปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมี เราถามว่าทำไมไม่ใช้ชีวภัณฑ์ ชาวบ้านบอกว่า มันแพง เห็นผลช้ากว่าในแง่ประสิทธิภาพ
จากจุดนี้ทำให้เราเกิดแนวคิดว่า ถ้าเรามีเงินทุนให้เขาปรับเปลี่ยนจะดีกว่าไหม ก็มีคนที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเรา
กลุ่มเราจึงได้จดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท เบอร์รี่ ฮิลล์ ฟาร์ม ช๊อป จำกัด” ขึ้น เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานด้านนี้ โดยจะไม่มีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่จะเอากำไร 100% กลับคืนสู่สังคม มีคนถือหุ้น 5 คนคือ ผมและภรรยา คุณขิ่น และคุณเล็กภรรยา และคุณเด้อ เกษตรกรในเครือข่ายตอนนี้มี 11-12 รายแล้ว
สินค้าที่ผลิตได้หลัก ๆ เพื่อพืชผัก ผลไม้ เช่น เบอรี่ มะเขือเทศ ผักสลัด ถั่วแขก มะเขือม่วง แตงกวาญี่ปุ่น ฟักทองมินิ พอผักผลไม้เหลือและตกเกรดที่ขายสด คุณแสงจึงได้มีแนวคิดนำมาแปรรูปเป็นแยม ซอสมะเขือเทศ ไอศกรีม เบเกอรี่ต่าง ๆ
เปิดช็อปวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค. 66
และเมื่อ 3 เดือนที่แล้วได้พื้นที่มา 3 ไร่ จึงนำมาดีไซน์จัดสรรพื้นที่เป็นม่อนแบรี่ช็อป สำหรับขายสินค้าช่องทางออฟไลน์ มีร้านกาแฟ ทำสวนเกษตรสมัยใหม่ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมแปลงสาธิตทุกวัน และแบ่งพื้นที่ 100-200 ตารางเมตรไว้ทำกาด (ตลาด) ให้ชาวบ้านเอาผลผลิตมาขายได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เราเพิ่งเริ่มเปิดให้บริการพื้นที่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
“เริ่มแรกเราลงทุนกันไปแค่ 2 ล้านกว่าบาท เงินนี้เราไม่ได้กลับมาอยู่แล้ว แต่คิดว่าการที่วิสาหกิจเพื่อสังคมจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต้องอยู่ได้ด้วยเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้นมา ไม่ใช่เงินจากการสนับสนุน เราจึงมีแนวคิดทำการตลาด แต่เราไม่ได้มีเงินมาก
อย่างแรกที่ทำคือ การลงทุนทำป้ายติดตามทาง ใช้เงินไป 2 หมื่นบาท จากนั้นมีคนเข้ามาเที่ยวชมจำนวนมาก มาซื้อ มาช่วยรีวิว เราขอบคุณมาก ๆมาสอนผมทำรีวิวสินค้าทางโซเชียลมีเดียด้วย ที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนสอนการตลาดสำหรับผม”
ที่สำคัญ เรายังได้รับการสนับสนุนจาก SCG Logistic ช่วยระบบการขนส่งสินค้าผ่านรถขนส่งที่รักษาอุณหภูมิ เราจึงสามารถขายสินค้าไปยังต่างจังหวัดได้ ทั้งส่งถึงกรุงเทพฯเพียงชั่วข้ามคืน ตอนนี้รายได้ขายสินค้าได้วันละหมื่นกว่าบาทแล้ว
แต่การจะให้มีเงินหมุนเวียนต้องทำการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกช่องทางอื่น ๆ ซึ่งตอนนี้เราทำ Cash Card มีตั้งแต่ใบละ 1 พัน ถึง 1 แสน ขายให้ผู้สนใจซื้อไปก่อนแล้วเราทยอยส่งสินค้าให้ ซึ่งตอนนี้พอคนเริ่มรู้ มีคนมาซื้อบัตรแคชการ์ดใบละแสนไปหลายใบแล้วด้วย
หลักคิดของความยั่งยืน
“ของแพงใช่จะยั่งยืน แต่ของดี มีคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล จึงจะยั่งยืนของแท้ ตอนนี้ถ้าคุณซื้อมะเขือเทศ 2 กิโล ที่กรุงเทพฯ 300 บาท แต่ถ้าซื้อเรา 120 บาท บวกค่าจัดส่ง 170 บาทต่อเที่ยว เฉพาะมะเขือเทศคุณก็ได้กำไรแล้ว 10 บาท แต่ถ้าคุณซื้อหลาย ๆ อย่าง ซื้อแยม ผัก ผลไม้ รวม ๆ กันค่าจัดส่ง 170 บาทเท่าเดิม คุณจะมีกำไรมากขึ้น”
ด็อกเตอร์นัทบอกว่า เป้าหมายสูงสุดของการทำม่อนแบรี่ “ผมคิดว่าถ้าเราทำอะไรเล็ก ๆ ทำให้เกิดผล ต่อไปอยากจะกระจายไปชุมชนอื่น หมู่บ้านอื่น ๆ คุณจะมาก๊อบปี้เราก็ได้ หรือจะมาทำร่วมกับเราก็ได้ เรายินดี และอยากจะเพิ่มเครือข่ายจาก 10 เป็น 20 เป็น 30 คนไปเรื่อย ๆ”
สุดท้าย ด็อกเตอร์นัทบอกว่า “5 วัน จันทร์-ศุกร์ทำงานให้บริษัทแสนล้าน พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็มาสวมบทเป็นพ่อค้าขายของชำ แต่เราทุกคนดีใจที่สังคมจะมีอะไรที่ดี ๆ เยอะ ๆ เราพอมีศักยภาพ มีรายได้เพียงพอก็อยากจะแบ่งปันให้คนอื่น ถ้าม่อนแบรี่เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อผมหรือชื่อเราก็ได้ เพราะคนที่ได้รับประโยชน์คือ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง”