อู้ พหลโยธิน ดีไซเนอร์ระดับอินเตอร์ ผู้กุมอัตลักษณ์ใหม่ “แสนสิริ”

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ก่อนหน้านี้ อู้ พหลโยธิน เป็นที่รู้จักในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ผ้าตกแต่งบ้าน บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย หรือ จิม ทอมป์สัน

ก่อนหน้านั้นอีก เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นดีไซเนอร์และเป็นเจ้าของ OU PAHOLYODHIN Studio สตูดิโอออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับอินเตอร์ รับออกแบบทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่ออกแบบอีเวนต์ ออกแบบที่อยู่อาศัย ออกแบบร้านอาหาร ออกแบบเครื่องแก้ว ออกแบบเรือยอชต์ ฯลฯ สร้างผลงานที่โดดเด่นไว้ทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรป และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารทั่วโลก

ส่วนตอนนี้ ดีไซเนอร์หนุ่มหล่อมาดอินเตอร์คนนี้เพิ่งรับบทบาทใหม่หมาด ๆ ในตำแหน่ง Chief Creative Officer หรือ ประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่แสนสิริเพิ่งตั้งขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมดูแลด้านการรังสรรค์อัตลักษณ์ของแสนสิริแบบองค์รวม ทั้งรูปลักษณ์ และความรู้สึก

เจ้าตัวที่เข้ามารับตำแหน่งนี้เป็นคนแรก บอกว่า “ในฐานะที่ให้ผมมาร่วมงานและให้ตำแหน่งนี้ เป็นการให้ดาบเล่มใหญ่มาก ผมพร้อมฟันทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าแล้ว”

เขาจะฟันอะไร อย่างไรบ้าง ก่อนจะคุยเรื่องตำแหน่งใหม่ที่แสนสิริ เรามาย้อนทำความรู้จักเขาก่อน

ADVERTISMENT

อู้ไปเรียนที่ลอนดอนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนาน 30 ปี เรียนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ เอกการทูต ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and political Science) ซึ่งได้เรียนเศรษฐศาสตร์ด้วย ตามความต้องการของครอบครัวนักธุรกิจที่อยากให้มีรากฐานด้านเศรษฐศาสตร์ติดตัว

หลังจบปริญญาตรีครอบครัวปล่อยตามใจ เขาจึงเลือกเรียนสถาปัตยกรรม แต่เรียนได้ระยะหนึ่ง รู้สึกว่าไม่ชอบเทคนิคต่าง ๆ ของสถาปัตย์ จึงเปลี่ยนไปเรียนโปรดักต์ดีไซน์ที่มหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ตามความชอบด้านศิลปะและการออกแบบที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้นยังมีการไปเรียนด้านการทำอาหารที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และฝึกทักษะเพิ่มเติมด้านการออกแบบอุตสาหกรรมที่ฝรั่งเศส จึงมีความรู้หลายภาษาและหลากหลายแขนง

ADVERTISMENT

พอเรียนจบก็ทำงานในลอนดอน และก่อตั้งสตูดิโอของตัวเอง รับออกแบบทุกสรรพสิ่ง

“ช่วงสุดท้ายก่อนจะกลับมาไทย ออกแบบบ้านที่พักอาศัยเป็นหลัก กระจัดกระจายอยู่ที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเซาท์แอฟริกา ลอสแองเจลิส ลอนดอน บาร์เซโลนา เดินทางเยอะมาก จนกระทั่งอายุ 40 รู้สึกว่าถึงเวลาใช้เวลากับครอบครัว กับบ้าน ทำความรู้จักเมืองไทย ก็เลยปิดสตูดิโอ ย้ายกลับมาก็รีไทร์ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ปลีกวิเวกไปอยู่ที่ทับสะแก จ.ประจวบฯ อยู่ในกระต๊อบไม้ไผ่ อยู่แบบเงียบ ๆ สงบ ไม่ติดต่อสังคม”

ใช้ชีวิตปลีกวิเวกอยู่ 6 ปี เขาได้รับข้อเสนอตำแหน่งงานจากจิม ทอมป์สัน และเขาตอบตกลง กลับเข้าสู่งานดีไซน์ที่คุ้นเคยอีกครั้ง ทำจิม ทอมป์สันอยู่หลายปีพอควร ก็ถึงคราวเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อได้รับข้อเสนอจากแสนสิริ

“ผมเชื่อมั่นในเส้นทางชีวิตว่ามันจะไปตามกระแสชีวิตเรื่อย ๆ ก็ไม่นึกเหมือนกันว่า อยู่ที่ห่างไกลอย่างนั้น อยู่ดี ๆ จะมีออฟเฟอร์ให้มาทำงานตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ที่จิม ทอมป์สัน เป็นอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่เคยรู้เรื่องการทอผ้าเลย แต่ตลอดชีวิตเลย เคยดีไซน์สุขภัณฑ์มาก่อนมั้ย ก็ไม่เคย เคยดีไซน์เรือยอชต์มั้ย ก็ไม่เคย แต่ผมอาศัยว่าการที่เราไม่เคยทำนั่นคือเราได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่จำเจ พอมาอยู่ตำแหน่งนี้ที่แสนสิริก็เป็นอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน คิดว่าเขาคงอยากได้อะไรที่ใหม่สดท้าทาย ไม่ได้อยากได้คนที่คุ้นเคยกับอสังหาฯมาแล้ว เพราะว่าเขาเชี่ยวชาญอยู่แล้ว”

การได้ทำงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน อู้บอกว่าการเรียนรู้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แค่เข้าไปศึกษาจากคนที่คลุกคลีมาก่อน

“ส่วนใหญ่แล้วผมมีพี่เลี้ยงที่ดีในทุกงานที่ไป พอเข้าไปที่จิม ทอมป์สัน เขาทอผ้ากันมา 3-4 ชั่วชีวิตแล้ว เพราะฉะนั้นผมไม่ได้ไปนั่งวิวัฒนาการอะไรแปลกใหม่เลย ผมแค่เข้าไปนั่งคุยกับคนที่เขาทอผ้า เป็นวิธีที่ดีที่สุดเลย หรืออย่างเข้าไปทำที่โอเชียนกลาส ผมก็เข้าคุยกับเทคนิเชียน คุยกับเอนจิเนียร์เลย มาที่นี่ก็มีฝ่ายโปรดักต์ดีเวลอปเมนต์ของแสนสิริ ซึ่งเขาเก่งอยู่แล้ว เราอาศัยความสร้างสรรค์ของเรากับประสบการณ์ของคนที่มีในแต่ละบริษัท”

ดังนั้น ดีไซเนอร์หนุ่มจึงเลือกงานที่มั่นใจว่าบริษัทนั้นสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้เขาได้ ถ้าเป็นงานที่ตัวเองต้องไปบุกเบิกใหม่ หรือไปเป็นพี่เลี้ยงให้คนอื่น เขามองว่าเป็นการเสี่ยงเกินไป

ตอนทำจิม ทอมป์สัน อู้บอกว่าตัวเองได้นำมุมมองที่สำคัญที่สุดมาใส่บริษัท คือใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเข้ามามองในมุมลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการผ้าแบบไหนไปใช้ตกแต่งอะไร ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้บริษัทแข็งแรงมากขึ้น

ส่วนตำแหน่งใหม่ที่แสนสิริ เขาได้นำทีมงานใหม่เข้ามา 5-6 คน และก่อตั้งทีมแสนสิริครีเอทีฟสตูดิโอ ทิศทางที่เขาและทีมจะพาแสนสิริเดินไปก็คือ การใส่คอนเทนต์ ใส่ฟังก์ชั่น ที่สร้างความสุขให้ผู้บริโภค เพราะมองว่ายุคนี้คนให้ความสำคัญกับประสบการณ์ ซึ่งทุกโครงการของแสนสิริไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องผ่านสายตาของเขาทั้งหมด

“ประสบการณ์เป็นส่วนที่สำคัญมากขึ้นทุกวัน มากกว่าฮาร์ดแวร์ อย่างเช่น โรงแรม เดี๋ยวนี้ไม่ได้แข่งกันแล้วว่าห้องใหญ่ ไม่จำเป็นเลย ห้องเล็กก็ได้ แต่อาจจะเป็นเอ็กซ์พีเรียนซ์ที่ให้บริการเหมือนมาอยู่บ้านเพื่อน คนไม่ได้อยากได้เอ็กซ์พีเรียนซ์โรงแรมธรรมดาแบบเช็กอิน พักสบาย หรูอย่างเดียว ความหรูไม่สำคัญแล้ว สิ่งที่เป็น luxury ใหม่อาจจะเป็น local knowledge แทนที่จะไปอยู่โรงแรมห้าดาว ตอนนี้ต่างชาติมาอาจจะอยากไปอยู่แถวเยาวราช ผมว่าคอนเทนต์มันคือไลฟ์สไตล์ที่คนมองหา มันคือ luxury ของคนรุ่นใหม่ ในอนาคตผมว่าสิ่งอำนวยความสะดวกก็ยังไม่พอ ต้องมีเอ็กซ์พีเรียนซ์ มีคอนเทนต์ด้วย ก้าวต่อไปมันจะเป็นยังไง คือสิ่งที่ผมสนใจ และอยากมาพัฒนากับแสนสิริ”

มาถึงเรื่องที่เขาบอกว่า “ในฐานะที่ให้ผมมาร่วมงานและให้ตำแหน่งนี้ เป็นการให้ดาบเล่มใหญ่มาก ผมพร้อมฟันทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าแล้ว” เขาอธิบายว่า มั่นใจว่าผู้บริหารเปิดให้เขาเป็นผู้เปลี่ยนแสนสิริเต็มที่

“ถ้าเขาไม่ให้ทำอะไร ผมก็ไม่มาทำงานนี้ เพราะไม่ได้เป็นคนที่เข้ามารับตำแหน่งแล้วนั่งออฟฟิศกินเงินเดือนโดยไม่ได้ทำอะไรให้เกิดขึ้น เขาพร้อมให้ผมเปลี่ยน ผมถึงมาทำ เพราะว่างานเก่าก็ดีอยู่แล้ว แฮปปี้มากอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เราเห็นในสิ่งเดียวกัน ผมเชื่อมั่นมากว่าเขาอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง พร้อมเปลี่ยนมาก ถึงได้ดึงตัวผมมาทำ ทั้งสองฝ่ายก็พร้อมจะก้าวสู่ยุคใหม่ทำอะไรใหม่ ๆ”

พอเริ่มงานปุ๊บ ก็ได้รับงานใหญ่ทันที โดยเขาและทีมเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในด้านการดีไซน์และด้านคอนเทนต์ใน 2 โครงการที่แสนสิริร่วมทุนกับแบรนด์ระดับโลก คือ The Standard และ Monocle ผลงานแรกที่จะได้เห็นว่าอีกก้าวหนึ่งของแสนสิริจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน คือโครงการที่ร่วมกับ Monocle ซึ่งเขาบอกว่า น่าจะได้เห็นสักประมาณเดือนเมษาฯปีหน้า

มารอดูกันว่า อัตลักษณ์ใหม่ของแสนสิริภายใต้การสร้างสรรค์และควบคุมของดีไซเนอร์นอกวงการอสังหาฯจะเป็นอย่างไร