ชวนผู้ป่วยเบาหวาน “เช็ก ถอด ทิ้ง” คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน

ผนึกกำลังลดโลกร้อน “เอสซีจี เคมิคอลส์” ร่วมกับ “ซาโนฟี่-เซอร์พลาสเทค” ทั้งภาครัฐ-เอกชน เปิดตัวโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน” เป็นครั้งแรกในไทย 

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567-ดาราวรรณ ลุยะพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจยา General Medicines ซาโนฟี่ ประเทศไทย เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยกว่า 5.2 ล้านคน ใช้ปากกาอินซูลินของซาโนฟี่กว่า 800,000 ด้ามต่อปี เทียบเป็นปริมาณขยะพลาสติกถึง 17 ตัน

บริษัทจึงรณรงค์แยกเข็มและจัดเก็บปากกาใช้แล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิล ภายใต้โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดเก็บและรีไซเคิลปากกาฉีดอินซูลินอย่างถูกวิธี

โครงการนี้เป็นร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC เผยว่า ปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมหาศาล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

เราจึงนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม Green Polymer มารีไซเคิลเปลี่ยนพลาสติกจากปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยเทคโนโลยี Advanced Recycling สะท้อนกลยุทธ์แนวทาง ESG สอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของกระทรวงสาธารณสุข โดยร่วมกับ “เซอร์พลาส เทค” หรือ Cirplas ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่มุ่งจัดเก็บ คัดแยก และจัดการขยะพลาสติกครบวงจร

ADVERTISMENT

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย เสริมว่า เบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมาก ถึงเวลาต้องรณรงค์กำจัดขยะให้ถูกวิธี โดยตั้งกล่องรับคืนปากกาอินซูลินใช้แล้ว นำร่องใน 6 โรงพยาบาลชั้นนำ

ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ADVERTISMENT

นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงตระหนักจากภัยโลกร้อนจึงจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโครงการนี้ตอบโจทย์ตรงจุด

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการเสริมว่า มีเพียง 13% เท่านั้น ที่ปากกาอินซูลินใช้แล้วได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลือเกือบ 90% เป็นขยะมลพิษ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนเป็นพิษภัยต่อมนุษย์นั่นเอง