ปิดม่าน…โบกมือลา “ลิโด” โอเอซิสของคนดูหนัง

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง-ภาพ

ยื้อลมหายใจกันมาเฮือกใหญ่ ในที่สุดโรงภาพยนตร์ลิโด ก็ถึงเวลาปิดม่านลงจริง ๆ แล้วในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ขณะที่สกาลา น้องเล็กของเครือเอเพ็กซ์ จะยังได้ไปต่อ แต่ไม่รู้แน่ชัดว่า “ต่อ” อีกนานเท่าไหร่

รงภาพยนตร์ที่มีอายุ 50 ปี แน่นอนว่าย่อมมี “แฟน” มีคนที่ผูกพัน รัก และหวงแหน ไม่อยากให้วันสุดท้ายมาถึง แต่การห้ามความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากนัก
 
3 โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ คือ สยาม (ปิดไปแล้วเนื่องจากไฟไหม้เมื่อปี 2553) ลิโด และสกาลา ณ สยามสแควร์นั้น มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คน เพราะมันเป็นผู้นำความเจริญมาสู่ย่านนี้
 
เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ตอนที่พื้นที่ตรงนั้นยังไม่เป็น “เมือง” การสร้างโรงหนังเป็นการดึงผู้คนให้เข้ามาสู่พื้นที่ ทำให้เกิดห้างร้านต่าง ๆ ตามมา และที่สำคัญ เป็นผู้ให้กำเนิดนาม “สยามสแควร์” ที่เรียกขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีที่มาจากชื่อคอลัมน์ “สยามสแควร์” ในสูจิบัตรของโรงหนังเครือเอเพ็กซ์นี้เอง
 
นอกเหนือจากความโหยหาและหวงแหนอดีตที่กำลังจะจากไปแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง คนที่ชอบไปดูหนังที่ลิโด้กำลังจะสูญเสียพื้นที่สำคัญของพวกเขา ซึ่งยากจะหาที่ไหนทดแทนได้อีก
 
“ลิโด คือ โอเอซิสของคนรักหนัง” ผู้เขียนปิ๊งขึ้นมาระหว่างที่ครุ่นคิดว่า นอกจากความเก่าและประวัติศาสตร์แล้ว เราจะบอกกับคนที่ไม่ใช่แฟนลิโดว่าลิโดมีคุณค่าอย่างไร ทำไมคนกลุ่มหนึ่งจึงรักและหวงแหนมันนัก
ถ้าคนที่ไปดูหนังที่ลิโดบ่อย ๆ จะเข้าใจถึงความเป็น “โอเอซิส” ของมัน เพราะบนอาคาร 2 ชั้นแห่งนี้เป็นที่พักพิงทั้งทางกายและทางใจของใครหลายคน
 
พูดในทางกายก่อน หากคุณรอคอยเวลานัด ไปทำธุระ ไปงาน ฯลฯ ในย่านนั้น แต่เป็นช่วงว่างเวลาที่ไม่ได้นานมากถึงขนาดจะต้องไปนั่งร้านกาแฟ หรือร้านอาหาร และรู้สึกว่าการเดินห้างวนไปมาก็ขี้เกียจเบียดเสียดผู้คน คุณสามารถหลบเข้าไปนั่งพักในลิโดได้ แม้ไม่ได้ดูหนัง หรือถ้าอยากเข้าห้องน้ำก็แวะเข้าไปจ่ายตังค์ 5 บาท แลกกับการไม่ต้องเดินไกล ไม่ต้องรอคิวนาน เหมือนการไปเข้าห้องน้ำในห้างใหญ่
 
ส่วนในทางใจ ลิโดมีพื้นที่สำหรับภาพยนตร์นอกกระแสเกินกว่าครึ่งของรอบฉายทั้งหมด เป็นทางเลือกซึ่งหาได้ยากจากโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ที่ครองตลาดอยู่
 
ไม่ต้องพูดไปไกลนัก เอาแค่ช่วง 1 เดือนนี้ ที่ Avengers : Infinity War ครองรอบฉายน่าจะราว 85% ของรอบฉายทั้งหมด แล้วพื้นที่ของหนังอื่น ๆ อยู่ตรงไหน พื้นที่ของคนที่ไม่ใช่แฟนหนังซูเปอร์ฮีโร่อยู่ตรงไหน
การที่คนเราอยากดูหนังแล้วไม่มีที่ไหนฉายเรื่องที่เราอยากดูเลย ความรู้สึกก็คล้ายเดินอยู่กลางทะเลทรายอันแห้งผาก ซึ่งการที่ลิโดฉายหนังนอกกระแส นั่นล่ะที่บอกว่า “ลิโด คือ โอเอซิสของคนดูหนัง”
 
หรืออีกกรณีหนึ่งคือ หนังทั่ว ๆ ไปหลายเรื่องที่ไม่ได้รับความนิยม ต้องออกจากโรงไปตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้าฉาย ถ้าใครอยากดูเรื่องนั้น แต่หาดูที่อื่นไม่ได้แล้ว ลิโดก็ยังเป็นความหวัง เพราะลิโดจะให้เวลาหนังทุกเรื่อง
 
ในเดือนสุดท้ายนี้ บรรยากาศที่ลิโดยังคงคึกคักในระดับที่เคยเป็น ช่วงครึ่งเดือนหลังอาจจะคึกคักมากขึ้นอีกในห้วงเวลาแห่งการอำลาและอาลัย
 
ความรู้สึกและความคิดเห็นที่คนดูหนังมีต่อลิโดนั้นไม่ได้ต่างกันนัก เพราะมันชัดเจนในแง่การเป็น “ทางเลือก” และ “ที่พึ่ง” ของคนที่อยากดูหนังจริง ๆ
 
แสงทิวา นราพิชญ์ ซึ่งดูหนังที่ลิโดและสกาลามานานราว 20 ปี บอกว่า ชอบที่นี่ เพราะว่า 1.ค่าตั๋วและอื่น ๆ ถูกกว่าโรงหนังที่อยู่ในห้าง 2.หนังที่ฉายที่ลิโดไม่ใช่หนังตลาดทั่วไป 3.ความคลาสสิกของโรงหนังแบบเก่า 4.เดินทางสะดวก
 
“เขาเลือกหนังที่ค่อนข้างเป็นสายอาร์ต หรือหนังที่หาดูยาก ซึ่งเราชอบหนังแนวนี้ และลักษณะโรงมันยังเป็นแบบเก่าอยู่ มีความคลาสสิกบางอย่างที่มันเป็นเสน่ห์ของโรงหนัง ก็เสียดาย… ทุกอย่างมันถูก อย่างป๊อปคอร์น 40 บาท อร่อยด้วย หาได้ที่ไหน สามารถซื้อน้ำจากข้างนอกเข้าไปได้ด้วย ไม่เหมือนโรงหนังในห้าง เอาอะไรเข้าไปไม่ได้ ต้องซื้อหน้าโรง ซึ่งราคาแพงมาก บางอย่างก็รู้สึกว่ามันสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ถ้าเราจะดูหนังสักเรื่อง เราก็อยากดูด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ลิโดมันตอบโจทย์ทุกอย่าง และมันอยู่ในเมือง เดินทางสะดวก ติดรถไฟฟ้า ถ้าจะไปห้างไปไหนก็เดินต่อได้เลย จะมีโรงหนังบางที่ที่ดี แต่มันไกลมาก อย่างเฮาส์ อาร์ซีเอ”
 
“มันเป็นที่ที่เราได้อยู่ใกล้งานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง หนังมันทำให้เราเข้าไปอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง และเราก็ได้รับอะไรหลาย ๆ อย่าง เดือนนี้เป็นเดือนที่ตั้งใจจะมาดูหนังที่นี่ให้บ่อยที่สุด เพราะว่าเสียดาย ยิ่งเรื่องที่เพิ่งดูวันนี้ Tonight at Romance Theater เป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงหนังด้วย มันก็เหมาะมากที่จะดูที่นี่”
 
นอกจากนั้น เธอยังแสดงความห่วงใยไปถึงสกาลาด้วยว่า “สกาลายิ่งเป็นที่ที่น่าเสียดายมาก เพราะว่าสถาปัตยกรรมมันสวย ถ้าจะทำอะไรต่อก็อยากให้เกี่ยวกับภาพยนตร์ ทำพิพิธภัณฑ์หรือเป็นที่ฉายหนังผลงานนักศึกษาก็ได้ อย่าทุบเลย เสียดาย อยากให้เก็บไว้ จุฬาฯมีคณะนิเทศฯ มีคนเรียนภาพยนตร์ ก็เก็บไว้เป็นที่ฉายหนังนักศึกษาก็ยังดี คิดว่าเป็นประโยชน์”
 
อีกคนหนึ่งที่ร่วมแสดงความเห็นคือ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู นักจัดกิจกรรมภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เขาบอกว่า สิ่งที่ลิโดต่างจากโรงหนังอื่นคือ การฉายหนังนอกกระแส แม้ว่าปัจจุบันไม่ได้ฉายเฉพาะหนังนอกกระแส แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีหนังหลากหลาย เป็นพื้นที่สำหรับคนอยากดูหนังที่หาดูไม่ได้ บางเรื่องอาจจะมีฉายที่อื่น แต่รอบฉายน้อยและราคาสูง ลิโดเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากดูหนังจริง ๆ ถ้าลิโดหายไป ทางเลือกของคนดูหนังก็หายไปด้วย เหลือเฮาส์ อาร์ซีเอ แต่เดินทางไปยาก
 
ด้านตัวสถานที่ เขาบอกว่า ลิโดเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นโรงหนังแรก ๆ ในย่านนั้น ความสำคัญของโรงหนังก็คือเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ โรงหนัง 3 แห่งนี้-สยาม, ลิโด, สกาลา เป็นตัวแทนที่ทำให้เห็นว่าในยุคก่อนนี้โรงหนังมีอิทธิพลต่อผู้คนมาก บนพื้นที่ที่ไม่ได้มีราคาค่างวด พอมีโรงหนังเกิดขึ้นมา ก็ทำให้คนตามมา เกิดความเจริญในพื้นที่
 
“แต่เราก็เข้าใจว่าระบบธุรกิจมันเปลี่ยน” เขาว่า อย่างยอมรับความเปลี่ยนแปลง
 
“คนมักพูดว่าเสน่ห์ของลิโด และสกาลาคือ พนักงานอายุมาก ซึ่งอันนี้เป็นสัญญาณว่า วันหนึ่งโรงหนังมันต้องไป เพราะเขาไม่มีเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ เข้ามาเลย ทั้งพนักงานและผู้บริหาร เจ้าของเขาทำมาด้วยความรัก สืบทอดมาจากรุ่นพ่อ แต่ระบบธุรกิจเปลี่ยนไป เราก็เข้าใจ”
 
ส่วนพื้นที่ของหนังนอกกระแส และคนที่อยากดูหนังนอกกระแสหลังจากนี้ เขามองว่า
 
“เหลือสกาลาโรงเดียว เขาก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก โรงใหญ่แบกค่าใช้จ่ายเยอะกว่าลิโดด้วย ผมไม่คาดหวังว่าเขาจะฉายหนังนอกกระแส ส่วนพื้นที่ฉายหนังนอกกระแสหลังจากนี้ ถ้าคนดู ประชาชน และรัฐบาลเห็นว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น รัฐบาลก็คงจะจัดพื้นที่ขึ้นมา แต่การจะให้เอกชนมาฉายหนังนอกกระแส แบกภาระ ซึ่งทำรายได้น้อย ก็คงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องทางธุรกิจ”
 
ในฐานะคนของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พุทธพงษ์ บอกว่า หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชน ก็พยายามจัดฉายหนังนอกกระแส และมีกิจกรรมจัดฉายหนังที่โรงหนังลิโด และสกาลา มาหลายปี ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะมีเทศกาลภาพยนตร์เงียบประเทศไทย ฉายที่ลิโด โรง 2 ปิดเทศกาลด้วยเรื่อง Sherlock Jr.เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนฉายหนังและโรงหนัง ซึ่งจะฉายเป็นรอบสุดท้ายของโรงภาพยนตร์ลิโด ในวันที่ 31 พฤษภาคม
 
มองอย่างยอมรับความจริง ก็ชวนนึกถึงคำพูดที่เคยได้ยินกันมาว่า “อย่าเสียใจที่มันจบลง แต่จงดีใจที่มันเคยมีอยู่” แม้ในความเป็นจริงยังมีคำถามคล้ายกับหลายคนว่า หลังจากนี้จะไปหาหนังแบบนี้ดูที่ไหน แต่เมื่อเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เมื่อถึงเวลา… เมื่อม่านค่อย ๆ เลื่อนปิดหน้าจอ ก็คงทำได้แค่โบกมือลา แล้วที่เหลือ…เป็นเรื่องของความทรงจำ