
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยปลื้ม ผลเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้าราบรื่น “หนัง แอนิเมชั่น-คอนเทนต์วาย” ปิดดีลสร้างมูลค่าการค้า ทำรายได้เข้าประเทศรวม 1,469 ล้านบาทตลอด 9 วันของการจัดงาน Thailand Pavilion ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ฝรั่งเศส
วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทย 12 บริษัท และ 1 สมาคมที่เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้า (Business Matching) ในงาน March du Film ภายใต้งาน Cannes Film Festival 2024 ซึ่งเป็น Thailand Pavilion ตลอด 9 วันของการจัดงาน (14-22 พฤษภาคม 2567) ปรากฏว่า มีการจับคู่เจรจาการค้า 343 คู่ สร้างมูลค่าการค้ารวม 1,469 ล้านบาท
งานดังกล่าวเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุด มีนักธุรกิจในวงการเข้าร่วมมากที่สุดในโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า เจาะตลาดในอุตสาหกรรมบันเทิงให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และปีนี้คอนเทนต์วายของไทยได้รับความสนใจมากจากตลาดฝั่งเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยหันมาผลิตคอนเทนต์วายเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กว่า 200 เรื่อง
นอกจากนี้ ภาพยนตร์แนวดราม่า สยองขวัญยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และการให้บริการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจจากคู่ค้าต่างประเทศเป็นอย่างมาก
การเจรจาปีนี้มีนักลงทุน ผู้สร้าง ผู้ชื้อจากต่างประเทศสนใจเข้าร่วมกับผู้ประกอบการไทย อาทิ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด (เอ็ม สตูดิโอ) ได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ที่สนใจนำภาพยนตร์เรื่อง “ธี่หยด 2” ไปฉายยังโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของ เอ็ม พิคเจอร์ส ที่จะได้นำภาพยนตร์ไปฉายในโรงภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา
รวมถึงการเจรจากับบริษัทจากประเทศรัสเซีย ที่จะนำภาพยนตร์เรื่อง “ธี่หยด 2” ไปจัดจำหน่ายและเผยแพร่ ซึ่งก่อนหน้านี้ “ธี่หยด” ภาคแรก ได้ติดอันดับ Box Office ของประเทศรัสเซียหลายสัปดาห์
ส่วนซีรีส์วายของบริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) ได้รับความสนใจจากคู่ค้าจากประเทศอิตาลี ในการเป็นตัวแทนนำซีรีส์วายเรื่อง “รักเสพติด (Heroin)” ไปจัดฉายพร้อมจัดแฟนมีตติ้งทั่วยุโรป
บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด ได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากประเทศเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เพื่อรับจ้างผลิตและให้บริการเมื่อเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้
ในงาน March du Film มีผู้เข้าร่วมงาน 15,000 คน จาก 140 ประเทศทั่วโลก มากกว่าปี 2566 ที่มีผู้เข้าร่วม 14,000 คน โดยมีตัวแทนแต่ละประเทศเข้าร่วม 60 คูหา บริษัทที่ร่วมออกบูทมีมากกว่า 300 ราย ไทยยังคงมีจุดเด่นด้านคอนเทนต์ที่หลากหลาย สถานที่ถ่ายทำ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measures) ภายใต้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทย