
รู้จักศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) นำร่อง 10 จังหวัด ขานรับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ สนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ระดับท้องถิ่น
สืบเนื่องจากวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ประกาศเปิดตัว “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) แห่งใหม่ใน 10 จังหวัด สนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ระดับท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์นโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” ประกอบด้วย เชียงราย นครราชสีมา ปัตตานี พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต ศรีษะเกษ สุรินทร์ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC นำร่องใน 10 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นช่องทางให้ผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ เข้าถึงโอกาสและตลาดงานในอตุสาหกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับฐานรากจนกระทั่งออกสู่ตลาดโลก
TCDC มีมานานแล้ว
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทย) ในปี 2548 หรือ 18 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นหน่วยงานภายใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม บนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อมสำหรับการก้าวสู่อนาคต
ปัจจุบันมีศูนย์ TCDC เปิดให้บริการใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ TCDC กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยจะเปิดให้บริการศูนย์ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา ในปี 2568 ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค พร้อมกันกับ TCDC นำร่อง 10 จังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้น
CEA นำร่อง 10 จังหวัด ขานรับนโยบาย
“ดร.ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในโอกาสที่ TCDC จะครบรอบการก่อตั้ง 20 ปี เป็นจังหวะพอดีกันกับที่รัฐบาลมีนโยบายเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อย่างชัดเจน ซึ่งต้องพัฒนาคน พัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม เพื่อออกสู่ต่างระดับโลก
โดยกลไกทั้งสี่จะเชื่อมโยงกันได้จำเป็นต้องมี Learning and Information Center ซึ่งที่ผ่านมา TCDC อาจเป็น Creative Center ที่เน้นเพียงการออกแบบ แต่อันที่จริงไม่สามารถเน้นการออกแบบเพียงอย่างเดียวได้ ต้องมีทั้งการเรียนรู้ การพัฒนาคน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นสินค้าและบริการต่อไป
“เป็นจังหวะดีมากที่รัฐบาลมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ออกมาชัดเจน เนื่องจาก CEA มีแผนจะขยาย TCDC อยู่แล้ว สอดคล้องกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ พอดี”
สำหรับการดำเนินงานของ TCDC แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
- Learning Development หรือการพัฒนาการเรียนรู้ ไม่ว่าจะผ่านการอ่านหนังสือ การสืบค้นคลังข้อมูล การจัดนิทรรศการ ตลอดจนการสัมมนาที่จะจัดเป็นระยะ
- Local Asset Development เมื่อมีสกิล ข้อมูล และการเรียนรู้แล้ว ต้องสกัดอัตลักษณ์ในพื้นที่อออกมา เพื่อนำเสนอเป็นต้นทุนในการพัฒนาต่อไป
- Product-Service Development คือการนำอัตลักษณ์ในพื้นที่มาพัฒนาเป็นสิ้นค้าและบริการผ่าน Creative Lab
- Creative Lab เป็นโซนหนึ่งใน TCDC เพื่อการทดลอง-ทดสอบการเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการออกมาสู่ตลาด
- Content and Market Development คือการทำคอนเทนต์เพื่อขายสินค้าและบริการที่ได้มา โดยจะมีสตูดิโอเล็ก ๆ ให้คนในพื้นที่ใช้สำหรับถ่ายทำ มีการเชื่อมโยงกับตลาด-ผู้ซื้อ ด้วยการจัดนิทรรศการ โชว์เคส เช่น ตั้งศูนย์ TCDC มาแล้ว 6 เดือน จะมีการจัดงานเทศกาลนำเสนอผลงานจากจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งผู้ซื้อที่เข้ามาจะมีทั้ง B2C (การค้าขายระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค) หรือ B2B (การซื้อขายระหว่างองค์กร) ที่มีการซื้อในปริมาณที่มาก ดร.ชาคริต กล่าว
ท้องถิ่นให้ความสนใจ
ดร.ชาคริต กล่าวอีกว่า การนำร่องศูนย์ TCDC 10 จังหวัดในครั้งนี้ เกิดจากการเปิดคัดเลือกและให้จังหวัดต่าง ๆ สมัครเข้ามา ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานส่วนท้องถิ่นโดยจะร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้
คระกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย CEA หน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 7 หน่วยงาน เนื่องจากศูนย์ TCDC เกี่ยวเนื่องกับทั้งการศึกษา องค์ความรู้ การอบรมผู้ประกอบการ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกต้องพิจารณา “สินทรัพย์ของเมือง” เป็นหลัก (เมืองนั้นมีของดีอะไร) และ “นักสร้างสรรค์ในพื้นที่” เนื่องจากการดำเนินงานของ TCDC ภายใต้ CEA ต้องมีผู้ขับเคลื่อน รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านงบประมาณหรือนโยบาย แต่ผู้ที่ขับเคลื่อนจริง ๆ คือนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ หากนำงบประมาณลงไปแล้วไม่มีผู้ขับเคลื่อนหรือไม่มีเครือข่ายเพียงพอจะไม่เกิดอะไร
เกณฑ์การคัดเลือกอีกด้าน คือ “โครงสร้างพื้นฐาน” ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์ต้องเหมาะสมที่จะดึงดูดผู้คน ไม่ใช่อยู่ลึกหรือเข้าถึงยาก เป็นต้น ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้มาจาก “Creative City Index” ที่ใช้กันทั่วโลกในการวัดศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ของเมือง
“เราต้องการการพัฒนาในระยะยาวไปด้วยกัน ดังนั้น ต้องเป็นความตั้งใจของท้องถิ่นเองที่จะทำ”
ดร.ชาคริต ระบุว่า มีหน่วยงานส่วนท้องถิ่นส่งเข้าสมัครรับคัดเลือกทั้งสิ้น 24 จังหวัด รวม 31 พื้นที่ เนื่องจากบางจังหวัดมีผู้เสนอมากกว่า 1 หน่วยงาน สะท้อนให้เห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคประชาชนต่างให้ความสนใจ
ปัจจุบัน หลังจากประกาศรายชื่อทั้ง 10 ไปแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบสถานที่ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครเช่นกัน ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการช่วงปลายปีหน้า สำหรับ 10 จังหวัดนำร่องที่ได้รับคัดเลือก ความพร้อมของพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเข้าถึงง่ายและเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน พ่อค้า-แม่ค้า ตลอดจนนักธุรกิจ ดร.ชาคริต กล่าว
มีแพลตฟอร์ม พร้อมยืดหยุ่น
ดร.ชาคริต กล่าวว่า ปกติแล้วส่วนกลางจากกรุงเทพฯ จะเป็นผู้บริการจัดการ แต่ TCDC เป็นโมเดลใหม่โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ (จ่ายค่าพนักงาน ระบบสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ) กล่าวคือ จังหวัดจะเป็นเจ้าของพื้นที่เอง ส่วน CEA จะอำนวนความสะดวกและสนับสนุน ตกแต่งศูนย์ ให้คำปรึกษา นำนิทรรศการไปจัด นำคอนเทนต์ สัมมนา เวิร์กช็อป และนำทรัพยากร (Resource) ต่าง ๆ ไปลงในพื้นที่ ภายใต้การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี
ความน่าสนใจของโครงการนี้คือ “การคิดแบบแพลตฟอร์ม แต่ปรับตัวให้ได้ตามบริบท” กล่าวคืน แพลตฟอร์มต้องมีความชัดเจน แต่ยืดหยุ่นเพื่อให้เข้ากันได้กับบริบทในพื้นที่ เพราะความคิดจากส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถนำไปใช้กับบริบทในพื้นที่ได้ เนื่องจากอาจไม่เข้ากับเมือง วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่น แม้ทำได้แต่จะไม่ยั่งยืน แนวคิดดังกล่าวจึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อยืดหยุ่นต่อสินทรัพย์หรือเงื่อนไขใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในพื้นที่
“การนำความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในพื้นที่ จะช่วยระเบิดพลังในพื้นที่ให้มีโอกาส TCDC ไม่ได้เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมด แต่จะเข้าไปเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจอีกอันหนึ่งที่พาคนเดินไปข้างหน้า และทำให้ธุรกิจเติบโตได้ โดยมีภาคประชาชนและภาครัฐในพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อน เพราะ Mindset ของคนกรุงเทพฯ ไม่เข้ากันกับพื้นที่”
สำหรับการนำร่อง 10 จังหวัด เปรียบเสมือนการทดสอบ เรียนรู้ และเข้าใจในแต่ละจังหวัด ซึ่งสำคัญมาก เพราะแต่ละเมืองจะแตกต่างกัน บางจังหวัดอาจเน้นเรื่องอาหาร ดนตรี หรือคอนเทนต์ ซึ่ง CEA ต้องเข้าไปผนึกกำลังกับหน่วยงานในพื้นที่
สิ่งที่ต้องระวังคือการจัดอีเวนต์ โดยต้องใช้อีเวนต์ในเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ ต้องเห็นพัฒนาการในแต่ละปีที่จัด ไม่ได้กลับไปเริ่มจัดใหม่ในทุก ๆ ปี ถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่เห็นการเติบโต ดังนั้น อีเวนต์เชิงยุทธศาสตร์จะต้องมี รายละเอียดของการวางยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการสินทรัพย์ในพื้นที่ให้เติบโต เช่น การจัดอีเวนต์ต่างในย่าน “เจิรญกรุง-ตลาดน้อย” ที่ปัจจุบันได้รับความนิยม ย้อนกลับไป 5 ที่แล้วย่านนี้เงียบเหงาและแตกต่างจากปัจจุบันมาก เป็นต้น
“CEA พร้อมจะสนับสนุนและแบ่งปันองค์ความรู้ทั้งหมดที่มี เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่มีแม่แบบเพราะสิ่งที่ทกำลังทำคือของใหม่ อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ต้องรีบผิด และรีบเรียนรู้ไปข้างหน้า ถ้าทำได้เมื่อไร จะสามารถยืนระยะไปได้ สิ่งนี้เป็นแก่นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่”

ภูเก็ตพร้อมนำเสนอทุนทางวัฒนธรรม
“นายเรวัต อารีรอบ” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภูเก็ตตั้งความหวังและความฝันเอาไว้ว่าต้องทำให้ศูนย์ TCDC เกิดขึ้นในจังหวัดให้ได้ เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนามนุษย์ และมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ อีกทั้ง จังหวัดภาคใต้ฝั้งอันดามันยังไม่เคยมีศูนย์ TCDC มาก่อน
ประชากรในจังหวัดจังหวัดภูเก็ตมีรากเหง้าที่หลากหลาย ไมว่าจะเป็นผู้อพยพจากประเทศจีน อินเดีย ตลอดจนชาวมุสลิม และชาวไทย เป็นต้น ซึ่งต่างนำวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาที่ภูเก็ต ทำให้ภูเก็ตมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก เช่น การมีสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส การแต่งกายบ้าบ๋า ย่าหยา อาหารการกิน ตลอดจนสมุนไพรไทย-จีน เป็นต้น
“TCDC จะเป็นการเพิ่มทักษะ ยกระดับเมือง และเพิ่มรายได้ของเมืองอย่างยั่งยืน เชื่อว่านักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงอายุ จะได้รับความรู้จากศูนย์นี้ จะมีการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในแต่ละเรื่องไว้ในศูนย์แห่งนี้ด้วย คนรุ่นใหม่ในภูเก็ตรอคอยศูนย์ TCDC มานาน เนื่องจากตอนสมัครรับเลือกตั้งมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าภูเก็ตควรจะมีศูนย์นี้”
นอกจาก TCDC จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางศรษฐกิจในภูเก็ตอย่างมหาศาล จะยังเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ด้วย และเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ ตลอดจนจะเป็นรากเหง้าสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองต่อไป
ความโชคดีของจังหวัดภูเก็ตคือการมีอาคารอยู่เล้ว โดยกรมธนารักษ์มอบอาคารสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ให้ในพื้นที่กว่า 6 ไร่ บนตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และเป็น ซึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี ความสวยงามของอาคาร พื้นที่จอดรถ และทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในจุดท่องเที่ยว จะเป็นแรงจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการ และทำให้ศูนย์ TCDC กลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด นายเรวัตกล่าว