เสวนา ‘ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร’ 5 นักประวัติศาสตร์ร่วมสนทนาว่าด้วยเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ไทย กับหนังสือ 3 เล่มใหม่ชุด “กษัตราธิราช” โดยสำนักพิมพ์มติชน
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องสามศร 1 อาคารรำไพพรรณี ชั้น 6 พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “เครือมติชน” ผนึกกำลังสื่อในเครือ พร้อมด้วยพันธมิตร นำโดย สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัทพราว และสวนน้ำ วานา นาวา วอเตอร์จังเกิ้ล หัวหิน
จัดเสวนา “ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เทิดไท้องค์ราชา ๗๒ พรรษา พระวชิร เกล้าเจ้าอยู่หัว” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
ภายในงานเสวนาได้ระดมนักประวัติศาสตร์ระดับแถวหน้าของประเทศมาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวของ “พระมหากษัตริย์ไทย” แบ่งออกเป็น 2 ภาค ประกอบด้วย “ธรรมเนียมการฉลองอายุ” และ “กษัตราธิราช” พร้อมเปิดตัวหนังสือชุดพิเศษ “กษัตราธิราช” ที่เรียงร้อยประวัติศาสตร์หลากหลายด้านอย่างวิจิตรบรรจง ในเรื่องราวขององค์ กษัตราธิราชไทย ผ่านหนังสือ 3 เล่ม คือ “ธำรงรัฐกษัตรา-ชลารักษ์บพิตร-สถิตสายขัตติยราช”
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำระดับประเทศ นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ในรั้วในวัง ตลอดจน พระราชพิธีต่าง ๆ
พร้อมด้วย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน กฎหมาย และประวัติศาสตร์ราชสำนักและทางด้านพุทธศาสนา, กษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บรรณาธิการหนังสือหลายเล่ม ทั้งยังถือเป็นผู้คร่ำหวอดในประวัติศาสตร์การเมืองและ ชีวประวัติบุคคล
รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของหนังสือ จอร์จทาวน์ : จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก และ ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและ ภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและจารึก ทั้งยังเป็นผู้เขียนบทความ สืบประวัติ “อักษรไทย” ในแบบเรียนโบราณ ขึ้นเวทีร่วมเสวนาครั้งนี้
สำหรับเสวนาภาคแรก ในหัวข้อ ธรรมเนียมการฉลองอายุ โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และ รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร ได้เล่าเรื่องธรรมเนียมการฉลองอายุ การเฉลิมพระชมพรรษาในอดีต และการสมโภช ซึ่งเป็นต้นเค้าและแบบอย่างมาถึงปัจจุบัน
เสวนาภาคที่สอง กษัตราธิราช โดย กษิดิศ อนันทนาธร ล้อมวงคุยร่วมกับ รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริและ ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร ซึ่งเชื่อมโยงหนังสือทั้ง 3 เล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ที่ร้อยเรียงประวัติศาสตร์หลากหลายด้าน ทั้งระบบการเมืองการปกครอง ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตและได้รับอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน
รวมถึงเรื่องของการประดิษฐ์ คิดค้นนวัตกรรมและ เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการน้ำ และธรรมเนียมการสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ไทย
นอกจากนี้ ภายหลังการเสวนา ยังมีการชมนิทรรศการ “เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ” ฟังประวัติศาสตร์และเรื่องราวของงานการจัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉลองพระองค์ พระมาลาและฉลองพระบาทในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นำชมโดย ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร
3 เล่มใหม่ ชุดกษัตราธิราช
สำหรับหนังสือ 3 เล่มใหม่สุดพิเศษในชุดกษัตราธิราช ได้แก่ “ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย” เขียนโดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ
เป็นหนังสือที่ว่าด้วยแนวคิดการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสร้างชาติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงยุคแห่งการสร้างความปรองดองหลังการรัฐประหาร 2557
ที่แม้ชุดประวัติศาสตร์นี้จะผ่านการผลิตซ้ำมาหลายช่วงเวลา ทั้งการสร้างเพิ่มเติมจากของเดิม ล้มล้างด้วยของใหม่ ไปจนถึงการซ้อนทับกันของประวัติศาสตร์ชุดเก่าและชุดใหม่ ทว่าเรื่องราวของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมา กลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ผู้คนต้องธำรงรักษาและจดจำ
“ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทย จากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” เขียนโดย อาสา คำภา และ ทิพย์พาพร อินคุ้ม
เป็นหนังสือว่าด้วยการเล่าเบื้องหลังแนวคิดการนำพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนาที่สำคัญมาปรับใช้ อาทิ เสี่ยงทาย พิธีขอฝน พิธีขอขมาพระแม่คงคา พิธีไล่น้ำ หรือเชิงปฏิบัติ เช่น การขุดคลอง การสร้างประตูน้ำและเหมืองฝาย ตลอดจนการนำวิทยาการ ความรู้จากตะวันตกมาจัดการน้ำ โดยการจัดการน้ำของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ มีความสัมพันธ์ กับความชอบธรรม และอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครอง
“สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี
เป็นหนังสือที่ชวนไปมองภาพ ธรรมเนียมการปกครองในระบอบกษัตริย์ในดินแดนไทยแต่โบราณ เข้าใจถึงรูปแบบการสืบทอด การสืบราชบัลลังก์ การกำหนดองค์รัชทายาท รวมไปถึงรูปแบบสถาปัตยกรรม งานช่างต่างๆ ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงพระเกียรติของตำแหน่งองค์รัชทายาทในอดีต
โปรโมชั่นพิเศษ
สำหรับโปรโมชั่นหนังสือชุดกษัตราธิราช ลด 15% หากซื้อครบชุด (3 เล่ม) ราคา 860 บาท (จากราคาเต็ม 1,020 บาท) และรับไปเลยหนังสือพร้อมกล่องสกรีนลายพิเศษ
ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย
นักเขียน : อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ | คำนำเสนอโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
ลดเหลือ 328 บาท (จากราคาเต็ม 385 บาท)
ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา
นักเขียน : อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม
ลดเหลือ 272 บาท (จากราคาเต็ม 320 บาท)
สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย
ผู้เขียน : นนทพร อยู่มั่งมี
ลดเหลือ 268 บาท (จากราคาเต็ม 315 บาท)