10 จังหวัด พื้นที่สร้างสรรค์ เชื่อมวิถีท้องถิ่นสู่อนาคต บูม “โคราช” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

TCDC นครราชสีมา
TCDC นครราชสีมา

การลงพื้นที่ของขุนคลัง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นข่าวดีของชาวโคราช เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) ภายใต้เป้าหมายครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

โดยรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ท้องถิ่นที่จะนำมาต่อยอด (Empowering Local Stories) เสริมสร้างวัฒนธรรมและสินค้าบริการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

เพราะเชื่อว่า TCDC แห่งใหม่ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ ทั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีพื้นที่พัฒนาศักยภาพตัวเอง พร้อมสร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง

สร้างสรรค์ไอเดียด้วยบริบทของชุมชน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA) ประกาศผลประกวดการออกแบบ New TCDC ใน 10 จังหวัดนำร่อง ที่มีผลงานโดดเด่น จากผู้ร่วมประกวด 113 ทีม 173 ผลงาน นับเป็นก้าวสำคัญในรอบ 20 ปี มีดังนี้

1.TCDC นครราชสีมา จะอยู่ใจกลางเมืองเก่า บนแนวแกนสำคัญที่เชื่อมโยงกับจุดหลักของเมือง ออกแบบโดย บริษัท จั่นอาร์คิเทค จำกัด ภายใต้แนวคิด “CREATIVE URBAN ROOM” เปิดมุมมองอาคารด้วยวัสดุโปร่งใส เชื่อมต่อ Urban Visual Connect ระหว่างพื้นที่ภายใน-ภายนอก

ช่วงเทศกาล อาคารยังถูกออกแบบให้เปิดประตูบานใหญ่ด้านหน้าได้ เป็นการเชื่อมพื้นที่ได้ต่อเนื่องและไร้ขอบเขต (Borderless Space)

Advertisment

ความโดดเด่นคือการผสมผสานวัสดุท้องถิ่น เช่น ไม้จากเรือนโคราช-เฉลิมวัฒนา เทคนิคก่อสร้างแบบปราสาทหินทราย ลวดลายเส้นพุ่ง เส้นยืนจากการถักทอผ้าไหมโคราช และอิฐดินเผาด่านเกวียน รวมถึงสีดินและลวดลาย

แล้วนำมาประยุกต์ในรูปแบบ Composited Material ที่ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) การนำวัสดุเหลือใช้ (Waste Material) กลับมาใช้ใหม่ TCDC นครราชสีมา จะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่น่าจับตา

Advertisment

TCDC เชียงราย

2.TCDC เชียงราย มากับความเชื่อที่ว่า “การออกแบบเชิงสร้างสรรค์สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้” โดย 1922 Architects ด้วยแนวคิด Creative Space for All พื้นที่สำหรับทุกคน การออกแบบมุ่งสอดแทรกไอเดียสู่วิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ชุมชน และเมือง

ตัวอาคารสามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน กระตุ้นแลกเปลี่ยนความคิด และส่งเสริมความยั่งยืน ด้วยการใช้ประโยชน์จากลานหน้าศาลากลางหลังเก่า สู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชน

3.TCDC ปัตตานี แนวคิด Glory to Distribution Days โดยบริษัท ทรัพย์เปอร์ จำกัด สะท้อนวิวัฒนาการของห้องแถวจีนริมน้ำ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาหลายยุคสมัย จากศูนย์กระจายสินค้า ด่านเก็บภาษี ปัจจุบันเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของกลุ่ม Melayu Living มีบรรยากาศเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย

4.TCDC พิษณุโลก ออกแบบโดย สถา ณ สถาปนิก ผ่านแนวคิด เมืองสองแคว l สายน้ำ l วิถีชีวิต เชื่อมความคิดสร้างสรรค์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในบรรยากาศอบอุ่น เป็นมิตร เป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ ๆ จากทรัพยากรที่มีอยู่ พิษณุโลกมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเมือง

การใช้ “อิฐ” สื่อถึงความแข็งแรง พื้นที่แบ่งตามเส้นทางน้ำ สร้างความกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ

5.TCDC แพร่ ออกแบบโดย เค ทู ดีไซน์ แนวคิดเผยแพร่ภูมิปัญญาอย่างเรียบง่าย นำเสนอมรดกล้ำค่าของเมืองแพร่ ผ่านคำขวัญ “ม่อฮ่อม-ไม้สัก” จึงเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารให้ดูเหมือน “ท่อนไม้สักย้อมสีฮ่อม (Indigo)” ที่มี Form & Function อย่างน่าสนใจ

เปิดเผยตัวตนของแต่ละเมือง

6.TCDC ภูเก็ต ตัวตนของ “เมืองภูเก็ต” ถูกหล่อหลอมขึ้นจากอุตสาหกรรมดีบุก ผ่านแนวคิด “เล่นแร่-แปรเมือง” ไอเดียเด็ดจากบริษัท สวอน แอนด์ แมคคลาเรน (ประเทศไทย) จำกัด สถาปัตยกรรมของอาคารสะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ใช้วัสดุและรูปแบบการใช้งานสมัยใหม่ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในจังหวัด อาคารนี้ไม่เพียงเป็นศูนย์ออกแบบ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และนวัตกรรมของภูเก็ตด้วย

7.TCDC ศรีสะเกษ สื่อถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดอย่างลงตัว ออกแบบโดยทีมสถาปนิก ปิติพงศ์ อมรวิรัตนสกุล, ณรงค์วิทย์ อารีมิตร และวรนล สัตยวินิจ ภายใต้แนวคิด Sisaket Code ตีแผ่ประเด็นสำคัญของท้องถิ่น ออกแบบให้ศูนย์ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม ดนตรี และภาพยนตร์ในบริบทของชุมชนอย่างลงตัว ทั้งเป็นแหล่งรวมจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ของชาวศรีสะเกษอีกด้วย

8.TCDC สุรินทร์ ออกแบบโดย แปลน อาคิเต็ค คอนเซ็ปต์ “โฮล สาน สร้างสรรค์” ตีความเอกลักษณ์จากผ้าโฮล ลายผ้าไหมประจำถิ่นที่ชาวสุรินทร์ผูกพัน เปลี่ยนผ้าสานให้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงและเป็นจุดนัดพบของทั้งเมือง

9.TCDC อุตรดิตถ์ ออกแบบโดย รักตระกูล ใจเพียร คอนเซ็ปต์ “POP-OUT และ BLIND-IN” กับการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับ TCDC ผ่านคอนเซ็ปต์ POP-OUT ที่ดึงดูดความสนใจและสร้างภาพลักษณ์ความสร้างสรรค์ โดยไม่รบกวนการใช้งานของอาคารเดิม เมื่อขึ้นสู่ชั้น 2 ผ่านซุ้มประตูโค้งที่เชื่อมกับสวนขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยม่านลับแลห้อยเป็นลวดลายตีนจก ให้ความรู้สึกน่าค้นหา

10.TCDC อุบลราชธานี ออกแบบโดย Pixelight Studio (นัฏฐวรรณ สุระพัฒน์) คอนเซ็ปต์ “หล่อ-หลอม” ผสมฟังก์ชั่นการใช้งานและเอกลักษณ์ท้องถิ่นอย่างลงตัว นำประเพณีแห่เทียนพรรษา วัฒนธรรมอาหาร หัตถกรรม มาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดพื้นที่ที่มีคุณค่า น่าหลงใหล