“มูจิ” ดึงสินค้าชุมชนขึ้นห้าง เปิดประตูแบรนด์ไทยสู่สากล

นับเป็นข่าวดีที่ “มูจิ” (MUJI) แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ สัญชาติญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้สินค้าไทยวางจำหน่ายในร้านได้ เท่ากับเป็นการอัพเกรดให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นดูดี มีราคา

เพราะ “มูจิ” โดดเด่นในความเป็นสินค้ารักษ์โลก และมีดีไซน์เรียบง่าย สไตล์มินิมอล การปักหมุดสาขาลำดับที่ 37 ในห้างเซ็นทรัลอุดรธานี จึงมีความหมายมากกับสินค้าชุมชนจากอุดรธานี ที่ได้รับเลือกเข้าสู่ “ตลาดนัดมูจิ”

ขณะที่สินค้าเซรามิกแบรนด์ท้องถิ่น “InClay Studio” และ “Charm-Learn Studio” จากเชียงใหม่ ก็เตรียมจะขึ้นห้างใหญ่ด้วย

เท่ากับเป็นการเปิดประตูสู่สากล เพราะมูจิได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก มีสาขากว่า 1,000 แห่ง สินค้ากว่า 7,000 รายการ รวมยอดขายต่อปี 1.2 แสนล้านบาท

“อกิฮิโร่ คาโมการิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า มูจิมีแนวทางพัฒนาสินค้าที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทย ด้วยการจัดหาวัตถุดิบท้องถิ่นมาผลิตเป็นสินค้าตามแนวคิด “Localization” พร้อมจำหน่ายในไทยและส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ

ADVERTISMENT

ที่สำคัญ บริษัทได้ย้ายทีมวิจัยจากเวียดนามมาประจำการในไทยแล้ว พร้อมลงพื้นที่สำรวจตลาด และจัดหาวัตถุดิบในชุมชน โดยเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เดือนสิงหาคม 2567 จะตั้งทีมวิจัยและพัฒนาสินค้ากลุ่มอาหารในไทยด้วย ส่วนเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2567 จะเปิดตัวของใช้ในบ้านที่พัฒนาในไทย หากผลตอบรับดีจะส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก

ADVERTISMENT

ระหว่างนี้บริษัทเดินหน้าเปิดตลาดนัดมูจิให้ร้านค้าและซัพพลายเออร์ท้องถิ่นเข้ามาขายสินค้าคราฟต์แฮนด์เมด อาหาร และงานศิลปะ

ล่าสุด ร้านมูจิ สาขาเซ็นทรัลขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2567 จะมีแบรนด์ไทย อาทิ Paka Handmade สมุดทำมือจากวัสดุเหลือใช้, KRAMPHON แบรนด์ที่ประยุกต์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้วัสดุธรรมชาติ และ DO CRAFT WORK แบรนด์งานฝีมือ ภายใต้แนวคิด Slow-Simple-Sustainable

สาขาเซ็นทรัลอุดรฯ จะจัดตลาดนัดถึง 30 กันยายนนี้ มี 5 ร้านค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานได้รับคัดเลือก ได้แก่ MOONDAY POTTERY, SSAMA-WOOD CRAFT DESIGN, Milkcraft, Phen Textile (เพ็ญ) และ Bobbin Craft (บ๊อบบิ้น คราฟต์)

“อริญา พันธุมโกมล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด มูจิ รีเทล ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การนำสินค้าแบรนด์ไทยมาขายในสาขานั้นมี 2 ส่วนคือ ผ่านโครงการตลาดนัดมูจิ จัดที่สาขาขอนแก่นและอุดรธานี จะหมุนเวียนผู้ค้าทุกเดือน เงื่อนไขคือเน้นสิ่งแวดล้อมและสังคม

อีกส่วนเป็นความร่วมมือกับ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)” หรือ CEA และผู้ประกอบการไทยในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสินค้าแบรนด์ Found MUJI

ซึ่งมูจิเลือก InClay Studio และ Charm-Learn Studio เข้ามาจำหน่ายที่ไอคอนสยาม

“พิชญากร เพ็ญพิชัยพงษ์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “เพ็ญ” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพ็ญเป็นแบรนด์ที่พัฒนาจากพืชตระกูลว่าน เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาและความเชื่อ อยากให้คนได้ใช้ของดี หลังศึกษาแล้วพบว่า ในทางวิทยาศาสตร์ว่านคือดีมาก จึงสกัดน้ำมันมาทำเครื่องสำอาง เครื่องหอม อาหาร และยาต่าง ๆ

ที่สำคัญ ได้ร่วมกับศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (FTCDC) ทำเส้นใยว่าน คุณสมบัติเทียบเท่าฝ้าย ระบายอากาศได้ดี ลดการอักเสบของผิวหนังได้ด้วย หากทอร่วมกับเส้นใยอื่นก็เพิ่มมูลค่าได้อีก

“คอนเซ็ปต์เราคือ นำของโบราณมาขายให้คนรุ่นใหม่ โดยใช้นวัตกรรมและดีไซน์ที่ทันสมัย”

ส่วนการร่วมมือกับมูจินั้น พิชญากรบอกว่าได้รับการติดต่อจากอาจารย์สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ม.ราชภัฏอุดรธานี ส่วนตัวก็สนใจอยู่แล้ว เพราะมูจิเป็นแบรนด์ดังและดี สินค้าที่จำหน่ายมีสูบ่ คลีนซิ่งบาล์ม น้ำหอม ชาว่าน ยาดมว่าน งานผ้าไทย งานคราฟต์ ผ้าพันคอ ของที่ระลึก ซึ่งออกแบบใหม่เพื่อมูจิโดยเฉพาะ

“โครงการนี้จะช่วยสร้างรายได้ เพิ่มการจ้างงาน ผู้สูงอายุที่เก่งด้านการทอและตัดเย็บผ้าจะมีงานทำ รวมถึงผลิตภัณฑ์บางอย่างด้วยที่นักศึกษาทำได้”

“อภิชา วีรชาติยานุกูล” กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “บ๊อบบิ้น คราฟต์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้นำผ้าจากกลุ่มเกษตรกร “สบายดี” จากภาคอีสาน อาทิ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย โดย บ๊อบบิ้น คราฟต์ เป็นหน้าร้าน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นผ้าทอมือจริง ๆ มีความเป็นออร์แกนิก

การร่วมมือเริ่มจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี เห็นว่า บ๊อบบิ้น คราฟต์ เป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือผู้ผลิตผ้าในจังหวัดและชุมชนใกล้เคียง เมื่อมีโอกาสขยายตลาดได้ ผ้าไทยจะแจ้งเกิดในมิติใหม่ ดูเป็นสากลมากขึ้น ทั้งเสื้อผ้า กระโปรง หมอน ปลอกหมอน ผ้าชิ้น และกระเป๋า ซึ่งผ้าที่มาจากใยไหมล้วนใช้สีจากธรรมชาติ

รู้สึกภูมิใจแทนคนไทยทั้งประเทศ ที่แบรนด์ไทยได้รับการสนับสนุนอย่างถูกที่ถูกทาง